วันอังคาร, ธันวาคม 3, 2024
Home > Life > “ลำพูน สุขก๋าย สบายใจ๋” โครงการต้นแบบพัฒนาย่านเมืองเก่าสู่พื้นที่แห่งความสุข

“ลำพูน สุขก๋าย สบายใจ๋” โครงการต้นแบบพัฒนาย่านเมืองเก่าสู่พื้นที่แห่งความสุข

เมื่อ CSR ไม่ใช่แค่การ “บริจาค” แต่ต้องตอบโจทย์ความต้องการอย่างแท้จริงและต้องเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน “ลำพูน สุขก๋าย สบายใจ๋”  โครงการที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด (GSK) เทศบาลเมืองลำพูน และบริษัท ลำพูน ซิตี้ แลป จำกัด ที่มุ่งพัฒนาพื้นที่เมืองเก่าลำพูนให้เป็นพื้นที่แห่งความสุขกายสบายใจ คือหนึ่งในโครงการที่เข้าข่ายดังกล่าว

“ลำพูน สุขก๋าย สบายใจ๋” หรือ Lamphun Healing Town เป็นโครงการต้นแบบที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างองค์กรพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน อย่าง บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทด้านชีวเภสัช (Biopharma) บริษัท ลำพูน ซิตี้ แลป จำกัด และเทศบาลเมืองลำพูน เพื่อพัฒนาพื้นที่ ถนนรถแก้ว ย่านเมืองเก่าลำพูน ให้เป็นพื้นที่แห่งความสุขทั้งกายและใจ ผ่านการพัฒนาใน 3 มิติ ได้แก่ มิติด้านสุขภาวะ มิติสิ่งแวดล้อม และมิติเศรษฐกิจ เพื่อสนับสนุนการดูแลด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของลำพูน  โดยมีการลงนามครั้งแรกเมื่อเดือนมิถุนายน 2566

ซึ่งทาง GSK จะช่วยสนับสนุนลำพูน ซิตี้ แลป ในการดำเนินโครงการ Lamphun Healing Town เพื่อปรับปรุงทุกองค์ประกอบของ ถ.รถแก้ว เมืองลำพูน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม โดยเพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างความร่มรื่น จัดการระบบแสงสว่าง ลดมลพิษทางอากาศ เพิ่มพื้นที่ออกกำลังกาย ร่มรื่น มีร่มเงา หายใจสะดวก

จุดแข็ง “ลำพูน” เมืองเดินได้ เดินถึง

รศ. ดร.สิงห์ อินทรชูโต ผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ลำพูน ซิตี้ แลป จำกัด เปิดเผยถึงจุดเริ่มต้นของโครงการ “ลำพูน สุขก๋าย สบายใจ๋” ว่า จังหวัดลำพูนมีประชากรอยู่ราวๆ 405,955 คน อยู่ในเขตเมืองเก่า 11,000 คน มีผู้สูงอายุคิดเป็น 30.5% ของประชากรทั้งหมด มีจุดแข็งคือ เป็นเมืองที่เดินได้ เดินถึง, มีการดูแลผู้สูงอายุที่เข้มแข็งโดยเทศบาลเมือง, มีบริการสาธารณสุขที่ครอบคลุม, มีกองแพทย์ของเทศบาลโดยเฉพาะ แยกกับกองสาธารณสุข, เป็นเมืองที่สงบไม่วุ่นวาย อีกทั้งยังอยู่ไม่ไกลจากเชียงใหม่ และไม่ไกลจากสนามบิน, มีศิลปวัฒนธรรมและเทศกาลมีเอกลักษณ์ตามต้นฉบับของล้านนา, ผู้คนเป็นมิตรและเมืองมีความปลอดภัย รวมถึงนายกเทศมนตรีและผู้ว่าราชการจังหวัดยังเข้าถึงง่าย เป็นกันเอง

แม้จะมีจุดแข็ง แต่ทว่า “ลำพูน” ก็มีความท้าทายเช่นกัน ทั้งในประเด็นของสุขภาวะ สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ กระทั่ง รศ. ดร.สิงห์ ใช้คำว่า เมืองลำพูนกำลังเข้าขั้น ICU โดยมีระดับ PM 2.5 สูงมากในทุกปี มีอัตราโรคมะเร็งปอดสูงที่สุดในภาคเหนือ และมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงลำดับต้นๆ ของประเทศ ด้านสิ่งแวดล้อม ยังขาดพื้นที่สีเขียว ต้นไม้กลางเมืองน้อยทำให้เมืองร้อน มีแหล่งน้ำธรรมชาติจากภูมิปัญญาบรรพบุรุษเหือดแห้ง ในขณะที่ด้านเศรษฐกิจพบว่า มีการหดตัวของประชากร และ 30% เป็นผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้, คนวัยทำงานออกไปอยู่เมืองอื่น, ขาดที่พักและร้านค้าคุณภาพสูง  และกิจกรรมสำหรับนักท่องเที่ยวมีน้อย ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของเมือง

นั่นจึงเป็นที่มาของโครงการต้นแบบ ลำพูน สุขก๋าย สบายใจ๋ (Lamphun Healing Town) ที่เกิดจากการริเริ่มพัฒนาจากความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ประกอบกับมีงานวิจัยสนับสนุน จนนำไปสู่การต่อยอดเพื่อออกแบบพื้นที่ ออกแบบกิจกรรมด้านการส่งเสริมสุขภาพ และส่งเสริมเศรษฐกิจสำหรับคนทุกเพศทุกวัย

แนวคิดของโครงการก็คือ การทำให้ทุกองค์ประกอบของเมืองลำพูนช่วยเยียวยา ทั้งมิติสิ่งแวดล้อม (Environment) โดยเพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างความร่มรื่น จัดการระบบระบายน้ำ จัดการระบบแสงสว่าง จัดการระบบสัญจร ลดมลพิษทางอากาศ

มิติด้านสุขภาวะทั้งกายและใจ (Health/Wellbeing) ด้านสุขภาพ โดยเพิ่มพื้นที่ออกกำลังกาย ร่มรื่น มีร่มเงา หายใจสะดวก พื้นที่ผ่อนคลายด้วยงานศิลป์

มิติเศรษฐกิจ (Economy) โดยเชื่อมโยงพื้นที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ให้เกิดความน่าลงทุน เน้นภาพลักษณ์ด้านสุขภาวะที่ดี

ภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ บริษัท ลำพูน ซิตี้ แลป จำกัด จะมีบทบาทในการเชื่อมประสานหน่วยงานทั้งรัฐ เอกชน และชุมชน ในจังหวัดลำพูน และดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่แห่งความสุขกายสบายใจ ถนนรถแก้ว ย่านเมืองเก่าลำพูน

โดยแผนพัฒนาระหว่างปี 2566-2567 จะเน้นการปรับปรุงและเพิ่มพื้นที่สีเขียวบนถนนรถแก้ว และสร้างเส้นทางพระธาตุเชื่อมพระรอด, พัฒนาคลินิกตรวจสุขภาพปอดในชุมชน และพัฒนาโครงการต้นแบบผลิตภัณฑ์อัพไซเคิลจากบรรจุภัณฑ์ยา

สำหรับโครงการปรับปรุงถนนรถแก้ว เส้นทางพระธาตุหริภุญชัยเชื่อมกับพระรอดนั้น มีการปรับปรุงถนนรถแก้วความยาวกว่า 250 เมตร ให้เป็นถนนต้นแบบ ถนนสีเขียว และพื้นที่พัฒนาสุขภาวะสำหรับชุมชนเมือง และมีการปลูกต้นไม้เพิ่มร่มเงาและลดปัญหา PM 2.5 ไปในตัว

ซึ่งถนนรถแก้วถือเป็นถนนที่มีศักยภาพสูงในการพัฒนา เนื่องจากเป็นถนนที่เชื่อม 2 วัดสำคัญของเมืองลำพูน ได้แก่ วัดพระธาตุหริภุญชัย วรมหาวิหาร และวัดมหาวัน (พระรอด) อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของคุ้มเจ้า 3 คุ้ม คือ คุ้มเจ้ายอดเรือน คุ้มเจ้าสุริยา และคุ้มเจ้าสัมพันธวงศ์ อีกทั้งยังมีอาคารหน่วยราชการรายล้อม ปัจจุบันถนนรถแก้ว มีการพัฒนาได้ตามแผนที่วางไว้

“สุขศาลา” จากโรงรับจำนำ สู่ศูนย์สุขภาพชุมชน

ล่าสุด Lamphun Healing Town คืบหน้าไปอีกขั้น เปิดตัว “สุขศาลา” ศูนย์สุขภาพชุมชนถนนรถแก้ว ที่ดัดแปลงมาจากโรงรับจำนำเดิม เพื่อรับมือกับ PM 2.5 ส่งเสริมการดูแลสุขภาพปอดเชิงรุกแก่ประชาชน โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงต่อโรคระบบทางเดินหายใจจากสภาพอากาศและมลภาวะ รณรงค์ตรวจสมรรถภาพปอดและคัดกรองเบื้องต้น เพื่อยกระดับการดูแลสุขภาพคนลำพูนให้มีประสิทธิภาพและเข้าถึงง่าย

ประภัสร์ ภู่เจริญ นายกเทศมนตรีเมืองลำพูน กล่าวว่า ปัจจุบันจังหวัดลำพูนได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ โดยลำพูนเป็นจังหวัดอันดับ 3 ของประเทศที่มีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุสูงที่สุด และมีอัตราผู้สูงอายุประมาณ 32% ขณะที่ลำพูนเป็นหนึ่งในจังหวัดภาคเหนือที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาฝุ่น PM 2.5 โดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ทำให้การคัดกรองโรคที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพปอดมีความสำคัญยิ่ง เทศบาลจึงร่วมกับภาคเอกชน โดยบริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด (GSK) และ ลำพูน ซิตี้ แลป รวมถึงภาคประชาชน จัดกิจกรรม “ชาวหละปูนฮักปอด” พร้อมเปิด “สุขศาลา” ศูนย์สุขภาพชุมชนถนนรถแก้ว ภายใต้โครงการ “ลำพูน สุขก๋าย สบายใจ๋” (Lamphun Healing Town) ซึ่งนับเป็นอีกก้าวสำคัญของการยกระดับการดูแลสุขภาพของชาวลำพูน รณรงค์สร้างความตระหนักรู้ในการดูแลสุขภาพเชิงรุก ส่งเสริมให้มีการตรวจสุขภาพปอดเป็นประจำ เพื่อลดผลกระทบด้านสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนในระยะยาว

ซึ่งการเปิดตัว “สุขศาลา” ศูนย์สุขภาพชุมชนถนนรถแก้ว เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “ลำพูน สุขก๋าย สบายใจ๋” ที่เทศบาลเมืองลำพูนริเริ่มตั้งแต่ปี 2566 โดยมีเป้าหมายในการยกระดับถนนรถแก้วเป็นพื้นที่ต้นแบบแห่งความสุขและสุขภาวะที่ดี ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน โดย “สุขศาลา” จะมีบทบาทสำคัญในการดูแลสุขภาพเชิงรุกแก่ชาวลำพูน โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ศูนย์สุขภาพแห่งนี้จะให้บริการตรวจสมรรถภาพปอดและคัดกรองโรคระบบทางเดินหายใจ โดยมีบุคลากรทางการแพทย์และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) คอยให้คำแนะนำและประเมินสุขภาพอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ชาวลำพูนสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพ

ด้าน รศ. ดร.สิงห์ อีกหนึ่งผู้มีบทบาทสำคัญของโครงการ กล่าวว่า “สุขศาลา” ถือเป็นสถานที่ให้บริการสุขภาพที่มีความใกล้ชิดกับผู้คนมานับแต่อดีต มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาระบบสุขภาพของสังคมไทยเช่นเดียวกับชาวจังหวัดลำพูน โดยทาง ลำพูน ซิตี้ แลป ได้ร่วมทำงานเชิงลึกกับนักออกแบบชุมชน เทศบาลลำพูน และทุกภาคส่วน รวมถึงประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่ เพื่อพัฒนาและออกแบบพื้นที่ “สุขศาลา” ศูนย์สุขภาพชุมชนถนนรถแก้ว ตอบโจทย์การเข้ามาใช้บริการของประชาชน

โดยมีบริการทั้งหมด 3 ส่วน คือ 1) การให้ความรู้ด้านการดูแลสุขภาพ 2) บริการตรวจสุขภาพโดยรวม และตรวจสมรรถภาพปอดเพื่อคัดกรองโรคเบื้องต้น และ 3) กิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ นอกจากนี้ยังมีการปรับภูมิทัศน์เพื่อส่งเสริมระบบนิเวศน์ของย่านเมืองเก่าลำพูนให้สมบูรณ์และสวยงามยิ่งขึ้น ด้วยการนำศิลปะมาช่วยเยียวจิตใจ คงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ท้องถิ่นความเป็นล้านนา เพื่อให้ชาวลำพูนมีความสุขกายสบายใจ ตลอดจนสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือน

อีกหนึ่งกำลังสำคัญอย่าง GSK โดยนางมาเรีย คริสติช กรรมการผู้จัดการ บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด (GSK) กล่าวว่า GSK เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ จากปัญหาคุณภาพอากาศของฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเป็นมลพิษทางอากาศส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยตรงทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคระบบทางเดินหายใจ จึงได้ร่วมมือกับเครือข่ายคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย (EACC) และ ลำพูน ซิตี้ แลป จัดกิจกรรม “ชาวหละปูนฮักปอด” ภายใต้โครงการ “ลำพูน สุขก๋าย สบายใจ๋” (Lamphun Healing Town) ร่วมกับทางเทศบาลเมืองลำพูน เพื่อรณรงค์ให้ชุมชนตรวจสุขภาพและตรวจสมรรถภาพปอดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง พร้อมส่งเสริมการพัฒนาสิ่งแวดล้อม ลดมลพิษทางอากาศ ร่วมปกป้องสุขภาพของประชาชนชาวลำพูนให้ห่างไกลโรค สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพและมีความสุข

รศ. นพ.วัชรา บุญสวัสดิ์ ประธานเครือข่ายคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังแบบง่าย (EACC) กล่าวว่า การตรวจคัดกรองสมรรถภาพปอดเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กับการตรวจคัดกรองโรคอื่น ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ เนื่องจากโรคทางเดินหายใจเรื้อรังมักมีการดำเนินโรคที่ยาวนานโดยไม่มีอาการในระยะแรก โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจะมีความเสี่ยงเกี่ยวกับสุขภาพปอดมากขึ้น ดังนั้นการตรวจสมรรถภาพปอดด้วยเครื่อง Peak Flow Meter จะช่วยให้สามารถพบภาวะปอดอุดกั้นหรือโรคหืดได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ก่อนที่อาการจะรุนแรง ป้องกันและลดความรุนแรงของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้ผู้สูงอายุและประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจเสมือนการป้องกันโรคไม่ติดต่ออื่น ๆ อีกทั้งช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขของจังหวัด

โดย “สุขศาลา” ศูนย์สุขภาพชุมชนถนนรถแก้ว จะเปิดให้บริการทุกวันเสาร์ที่ 2 และ 4 ของเดือน ตั้งแต่เวลา 8.00-12.00 น.