วันศุกร์, มีนาคม 21, 2025
Home > Cover Story > เยือนไร่ธารตาดหมอก แรงผลักดันจาก “เกษตรประณีต”

เยือนไร่ธารตาดหมอก แรงผลักดันจาก “เกษตรประณีต”

“ทำไมอยากเป็นเกษตรกร เพราะอยากให้ตัวเอง อยากให้ครอบครัวได้รับประทานของที่ไม่มีพิษ เป็นเกษตรประณีต เพราะวิถีเกษตรธรรมชาติไม่ใช้เคมีทำให้ทุกขั้นตอนต้องใช้แรงคนที่ใส่ใจ ใช้เวลาทำผลผลิตที่ดีระดับ Masterpiece ไม่ต่างจากศิลปินที่หลอมรวมศาสตร์และศิลป์ ช่างสังเกตเหมือนนักวิทยาศาสตร์ เพื่อหยิบใช้ธรรมชาติแทนสารเคมีได้ทั้งหมด”

วิภาวริศ เกตุปมา หรือคุณส้ม กรรมการผู้จัดการบริษัท 4D Communications พูดถึงการเลือกใช้ชีวิตอีกด้านหนึ่งเป็นเกษตรกรเมื่อ 13 ปีก่อน ตัดสินใจบุกเบิกป่ากล้วยในบ้านปางป่าคา ตำบลแม่แรม อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ สร้างไร่ธารตาดหมอก ซึ่งเธอมักพูดกับทุกคนเสมอว่า “ดีใจที่ได้เป็นเกษตรกรและ Happy มาก”

เธอเล่าว่า เป็นคนกรุงเทพฯ ซึ่งทุกคนในครอบครัวชอบอากาศทางภาคเหนือ ชอบรับประทานผลไม้ ดูดอกไม้ วันหนึ่งมีโอกาสได้ไปเที่ยวบ้านเพื่อนใน อ.แม่ริม รู้สึกชอบ คิดเลยว่า ถ้าจะสร้างบ้านพักตากอากาศ ต้องสร้างที่นี่ ตัดสินใจขับรถขึ้นเขาและได้เจอที่ดินประกาศขาย เป็นป่ากล้วย ซึ่งถ้าวันนั้นไม่ลงไปเดินดูที่ดินจะไม่เห็นความสวยงามด้านหลังทะลุป่ากล้วย เป็นวิวเปิดเห็นน้ำตกตาดหมอก นาข้าว และอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย รู้สึกชอบและตัดสินใจซื้อทันที

“เราค่อยๆ ทำบ้าน 2 โซน เป็นบ้านอยู่เอง กับอีกโซน ซื้อหลองข้าวหรือยุ้งข้าวทางภาคเหนือมายึดรวมทำเป็นบ้านอีก 2 หลัง ซึ่งตอนนี้เปิดเป็นบ้านพักสไตล์โฮมสเตย์แบบ Private เน้นบรรยากาศเงียบสงบและอยู่ติดพื้นที่เกษตร ปลูกผักสลัด พืชหมุนเวียน มีครัว ซึ่งเขาสามารถทำอาหารรับประทานได้ เหมือนอยู่บ้านเลย”

ส่วนตัวไร่ธารตาดหมอกอยู่สูงขึ้นไปอีก 6 กิโลเมตร เนื้อที่ราว 3 ไร่ ด้านหน้าติดถนน หลังติดลำธาร ซึ่งหลังจากใช้เวลาปรับพื้นที่ครึ่งปี วิภาวริศเลือกลงพืชตัวแรกแบบหักดิบปราบเซียน คือ สตรอเบอรี่

“หลายคนมองสตรอเบอรี่ปลูกยาก แต่เราไม่เคยทำการเกษตร คิดแค่อยากกินอะไร ปลูกชนิดนั้น จะได้กิน เมื่อชอบสตรอเบอรี่ ปลูกเลย แต่ปลูกปีแรกไม่ได้ผล ทั้งไร่ปลูก 2,000 ต้น ได้ไม่ถึง 15 กิโลกรัม แต่ไม่ย่อท้อและคิดว่าต้องมีองค์ความรู้ ไปตระเวนขอเรียนกับชาวเขา เพราะ อ.แม่ริมเป็นแหล่งสตรอเบอรี่ แต่ส่วนใหญ่ใช้สารเคมีชนิดที่ว่า ขอไปเรียนรู้วิธีการปลูกแบบแสบตาแสบจมูก แต่เราจะปลูกกินเองต้องปรับเป็นเกษตรธรรมชาติ เวลานั้นยังไม่ได้คิดเรื่องขายเลย”

วิภาวริศคิดถึงประเทศญี่ปุ่นทันที เพราะผลไม้ทุกอย่างมีรสชาติอร่อย เฟรช ฉ่ำ และค้นพบว่า ในประเทศไทยมีมูลนิธิเกษตรธรรมชาติ ประเทศญี่ปุ่น MOA (International  MOA) ซึ่งมีเครือข่ายทั่วโลกและสำนักงานสาขาที่ญี่ปุ่นได้เข้ามาเผยแพร่ความรู้เกษตรธรรมชาติในประเทศไทย เน้นแนวคิดไม่ใช้สารเคมีและไม่บิดเบือนกลไกธรรมชาติ ไม่ปลูกผักผลไม้นอกฤดูกาล ซึ่งต้องใช้สารเคมีเป็นตัวควบคุมจำนวนมาก

เธอเข้าอบรมกับ MOA ซึ่งมูลนิธิได้ส่งอาจารย์ที่ปรึกษาเข้ามาดูพื้นที่ เจาะดิน และให้วิธีคิดว่า ในป่าไม่มีใครใส่ปุ๋ย ฉะนั้นต้องให้กระบวนการธรรมชาติดูแลธรรมชาติและมนุษย์สามารถอยู่กับธรรมชาติได้อย่างปลอดภัย ไม่เบียดเบียนกัน ปรากฏว่า การปรับปรุงที่ดินทั้ง 3 ไร่ ส่งผลให้การปลูกสตรอเบอรี่ ปีที่ 2 ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นมาก รสชาติหวานหอม

ส่วนขนาดผลเป็นไปตามธรรมชาติของสตรอเบอรี่ คือ ออกลูกเริ่มต้นจากขนาดใหญ่ก่อนแล้วมาขนาดกลางและเล็ก หมุนเวียนเป็นรอบๆ โดยใช้เวลาปลูก 6 เดือน เก็บผลผลิต 3 เดือน ช่วงเวลาที่ไม่ได้ปลูกรอบใหม่จะลงพืชอื่นหมุนเวียนตามฤดูกาล เพื่อรักษาดินและลดความเสี่ยงเรื่องแมลง เช่น กล้วย เมล่อน มะละกอ ฝรั่ง มะเขือ ผักแคล ผักสลัด

แน่นอนว่า ไร่ธารตาดหมอกกลายเป็นไร่ที่ไม่ใช้สารเคมีท่ามกลางไร่อีกหลายแห่งใน อ.แม่ริม ซึ่งส่วนใหญ่ยังพึ่งพิงสารเคมี

“ตอนเราซื้อที่และวางแผนปลูกสตรอเบอรี่ ชุมชนที่ไม่ได้เป็นเกษตรกรไล่เราเลย เพราะการปลูกพืชชนิดนี้ต้องใช้สารเคมีมาก แต่เรายืนยันเลือกที่แห่งนี้ ซึ่งอยู่ในชุมชน ไม่ยอมไปอยู่ในดงเกษตรแม่ริม เพราะถ้าเข้าไปเท่ากับเข้าไปอยู่ในดงเคมี ซึ่งเราพยายามสื่อสารและให้ชาวบ้านใกล้เคียงเข้ามาดูการปลูก ไม่ใช้สารเคมีแน่นอนจนทุกคนมั่นใจ”

ดังนั้น การเป็นเกษตรกรกว่า 10 ปีของเอ็มดีสาวทำให้เห็นกลไกชีวิตของเกษตรกร ซึ่งเธอบอกว่า ถ้าเกษตรกรยังใช้ชีวิตแบบเดิม น้อยคนจะเติบโตได้และเป็นหนี้ตั้งแต่ก่อนปลูก ต้องเอาเงินเชื่อปุ๋ย เมล็ด ยา ยิ่งเชียงใหม่เจอฝน เจอน้ำท่วมเมื่อปีก่อน ชีวิตซีโร่เลย การพึ่งยา พึ่งปุ๋ย คือความเสี่ยง และพวกเขาไม่มี 2 อาชีพ พลาดไม่ได้ จำเป็นต้องใช้สารเคมี

ขณะที่การหว่านล้อมอย่าใช้เคมี โดยไม่ได้สวมหมวกเกษตรกร ไม่ได้ช่วยเกษตรกร เพราะทุกคนต้องมีผลผลิตส่งแหล่งขาย ถ้าสามารถลดความเสี่ยง เขาอาจทำเกษตรแบบวิถีธรรมชาติได้ เช่น หาตลาดที่รับประกันราคา เป็นคอนแทร็กฟาร์มมิ่ง ทุกคนจะได้กินอาหารปลอดภัย แต่ตอนนี้ไม่มี ทุกคนต่างกดราคาเอาของถูก

ที่สำคัญ เกษตรธรรมชาติหรือ Organic เป็นเกษตรประณีต อย่างสตรอเบอรี่ของไร่ธารตาดหมอก ไม่ใช้ยาฆ่าหญ้า ต้องให้คนงานค่อยๆ ตัดหญ้า และเน้น Zero Waste ตัดหญ้าส่วนหนึ่งให้ไก่กิน อีกส่วนหมักเป็นปุ๋ย ตัดต้นไม้ หมักเป็นปุ๋ย ซึ่งลดต้นทุนปุ๋ยได้มาก และผลผลิตออกต่อเนื่องอย่างยั่งยืน โดยไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมีหรือสารเคมีเพิ่มความหวาน เพียงแค่ต้องดูแลและให้เวลาเติบโต รสชาติจะค่อยๆ หวานฉ่ำเองตามธรรมชาติ

เธอบอกว่า จากเดิมเคยคิดแค่ปลูกเพื่อกินกันในครอบครัวกลายเป็นกินไม่ทันจนตัดสินใจเปิดรับออเดอร์ โดยใช้แบรนด์ชื่อ “ไร่ธารตาดหมอก” เพื่อสะท้อนความสำคัญของน้ำ ทั้งน้ำรดผักและน้ำใช้ล้วนมาจากน้ำตกตาดหมอก ซึ่งห่างจากบ้านเพียง 800 เมตร เป็นน้ำธรรมชาติจากตาน้ำ มีความบริสุทธิ์ งดงาม แต่ต้องบอกว่า สตรอเบอรี่ไร่ธารตาดหมอกไม่เคยเหลือขายสักปี เป็นการพรีออเดอร์ล่วงหน้า 1 ปี

“เราไม่ได้เวอร์หรือโม้ การเป็นเกษตรประณีตไม่ได้เน้นผลผลิตมาก เฉลี่ยปลูก 2 พันต้นจะได้ผลผลิต 500-600 กก. ส่งขาย กก. ละ 350 บาท และไล่ส่งจนครบออเดอร์ จากนั้นเริ่มรับออเดอร์ใหม่ เป็นแบบนี้ 8 ปีแล้ว”

สำหรับกลุ่มลูกค้าหลักอยู่ใน จ.เชียงใหม่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ลักษณะบอกกันปากต่อปาก เช่น มีเพื่อนเป็นคุณหมอ คุณหมอไม่เชื่อว่า สตรอเบอรี่ไร่ธารตาดหมอกไม่มีเคมี เอาไปเข้าแล็บพิสูจน์และพบว่าไม่มีสารเคมีจริงๆ ทั้งหมอและพยาบาลแห่สั่งกันยกใหญ่ ตลาดจึงเป็นนิชมาร์เกต ลูกค้าที่ให้คุณค่าเกษตรธรรมชาติ ซึ่งตลาดเซกเมนต์นี้มีแนวโน้มเติบโตมากและทางไร่ยังมีไอเดียจะให้ลูกค้าพรีออเดอร์ผลไม้ที่อยากกิน เมื่อไร่ทดลองปลูกจนสำเร็จจะส่งตามออเดอร์ เช่น ลุงคนหนึ่งเป็นมะเร็ง อยากหาผลไม้รับประทานแต่หาซื้อผลไม้ปลอดสาร 100% ยาก ทางไร่สามารถตอบโจทย์นี้ได้

ล่าสุด วิภาวริศยังเริ่มเลี้ยงไก่ 100 ตัว ช่วงปลายปี 2567 ตามวิถีเกษตรธรรมชาติ และเวลานี้ไก่ทั้งร้อยตัวเริ่มไข่เฉลี่ยวันละ 80 ฟอง โดยไม่ได้ให้ฮอร์โมนใดๆ และไก่ทุกตัวแข็งแรง บึกบึนมาก จากอาหารสูตรผักผลไม้รวม กากเบียร์ กากถั่ว ปลาป่น รวมทั้งน้ำเลี้ยงมีส่วนผสมฟ้าทะลายโจร บอระเพ็ด ผงใบเตยและใบโอชาดับคาวของไข่ เพิ่มขมิ้น เพื่อให้ไก่สบายท้อง เพราะมองตลาดผู้สูงวัยที่อยากกินไข่แต่เหม็นคาวไข่ หรือช่วงหน้าหนาวจะให้น้ำผสมผงกะเพรา เพื่อให้ไก่อบอุ่นขึ้น

“ตอนนี้ที่รับออเดอร์ คือ ไข่ โดยทุกสัปดาห์จะส่งมากรุงเทพฯ 1 ครั้ง ลูกค้าจะออเดอร์และมารับที่บ้านหรือออฟฟิศในเมือง ซึ่งเรากำลังมองหาระบบโลจิสติกส์เพื่อทำให้ได้ตามคอนเซ็ปต์ของไร่ คือ From Farm to Home อยากให้ทุกคนได้รับประทานไข่เกษตรธรรมชาติ ไม่ใช่แค่เชียงใหม่ กรุงเทพฯ กำลังพยายามหาวิธีขนส่งราคาเหมาะสม ไม่ใช่ค่าไข่แผงละ 200 บาท เจอค่าส่ง 300 บาท”

ด้านสตรอเบอรี่ต้องหยุดรับพรีออเดอร์ 1 ปี เพื่อฟื้นฟู หลังเชียงใหม่เจอน้ำท่วมใหญ่เมื่อปลายปีที่แล้ว รากเน่ากว่า 30% คาดว่าจะเริ่มรับออเดอร์รอบใหม่ในปีหน้า

เจ้าของไร่ธารตาดหมอกยังทิ้งท้ายกับ “ผู้จัดการ360องศา” ว่า เธอวาดภาพการเป็นเกษตรกรใหญ่ขึ้น แต่ไม่ได้ใหญ่ด้วยตัวเอง ภายใต้หลักความสมดุล 3 P คือ Profit, People และ Planet เพื่อสร้างเครือข่ายเกษตรธรรมชาติและขยายตลาดกว้างขวางขึ้น โดยเริ่มต้นจากชุมชนของไร่ ถ้าสำเร็จ สามารถถ่ายทอดความรู้ไปยังชุมชนอื่นๆ ไม่ต้องขับเคลื่อนทั้งประเทศ เริ่มทีละชุมชนและกระจายองค์ความรู้ไปยังไร่อื่นๆ

ความคาดหวัง คือ อยากทำให้เกษตรกรเป็นอาชีพที่มีเกียรติและได้รับการยอมรับในสังคมมากขึ้น.