วันจันทร์, พฤศจิกายน 25, 2024
Home > Cover Story > เซ็นทรัลภูเก็ตผุดธีมปาร์ค กลยุทธ์สู้ศึก E-Commerce

เซ็นทรัลภูเก็ตผุดธีมปาร์ค กลยุทธ์สู้ศึก E-Commerce

ภาพรวมการเติบโตของตลาด E-Commerce ในไทยเติบโตอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้ไทยกลายเป็นตลาดใหญ่ที่ทำให้ทุนจากต่างชาติตบเท้าเข้ามาทำตลาดในไทยอย่างคึกคัก

ซึ่ง Priceza เปิดเผยข้อมูลสำคัญนี้ในงาน Priceza E-Commerce Trend 2019: The Infinity of E-Commerce Wars 2019 โดยหากพิจารณาจากข้อมูลการซื้อขายของ Priceza นับตั้งแต่ปี 2016 มีอัตราการซื้อต่อการเข้าชม 1.72 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2017 เพิ่มขึ้นเป็น 2.81 เปอร์เซ็นต์ และปี 2018 (ข้อมูลถึงเดือนพฤศจิกายน) เพิ่มขึ้นเป็น 3.06 เปอร์เซ็นต์

โดยมูลค่าตลาด E-Commerce ไทยในปี 2560 มีมูลค่าประมาณ 1.5 แสนล้านบาท ขณะที่ในปี 2561 มีการคาดการณ์ว่าตลาด E-Commerce จะขยายตัวได้ 20-23 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่นิยมการชอปปิ้งออนไลน์ น่าจะทำให้ในปี 2562 มีการเติบโตในอัตราเร่งเดียวกัน

จากตัวเลขดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ประชาชนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการซื้อของในรูปแบบออนไลน์มากขึ้น นั่นทำให้บรรดาห้างค้าปลีกต่างต้องปรับตัว รวมไปถึงหากลยุทธ์ที่จะสู้ศึกสำคัญในครั้งนี้

สงคราม E-Commerce เริ่มดุเดือดขึ้นอย่างต่อเนื่อง บนเวทีการประลองครั้งนี้มีผู้เล่นทั้งชาวต่างชาติและชาวไทย โดยมีผู้เล่นที่เป็นเจ้าตลาดอย่าง Lazada Shopee และนั่นทำให้ท้ายที่สุด ค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของไทย จำต้องสร้างความสั่นสะเทือนวงการด้วยการจับมือกับ JD.com และทรานสฟอร์มสู่ JD Central เพื่อให้พร้อมเข้าสู่ศึกในครั้งนี้

การตัดสินใจของเซ็นทรัลในการจับมือกับ JD.com อาจเป็นแค่หมากหนึ่งสำหรับสงครามครั้งนี้ แต่นั่นดูจะยังไม่เพียงพอ เมื่อพฤติกรรมของผู้บริโภคดูจะเป็นโจทย์สำคัญที่ทำให้เซ็นทรัลต้องหากลยุทธ์มารองรับ รวมไปถึงการจัดสรรพื้นที่ของห้าง ที่ต้องแสวงหารายได้และผลกำไร

ท้ายที่สุด ดร.ณัฐกิตติ์ ตั้งพูลสินธนา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาด บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ CPN อธิบายว่า “การเปลี่ยน Shopping Mall ให้เป็นมากกว่าสถานที่ที่ผู้บริโภคจะมาจับจ่ายซื้อของ คือการใส่ Lifestyle เข้าไปใน Shopping Mall ถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญของเรา เช่นที่เราทำกับเซ็นทรัลภูเก็ต เราจึงเลือกใส่ธีมปาร์ค อควาเรียม และในอนาคตอันใกล้ เราตั้งใจจะจัดสรรพื้นที่สำหรับจัดการประชุม เพื่อรองรับตลาดไมซ์ที่มีแนวโน้มการเติบโต”

กลยุทธ์ที่เซ็นทรัลใช้ ดูจะไม่แตกต่างจากห้างค้าปลีกอื่นๆ ในพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพฯ มากนัก ซึ่งสยามพิวรรธน์ใช้กลยุทธ์นี้ไปกับพื้นที่ของสยามพารากอน ด้วยการใช้แม็กเน็ตดึงดูดผู้บริโภคกับอควาเรียมใต้ดินอย่าง Sea Life Bangkok Ocean World และพื้นที่จัดการประชุม

ขณะที่เซ็นทรัลเลือกเซ็นทรัลภูเก็ตในการสร้างสรรค์ธีมปาร์คแบบไทยๆ เพื่อหวังดึงดูดนักท่องเที่ยวเป็นหลัก ภายใต้ความคาดหวังว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ จังหวัดภูเก็ต จะกลายเป็น Global Destination

ซึ่งจากผลสำรวจสุดยอดจุดหมายปลายทางโลกของมาสเตอร์การ์ด เมื่อปี 2561 พบว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งในผลการสำรวจทั่วโลก ไทยเป็นเพียงประเทศเดียวที่มีเมืองท่องเที่ยวถึง 3 แห่งติดอยู่ใน 20 อันดับแรก

ทั้งนี้ นอกจากกรุงเทพฯ คือเมืองสุดยอดจุดหมายปลายทางอันดับหนึ่งของโลก ที่มีนักท่องเที่ยวต้องการมาเยือนและพักแรมมากที่สุดแล้ว จังหวัดภูเก็ตยังติดในอันดับที่ 12 อีกทั้งยังมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 12.6 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ยอดค่าใช้จ่ายรวมของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่พักแรมในปี 2560 อยู่ที่ประมาณ 10.46 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวต่อวันอยู่ที่ประมาณ 239 ดอลลาร์สหรัฐ

จากตัวเลขผลสำรวจของมาสเตอร์การ์ด ไม่น่าแปลกใจที่ผู้บริหารเซ็นทรัลอย่างณัฐกิตติ์ จะมั่นใจมากว่า ธีมปาร์ค ภายใต้ชื่อ “ไตรภูมิ มหัศจรรย์สามโลก” จะเป็นหมากสำคัญในการสร้างจุดเปลี่ยนให้กับห้างค้าปลีก

“ธีมปาร์ค มีกลุ่มเป้าหมายสำคัญ คือนักท่องเที่ยวต่างชาติ 70 เปอร์เซ็นต์ ทั้งแบบ Group Tour และ FIT โดยโฟกัสที่นักท่องเที่ยวชาวจีน รัสเซีย อินเดีย และยุโรป โดยอีก 30 เปอร์เซ็นต์เป็นคนไทยและ Expat ซึ่งคาดว่าภายใน 3-5 ปีจะคืนทุน” ณัฐกิตติ์เสริม

ความมั่นใจที่ณัฐกิตติ์เปิดเผยออกมา น่าจะมาจากมีการเซ็นสัญญากับบริษัททัวร์ Good Channel ว่าจะมีการส่งกรุ๊ปทัวร์มายังธีมปาร์คที่เซ็นทรัลภูเก็ตปีละ 6 แสนคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่เหนือการคาดการณ์ จากเดิมที่คาดว่าจะรองรับนักท่องเที่ยวได้ราว 2 แสนคนต่อปี

นอกจากนี้ ณัฐกิตติ์ยังเปิดเผยอีกว่า ในอนาคตเซ็นทรัลภูเก็ตจะสร้างพื้นที่เพื่อรองรับการจัดการประชุมและนิทรรศการ เพราะมองเห็นศักยภาพการเติบโตของตลาดไมซ์ในไทยมีทิศทางที่สดใส

เมื่อสำนักงานส่งเสริมการจัดการประชุมและนิทรรศการ หรือทีเส็บ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นจากนักธุรกิจไมซ์ กว่า 20 ประเทศทั่วโลก และผลคือ ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของตลาดไมซ์ ที่นักเดินทางอยากกลับมาจัดกิจกรรมไมซ์ ซึ่งไทยมีจุดขายเรื่องการบริการต้อนรับ ความคุ้มค่า และความหลากหลายของอาหาร

ขณะที่ทีเส็บกำลังเร่งพัฒนาและโปรโมตประเทศไทยสู่สายตาโลก ในฐานะหนึ่งในจุดหมายปลายทางไมซ์ และยกระดับไทยให้เป็นประเทศที่อยู่ในตำแหน่ง Top of Mind destination for MICE และเพื่อให้สามารถนำจุดขายที่สำคัญมาส่งเสริมและพัฒนาประเทศไทยให้ได้รับเลือกเป็นจุดหมายปลายทางในการจัดงานไมซ์ในใจนักธุรกิจทั่วโลก

ทั้งนี้ มูลค่าตลาดไมซ์ในปี 2561 มีมูลค่าถึง 212,924 ล้านบาท โดยมีนักเดินทางกลุ่มไมซ์จากต่างประเทศและในประเทศรวม 34,267,307 ราย อีกทั้งยังมีการคาดการณ์ว่าในปี 2562 มูลค่าตลาดไมซ์น่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 221,500 ล้านบาท

โดยจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา กล่าวว่า เป็นผลจากการสนับสนุนของรัฐบาลที่ต้องการให้ธุรกิจไมซ์เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขณะที่ภายในประเทศเองยังมีนโยบายส่งเสริมการประชุมในจังหวัดต่างๆ เพื่อสร้างการกระจายรายได้ และก่อให้เกิดความเข้มแข็งของภาคชุมชนด้วย

คงต้องรอดูว่า กลยุทธ์ของเซ็นทรัลพัฒนาในการเปลี่ยน Shopping Mall ให้มี Lifestyle และเป็นมากกว่าแหล่งชอปปิ้ง จะกลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวและนักเดินทางได้อย่างที่วาดหวังเอาไว้หรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าจับตา

ใส่ความเห็น