วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
Home > Cover Story > ปรับเป้าส่งออก ย้ำเศรษฐกิจไทยขาลง

ปรับเป้าส่งออก ย้ำเศรษฐกิจไทยขาลง

ภาวะเศรษฐกิจไทยในปีหมู ซึ่งหลายฝ่ายเคยเชื่อและฝากความหวังไว้ว่าจะมีความสดใสเรืองรองกว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ด้วยเหตุที่เชื่อว่าภายหลังการเลือกตั้งจะได้เห็นความชัดเจนในเชิงนโยบาย และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ที่จะช่วยปลุกให้เศรษฐกิจไทยโดยรวมกลับมากระเตื้องขึ้นจากภาวะซบเซาที่ดำเนินมายาวนานได้บ้าง

หากแต่ปัจจัยทางการเมืองว่าด้วยการเลือกตั้งดูจะไม่ได้ส่งผลในทางบวกต่อเศรษฐกิจไทยมากนัก มิหนำซ้ำข้อเท็จจริงทางเศรษฐกิจของไทยที่ถูกกดทับด้วยปัจจัยเสี่ยงรอบด้านทั้งภาวะชะลอตัวลงของเศรษฐกิจในระดับนานาชาติ ยิ่งทำให้เศรษฐกิจไทยที่พึ่งพิงการส่งออกในฐานะที่เป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ได้รับผลกระทบเชิงลบไปโดยปริยาย

เป้าหมายการส่งออกของไทยที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เคยตั้งเป้าไว้ว่าจะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 8 ในปี 2562 จากที่ในปี 2561 มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ระดับ 252,486 ล้านเหรียญสหรัฐ กำลังถูกท้าทายอย่างหนักหน่วง เมื่อข้อเท็จจริงในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2562 ปรากฏว่ามูลค่าการส่งออกของไทยมีมูลค่าในระดับ 40,548 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นการขยายตัวในอัตราร้อยละ 0.16 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเท่านั้น

ตัวเลขการส่งออกที่ไม่ค่อยโสภาดังกล่าวนี้ ในด้านหนึ่งอาจได้รับคำอรรถาธิบายว่าเป็นไปตามวงรอบปกติของการส่งออก ที่จะพบว่าตัวเลขส่งออกในช่วงไตรมาสแรกของแต่ละปีอาจจะไม่ดีนัก และจะกลับมาคึกคักในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ก่อนที่จะอยู่ในภาวะชะลอตัวอีกครั้งในช่วงไตรมาส 4 จากที่ได้มีคำสั่งซื้อล่วงหน้าไปแล้ว คงเหลือเพียงการส่งมอบสินค้า

กระนั้นก็ดี ความเคลื่อนไหวของสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย หรือสภาผู้ส่งออก ที่ได้ปรับลดคาดการณ์การส่งออกของไทยในปีนี้จากระดับร้อยละ 5 ลงเหลือร้อยละ 3 โดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ปรับคาดการณ์ส่งออกลงเหลือร้อยละ 3-5 จากเดิมคาดว่าจะขยายตัวในระดับร้อยละ 5-7 ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงรุมเร้าทั้งสงครามการค้า มาตรการกีดกันทางการค้า เงินบาทแข็งค่า และปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่กระทบกับความสามารถในการแข่งขันส่งออกของไทย

การปรับลดการคาดการณ์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังกล่าว สอดรับกับแนวโน้มของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่ได้ปรับลดคาดการณ์ขยายตัวของเศรษฐกิจโลกจากคาดการณ์เดิมที่ระดับร้อยละ 3.5 ลดลงเหลือร้อยละ 3.3 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ชะลอตัวลง และถือเป็นความท้าทายของหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบว่าจะสามารถทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่

การหารือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจเอกชน เพื่อประเมินสถานการณ์การส่งออกและแนวโน้มของการส่งออกในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ รวมถึงการปรับเป้าส่งออกใหม่ ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและคงต้องติดตามสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด ซึ่งการกำหนดเป้าหมายมีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดให้เหมาะสมและสอดคล้องกับทิศทางสถานการณ์

ทั้งนี้ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่จะกระทบต่อการส่งออกของไทยในปี 2562 หลักๆ ได้แก่ การดำเนินการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ (BREXIT) ที่ล่าสุดยังไม่มีความชัดเจนว่าอังกฤษจะแยกจากอียูแบบมีข้อตกลงรับรองหรือไม่ ส่วนสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนนั้น แม้จะทำให้การส่งออกสินค้าไปตลาดจีนลดลง แต่ภาพรวมสินค้าไทยส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ในช่วง 2 เดือนแรกปีนี้เพิ่มขึ้น จากผลของการที่ไทยสามารถส่งออกสินค้าไปทดแทนสินค้าจีนในตลาดสหรัฐฯ ได้เพิ่มขึ้น และปัจจัยสุดท้ายคือ ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก

ประเด็นที่น่าสนใจจากภาวะชะลอตัวในการส่งออก แม้ในด้านหนึ่งจะสะท้อนให้เห็นความสำคัญของการส่งออกต่อตัวเลขทางเศรษฐกิจโดยรวม หากแต่ในอีกด้านหนึ่งก็ชี้ให้เห็นว่าการส่งออกได้ลดบทบาทในการเป็นกลไกช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทย และในอนาคตการส่งออกไทยอาจจะไม่สามารถชี้วัดได้เพียงอย่างเดียว หากแต่ต้องพิจารณาจากการลงทุนของไทยในต่างประเทศที่มีการขยายฐานการลงทุนออกไปควบคู่ด้วย ขณะที่ภาคธุรกิจบริการซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีการรวบรวมตัวเลขส่วนนี้อย่างชัดเจน กลับกลายเป็นภาคธุรกิจที่มีบทบาทในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง

ภาวะชะลอตัวของปริมาณการค้าโลกที่ทำให้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) โลก รวมถึงการคาดการณ์ปริมาณการค้าโลกที่ถูกปรับลดลงเหลือร้อยละ 3.4 จากเดิมที่เคยประเมินว่าจะอยู่ในระดับร้อยละ 4 กลายเป็นข้อบ่งชี้ปัจจัยเสี่ยงที่จะกระทบกับการขยายตัวเศรษฐกิจไทยมากขึ้นอย่างไม่อาจเลี่ยง

เป้าหมายตัวเลขการส่งออกของไทยที่คาดการณ์ไว้อย่างมองโลกแง่ดีว่าในปี 2562 นี้ การส่งออกเติบโตได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 8 ในช่วงก่อนหน้านี้ ได้รับการพิสูจน์จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏและเหตุการณ์หลากหลายที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ แม้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะยังไม่สามารถทำใจยอมรับกับการที่นักวิเคราะห์หลายสำนักประเมินเป้าหมายการส่งออกปีนี้ใหม่ว่าจะเติบโตได้เพียงร้อยละ 3-5 เท่านั้น

แม้ว่าหลายฝ่ายยังเชื่อว่า เศรษฐกิจไทยจะยังคงได้รับแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายทั้งการลงทุนในประเทศที่คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวหลังการจัดตั้งรัฐบาล และการบริโภคภาคครัวเรือนที่มีแนวโน้มเติบโตตามการฟื้นตัวของรายได้และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ขณะเดียวกัน เสถียรภาพภาคต่างประเทศของไทยยังคงแข็งแกร่ง ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถต้านทานผลกระทบจากภายนอกได้

หากแต่ประเด็นที่น่าสนใจอยู่ที่เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวมากกว่าที่คาดการณ์และมีลักษณะ synchronized slowdown มากขึ้น ซึ่งเป็นผลจากสงครามการค้าและภาวะการเงินโลกที่ตึงตัวขึ้นโดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของ ปี 2561 ที่ยังส่งผลลบอย่างต่อเนื่องต่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ทั้งนี้ในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ สัดส่วนของตลาดส่งออกที่มูลค่าการส่งออกของไทยหดตัวได้เพิ่มขึ้นมาเป็นกว่าร้อยละ 70 ของตลาดส่งออกรวม

ปัจจัยเสี่ยงหลักจากความไม่แน่นอนของแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและเสถียรภาพการเมืองในประเทศ แม้จะมีสัญญาณบวกจากการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน รวมทั้งท่าทีธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งช่วยเพิ่มความมั่นใจของนักลงทุนและลดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกได้ในระยะสั้น

แต่เศรษฐกิจโลกอาจชะลอตัวได้มากกว่าการคาดการณ์ที่มี จากความไม่แน่นอนและความเปราะบางในจุดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสงครามการค้าที่ยังจะยืดเยื้อต่อไปเนื่องจากเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างและอาจกลับมาทวีความรุนแรงได้อีก รวมถึงภาวะการเงินโลกที่อาจกลับมาตึงตัวได้ ปัญหาภาระหนี้ระดับสูงในบางประเทศ ทั้งหนี้ของภาคธุรกิจในจีนและสหรัฐฯ รวมทั้งปัญหาภายในเฉพาะประเทศ เช่น กรณี Brexit ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง และอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรและยูโรโซน ตลอดจนสร้างความผันผวนให้กับตลาดการเงินโลกในช่วงข้างหน้า

จริงอยู่ที่ว่าปัจจัยว่าด้วยเสถียรภาพทางการเมือง อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงภายในประเทศที่ทำให้เกิดความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งจะมีนัยต่อเสถียรภาพของรัฐบาลและประสิทธิภาพในการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า หากแต่ประเด็นที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นก็คือการรื้อสร้างและจัดวางโครงสร้างทางเศรษฐกิจใหม่ ที่เอื้อให้เกิดการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มพูนรายได้ของภาคครัวเรือน ซึ่งจะช่วยให้เกิดความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจจากฐานรากอย่างแท้จริงยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ใส่ความเห็น