วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
Home > Cover Story > จับตาเศรษฐกิจจีนทรุด ระวังอาฟเตอร์ช็อกทั่วโลก

จับตาเศรษฐกิจจีนทรุด ระวังอาฟเตอร์ช็อกทั่วโลก

เป็นที่ทราบกันดีกว่า จีน เป็นหนึ่งในประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก รองจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 13 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจโลก ทว่าตั้งแต่กลางปี 2018 เป็นต้นมา เศรษฐกิจในประเทศจีนส่งสัญญาณการชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด

สาเหตุหนึ่งที่สร้างแรงสั่นสะเทือนต่อเศรษฐกิจจีน คือ การต่อกรกับสหรัฐฯ ในสงครามการค้า แม้ว่าจีนจะอยู่ในฐานะประเทศมหาอำนาจอันดับสองรองจากสหรัฐฯ ทว่าอำนาจเจรจาต่อรองที่จีนมีไม่สามารถสร้างความได้เปรียบให้แก่ตัวเองได้เลย

เมื่อมูลค่าการนำเข้าสินค้าจีนของสหรัฐฯ มีมูลค่าสูงถึง 5 แสนล้านดอลลาร์ แต่เมื่อพิจารณามูลค่าการนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ ของจีนนั้น มีเพียง 2 แสนล้านดอลลาร์ นี่เองที่เป็นข้อจำกัดของจีนในการที่จะโต้ตอบสหรัฐฯ ด้วยกำแพงภาษี

แม้ล่าสุดการเจรจาการค้าระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดนัลด์ ทรัมป์ และประธานาธิบดี สีจิ้นผิง เมื่อสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์ จะได้ข้อสรุปว่า สหรัฐฯ จะเลื่อนการปรับเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์ เป็น 25 เปอร์เซ็นต์ จากเดิม 10 เปอร์เซ็นต์ ออกไปจากกำหนดเดิมที่จะมีการบังคับใช้ในวันที่ 1 มีนาคม

ซึ่งทรัมป์ได้ทวีตข้อความว่า “ผมยินดีที่จะแจ้งให้ทราบว่า สหรัฐฯ มีความคืบหน้าอย่างมากในการเจรจาการค้ากับจีนในหลายประเด็นที่มีความสำคัญในเชิงโครงสร้าง รวมถึงประเด็นการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา การโอนถ่ายเทคโนโลยี การเกษตร การบริการ ค่าเงินและอีกหลายประเด็น และการเจรจาเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ เราจึงตัดสินใจที่จะเลื่อนเวลาการปรับเพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนออกไปจากเดิมที่เคยกำหนดว่าจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มีนาคมนี้ เนื่องจากทั้งสองฝ่ายมีการเจรจาที่คืบหน้ามากขึ้น เราจึงวางแผนที่จะจัดการประชุมสุดยอดระหว่างประธานาธิบดี สีจิ้นผิง และผม โดยจะจัดขึ้นที่รีสอร์ต Mar-a-Largo ในรัฐฟลอริดา เพื่อสรุปข้อตกลงที่ทั้ง 2 ฝ่ายทำร่วมกัน”

แง่มุมหนึ่งในของการตั้งกำแพงภาษีที่สหรัฐฯ ทำต่อจีน คือ เพื่อให้สหรัฐฯ สามารถบรรลุข้อตกลงในความหวังที่จะเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทั้งในด้านการค้าและการลงทุน ที่จะทำให้สหรัฐฯ ลดการขาดดุลการค้าจากจีนได้ และเพื่อให้สามารถเข้าไปลงทุนในจีนได้โดยเสรี โดยไม่มีข้อกำหนดให้ต้องเปิดเผยเทคโนโลยี

นอกจากผลของสงครามการค้าที่กระทบเศรษฐกิจจีนแล้ว ยังมีปัจจัยแวดล้อมอื่น เช่น การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศที่ส่งผลให้ภาคการผลิตของจีนมีอัตราการขยายตัวต่ำ ที่สอดคล้องกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ โดยลดลงมาแตะระดับ 50 อีกทั้งยอดการสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลงอยู่ในระดับ 47 ในเดือนพฤศจิกายน

อีกทั้งยังมีมาตรการควบคุมการก่อหนี้ เป็นเหตุให้การปล่อยสินเชื่อลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการลงทุนที่ขยายตัวเพียง 5.9 เปอร์เซ็นต์ ใน 11 เดือนแรกของปี 2018 เมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่การบริโภคภายในประเทศที่แม้ว่ายังมีอัตราการขยายตัว แต่กลับไม่ใช่ตัวเลขที่สร้างความหวือหวานัก

ขณะที่ตัวเลขการส่งออกมีการขยายตัว 13 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน นั่นเป็นผลมาจากการเร่งจังหวะการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ ก่อนที่มาตรการกำแพงภาษีจะประกาศใช้และสร้างผลกระทบที่รุนแรงขึ้น

นั่นทำให้รายงานสรุปตัวเลขทางเศรษฐกิจของจีนปี 2018 พบว่ามีอัตราการขยายตัวเพียง 6.6 เปอร์เซ็นต์ นั่นเพราะปัจจัยของปัญหาที่จีนกำลังเผชิญ ส่งผลทางจิตวิทยาต่อผู้บริโภคโดยตรง

ความวิตกกังวลของชาวจีนสะท้อนออกมาเป็นตัวเลขการซื้อของผู้บริโภคที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2018 ที่เศรษฐกิจมีอัตราการเติบโตต่ำสุดในรอบกว่า 10 ปี

หากพิจารณาในแง่มุมดังกล่าวดูจะไม่แตกต่างจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยมากนัก เมื่อกลุ่มคนรวยหรือผู้ที่มีรายได้สูง ยังคงเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อในทุกๆ สถานการณ์ แต่กลุ่มคนที่มีรายได้ตั้งแต่ระดับปานกลางลงไป จะถูกสถานการณ์ทางเศรษฐกิจบีบให้ใช้จ่ายเงินอย่างประหยัดหรือจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าเฉพาะที่จำเป็นมากขึ้น

ขณะที่ศูนย์วิจัยไทยพาณิชย์ (SCB EIC) มองว่า เศรษฐกิจจีนกำลังเข้าสู่ช่วงชะลอตัว โดยประเมินการเติบโตอยู่ที่ 6.3 เปอร์เซ็นต์ในปี 2019 นอกจากผลผลิตภาคอุตสาหกรรมดั้งเดิมและการลงทุนที่มีแนวโน้มขยายตัวต่ำจากการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจแล้ว มาตรการกีดกันทางการค้าจากสหรัฐฯ จะเป็นปัจจัยด้านลบเพิ่มเติมให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวมากกว่าที่คาด

โดยการส่งออกจีนจะได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนตั้งแต่ช่วงต้นปี 2019 อย่างไรก็ตาม การบริโภคภายในประเทศที่ยังขยายตัวได้ดีจะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจจีนในปี 2019 นอกจากนี้ อุตสาหกรรมแห่งอนาคตภายใต้แผน Made in China 2025 ที่มีการขยายตัวสูงจะเป็นกลไกขับเคลื่อนใหม่ของเศรษฐกิจจีนในระยะข้างหน้า

ทั้งนี้ รัฐบาลและธนาคารกลางจีนส่งสัญญาณผ่อนคลายนโยบายมากขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในปี 2019 รัฐบาลจีนวางแผนปรับโครงสร้างภาษีรายได้บุคคลธรรมดาและออกมาตรการลดหย่อนภาษีเพิ่มเติมในปี 2019 เพื่อกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชน พร้อมทั้งส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในระดับท้องถิ่น ส่งผลให้การออกพันธบัตรรัฐบาลท้องถิ่นพิเศษขยายตัวถึง 40.5 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับเดือนตุลาคมของปีก่อนหน้า

และดูเหมือนว่าสถานการณ์เศรษฐกิจของจีนจะสร้างแรงกระเพื่อมมายังเศรษฐกิจไทยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เมื่อไทยยังเป็นเพียงประเทศที่กำลังพัฒนาโดยเฉพาะภาคเศรษฐกิจที่ยังต้องอาศัยแรงเหวี่ยงหรือรอรับอานิสงส์จากประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างจีนหรือสหรัฐฯ

เมื่อการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีนส่งผลกระทบต่อไทยในหลายแง่มุม ทั้งภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่ดูจะพึ่งพิงตัวเลขนักท่องเที่ยวจากจีนอยู่ไม่น้อย โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเปิดเผยสถิติตัวเลขนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยเมื่อปี 2018 ว่า มีจำนวน 10,535,955 คน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 7.44 เปอร์เซ็นต์

กระนั้นก็ยังมีความกังวลว่า เศรษฐกิจจีนอาจจะส่งผลให้ชาวจีนที่เดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศลดลง รวมไปถึงชาวจีนอาจลดการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยลง ซึ่งส่งผลต่อรายได้การท่องเที่ยวไทยที่จะลดลงในอนาคต

ขณะที่ภาคอสังหาฯ ของไทยเป็นหมุดหมายสำคัญที่ชาวจีนให้ความสนใจ โดยรายงานของ FT Confidential Research ชาวจีนนิยมซื้อที่อยู่อาศัยราคาประมาณ 1 ล้านหยวน หรือประมาณ 5 ล้านบาท ในพื้นที่กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต และชลบุรี

ซึ่งมาตรการของรัฐบาลจีนในการนำเงินออกนอกประเทศเพื่อซื้ออสังหาฯ ในต่างแดน อาจจะสร้างผลกระทบต่อภาคอสังหาฯ ไทย ทั้งนี้ มีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับตลาดอสังหาฯ ไทยพบว่าอสังหาริมทรัพย์ไทยพึ่งพาอุปสงค์จากต่างชาติถึง 31 เปอร์เซ็นต์ หรือเป็นมูลค่าการซื้อขายเกือบ 7 หมื่นล้านบาท นั่นทำให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ ไทยจำเป็นต้องมีแผนรองรับการลงทุนจากต่างชาติที่อาจจะลดลง

คงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่ามาตรการที่รัฐบาลจีนนำออกมาใช้เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศผลจะออกมาเป็นเช่นไร เพราะแม้ว่าการคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจจีนที่ 6.3 เปอร์เซ็นต์ จะเป็นตัวเลขที่สูงกว่าการขยายตัวเฉลี่ยของเศรษฐกิจโลก ทว่า ด้วยอัตราดังกล่าวเมื่อเทียบกับมูลค่าหนี้อันมหาศาล และความสามารถในการชำระหนี้แล้ว เศรษฐกิจจีนจะเติบโตไปด้วยความเร็วในระดับใด เพราะการเติบโตหมายถึงผลกำไรและรายได้ที่รัฐจะสามารถจัดเก็บภาษีได้

นี่ยังไม่ได้หมายความรวมไปถึงปัญหาหนี้ครัวเรือน หรือหนี้สาธารณะของรัฐ ที่มีนักวิเคราะห์ประเมินว่าอาจจะสูงถึง 400 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีในปี 2022

หากเศรษฐกิจของมหาอำนาจอันดับสองของโลกอย่างจีนทรุด แรงสั่นสะเทือนหรืออาฟเตอร์ช็อกคงถึงไทยในไม่ช้า

ใส่ความเห็น