วันพุธ, พฤศจิกายน 27, 2024
Home > Life > อายุมากขึ้น … ระวัง inflamm–ageing

อายุมากขึ้น … ระวัง inflamm–ageing

 
ปัจจุบัน inflamm–ageing เป็นหัวข้อสำคัญที่นักวิทยาศาสตร์ด้านเวชศาสตร์ชะลอวัยให้ความสำคัญในลำดับต้นๆ 
 
inflamm–ageing เป็นภาวะอักเสบระดับต่ำที่เกิดขึ้นกับร่างกายของคุณเมื่อมีอายุมากขึ้น และเป็นตัวเร่งให้เกิดกระบวนการชราภาพเร็วขึ้น
 
ให้นึกภาพเวลาที่คุณโดนแมลงกัดต่อยหรือถูกแดดเผา แล้วมีอาการผื่นแดงและระคายเคืองตามผิวหนัง แล้วถ้าภาวะนี้เกิดขึ้นกับหลอดเลือด กระเพาะอาหาร ลำไส้ หรืออวัยวะส่วนอื่นๆ ล่ะ พึงสำเหนียกว่าภาวะอักเสบนี้สามารถเชื่อมโยงกับเงื่อนไขความเจ็บป่วยที่สัมพันธ์กับความชราภาพได้ เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน และสมองเสื่อม ซึ่งอาจทำให้คุณแลดูแก่เกินวัย
 
แต่ต้องย้ำว่าภาวะอักเสบไม่ใช่สิ่งเลวร้ายเสมอไป เพราะเป็นส่วนสำคัญของกลไกการป้องกันตนเองของร่างกาย เพื่อให้ปลอดภัยจากเชื้อโรคต่างๆ
 
ศาสตราจารย์ John Mathers ผู้อำนวยการด้านวิทยาศาสตร์ของ Institute for Ageing and Health มหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล ประเทศอังกฤษ อธิบายว่า เมื่อภาวะอักเสบเกิดขึ้น มันเป็นการตอบสนองต่ออาการบาดเจ็บหรือติดเชื้อ เมื่อการทำหน้าที่สิ้นสุดลงแล้ว ภาวะอักเสบนั้นจะหายไปเอง แต่ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า เมื่อมีอายุมากขึ้นร่างกายค่อยๆ พัฒนาภาวะอักเสบระดับต่ำอย่างเรื้อรังในระยะยาวเพิ่มขึ้นด้วย “ซึ่งเป็นภาวะอันตราย เพราะการอักเสบก่อให้เกิดความเสียหายต่อโมเลกุลที่ประกอบกันขึ้นเป็นเซลล์”
 
ศาสตราจารย์ Janet Lord ผู้เชี่ยวชาญด้านการชราภาพอย่างแข็งแรง กล่าวว่า คนที่มีอายุยืนยาวถึง 100 ปี อาจเป็นผู้ที่เสี่ยงต่อภาวะอักเสบน้อยกว่า “แต่สำหรับผู้สูงอายุส่วนใหญ่แล้ว ภาวะอักเสบระดับต่ำคือจุดเริ่มต้นของการก่อให้เกิดความเสียหายต่อร่างกายอย่างค่อยเป็นค่อยไป”
 
ภาวะอักเสบมีผลต่อร่างกายแต่ละส่วนอย่างไร
 
สมอง–Mathers กล่าวว่า “ภาวะอักเสบอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคสมองที่สัมพันธ์กับอายุที่มากขึ้น ซึ่งรวมถึงโรคสมองเสื่อมด้วย”
 
ผลการศึกษายังระบุว่า ภาวะอักเสบอาจเป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้า และการวิจัยของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียค้นพบว่า โปรตีนที่พบขณะเกิดภาวะอักเสบระดับสูง มีส่วนสัมพันธ์กับภาวะความจำเสื่อมด้วย
 
หัวใจ–“ความเสียหายที่เกิดจากภาวะอักเสบ ทำให้คุณเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้น” Mathers สรุป
เพราะสารที่เรียกว่า C-reactive protein (CRP) ที่เชื่อมโยงกับอาการระคายเคืองในร่างกายนั้น มีส่วนสัมพันธ์กับโรคหัวใจด้วย ผู้ที่มีสาร CRP ในระดับสูงมากๆ มักเสี่ยงต่อภาวะหัวใจวายเพิ่มเป็นสองเท่า
 
ผิวหนัง–“ภาวะอักเสบทำให้ผิวหนังเหี่ยวย่น” Dr. Hilary Allan ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชสำอางและศัลยศาสตร์ผิวพรรณ อธิบาย “เพราะทำให้เกิดการผลิตหลอดเลือดที่นำไปสู่อาการผื่นแดงและการมองเห็นหลอดเลือดอย่างชัดเจน รวมทั้งกระตุ้นการทำงานของเอนไซม์บางตัว ที่ทำให้เกิดการสูญเสียคอลลาเจน นำไปสู่ภาวะผิวหนังเหี่ยวย่นและหย่อนยาน”
 
ข้อต่อ–“โรคข้อรูมาตอยด์มีสาเหตุจากภาวะอักเสบระดับสูง” Lord กล่าว “มีทฤษฎีอธิบายว่า กระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะการที่ระบบคุ้มกันเข้าสู่ภาวะชราภาพก่อนวัย”
 
เมื่อเร็วๆ นี้ ผลการศึกษาในสหรัฐฯ ได้เชื่อมโยงภาวะอักเสบระดับต่ำกับโรคข้อเสื่อม ซึ่งมักเชื่อกันว่า เป็นผลจากความเสียหายที่สัมพันธ์กับภาวะสูงอายุ
 
ระบบเผาผลาญ–ผลการวิจัยได้อธิบายสาเหตุที่ภาวะน้ำหนักตัวเกิน มีความเชื่อมโยงกับโรคเบาหวานประเภทที่สองดังนี้ เมื่อเซลล์ขยายใหญ่ขึ้นเพราะการสะสมของไขมัน จากการที่มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น เซลล์เหล่านั้นจะปล่อยสารที่ก่อให้เกิดการอักเสบที่เรียกว่า cytokines ออกมา ทำให้เกิดภาวะดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน ที่นำไปสู่โรคเบาหวาน และภาวะดื้อต่ออินซูลินก็นำไปสู่การอักเสบมากขึ้นอีก กลายเป็นวงจรชั่วร้ายไม่รู้จบ
 
ระบบย่อยอาหาร–ภาวะอักเสบระดับสูง เป็นสาเหตุของโรคลำไส้เล็กส่วน ileum อักเสบ และโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง ส่วนการอักเสบระดับต่ำในลำไส้ของเรา ทำให้นักวิจัยเชื่อว่า เป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพมากมายที่รวมถึงโรคซึมเศร้า
 
ที่เป็นอย่างนี้เพราะลำไส้และสมองของคุณมีการส่งผ่านข้อมูลระหว่างกันตลอดเวลา ปัญหาของระบบย่อยอาหารจึงอาจส่งผลต่ออารมณ์ และในทางกลับกัน อารมณ์ก็อาจส่งผลต่อการทำงานของระบบย่อยได้เช่นกัน
 
วิธีแก้ปัญหา
 
รักษาน้ำหนักตัวให้คงที่–Mathers กล่าวว่า ภาวะอ้วนนำไปสู่การอักเสบระดับต่ำอย่างเรื้อรัง จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่อธิบายว่า ทำไมคนอ้วนจึงเสี่ยงต่อการเป็นโรคที่สัมพันธ์กับอายุที่มากขึ้น ที่สำคัญคุณไม่จำเป็นต้องอ้วนมากจึงจะได้ชื่อว่ามีความเสี่ยง การมีรอบเอวที่หนาขึ้น คือมากกว่า 80 ซม. ก็มีผลให้ร่างกายหลั่งสารโปรตีนที่ก่อให้เกิดการอักเสบได้แล้ว
 
เคลื่อนไหวมากขึ้น–Mathers ย้ำว่า “การเคลื่อนไหวร่างกายเป็นสิ่งจำเป็นมากสำหรับการลดภาวะอักเสบ รวมทั้งการลดน้ำหนักตัว” จึงควรตั้งเป้าออกกำลังกายขนาดปานกลางให้ได้สัปดาห์ละ 150 นาที และออกกำลังเสริมสร้างความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้ออย่างน้อยสัปดาห์ละสองครั้ง
 
ข้อควรจำคือ ต้องระวังไม่นั่งอยู่กับที่นานๆ เพราะทำให้เกิดภาวะอักเสบระดับต่ำ
 
บริโภคผักผลไม้มากขึ้น–“การบริโภคผักผลไม้มากขึ้น สัมพันธ์กับการลดความเสี่ยงจากโรคสมองเสื่อม สาเหตุอาจเป็นเพราะผักผลไม้มีองค์ประกอบของการต่อต้านภาวะอักเสบนั่นเอง” Mathers สรุป
 
หลีกเลี่ยงน้ำตาล–การบริโภคน้ำตาลฟอกขาวมากเกินไปส่งผลเสียต่อร่างกาย โดยเฉพาะผิวหนังของคุณ “ร่างกายสะสมน้ำตาลส่วนเกินไว้ตามอวัยวะส่วนต่างๆ เช่น ผิวหนัง ซึ่งเป็นกระบวนการที่เรียกว่า glycation ทำให้ภาวะอักเสบที่ผิวหนังรุนแรงขึ้น” Allan อธิบาย
 
ผลการศึกษาของสวีเดนระบุว่า อาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำ ช่วยลดภาวะอักเสบดังกล่าว รวมทั้งลดความเสี่ยงจากโรคหัวใจของผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่สอง แต่คุณไม่จำเป็นต้องเลิกบริโภคคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาล เพียงเลือกคาร์โบไฮเดรตที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ ซึ่งปลดปล่อยพลังงานออกมาอย่างช้าๆ เช่น ข้าวโอ๊ต ขนมปังธัญพืชเต็มเมล็ด ผักผลไม้สด และบริโภคน้ำตาลวันละไม่เกิน 5 ช้อนชา   
 
บริโภคน้ำมัน–Mathers ระบุว่า น้ำมันปลามีกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง ที่มีคุณสมบัติต่อต้านการอักเสบ จึงควรบริโภคน้ำมันปลาแซลมอนหรือแมคเคอเรลสัปดาห์ละ 2 ครั้ง นอกจากนี้ ให้เพิ่มน้ำมันมะกอก อโวคาโด ถั่วเปลือกแข็ง และเมล็ดธัญพืชในอาหารที่บริโภคด้วย เพราะอุดมด้วยกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่งเช่นกัน 
 
หลีกเลี่ยงความเครียด–จริงๆ แล้วการเผชิญความเครียดในระยะสั้นๆ ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันได้ แต่การอยู่ในภาวะเครียดต่อเนื่องเป็นเวลานาน กลับนำไปสู่ภาวะอักเสบ “บางครั้งเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงความเครียดได้ แต่คุณสามารถรับมือกับมันได้ดีขึ้น” Lord แนะนำให้หาเวลาผ่อนคลาย เช่น เล่นโยคะ หรือนั่งสมาธิ
 
หลับให้เพียงพอ–การวิจัยล่าสุดยืนยันว่า การนอนหลับไม่เพียงพอ ทำให้เสี่ยงต่อภาวะอักเสบมากขึ้น นักวิทยาศาสตร์พบว่า เมื่อให้อาสาสมัครนอนน้อยลงเพียงหนึ่งชั่วโมง ยีนที่เกี่ยวข้องกับการอักเสบจะถูกกระตุ้นให้แข็งแกร่งขึ้นทันที
 
บริโภคสังกะสีและวิตามินดีเพิ่ม–วารสาร Nutrients รายงานผลการศึกษาที่พบว่า สังกะสีช่วยควบคุมภาวะอักเสบได้ และคุณมีความเสี่ยงต่อการอักเสบมากขึ้น ถ้าร่างกายมีสังกะสีระดับต่ำ สังกะสีพบมากในสัตว์น้ำประเภทมีเปลือก เนื้อ และผลิตภัณฑ์นมเนย
 
ทั้งโพรไบโอติกส์และพรีไบโอติกส์ ช่วยควบคุมภาวะอักเสบในลำไส้ได้ นอกจากนี้ การศึกษาของสหรัฐฯ ยังพบว่า วิตามินดีสำคัญต่อการควบคุมภาวะอักเสบด้วย จึงแนะนำให้ออกไปสัมผัสแสงแดดวันละ 15 นาที
 
 
ที่มา: นิตยสาร GoodHealth   
Column: Well – Being
เรียบเรียง: ดรุณี แซ่ลิ่ว