วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > ก้าวย่างสำคัญของ Rightman ในยุค Digital Disruption

ก้าวย่างสำคัญของ Rightman ในยุค Digital Disruption

สถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่อยู่ในภาวะไม่ค่อยจะสู้ดีนัก แม้ว่าภาครัฐจะแถลงตัวเลขในแต่ละไตรมาสว่า เหนือกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ และมีทิศทางการเติบโตที่ดี มีแนวโน้มที่สดใส ซึ่งตรงกันข้ามกับความเป็นจริงที่ประชาชนทุกหย่อมหญ้าล้วนโอดครวญ

แน่นอนว่าทุกธุรกิจล้วนได้รับผลกระทบไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม ขณะที่ประชาชนกำลังเฝ้ารอให้ภาครัฐมีมาตรการออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยหวังให้สถานการณ์ฟื้นตัวเร็วขึ้น

กระนั้นการเฝ้ารอความช่วยเหลือจากภาครัฐคงไม่ใช่ทางออกที่ดีนัก ความเที่ยงตรงของเวลาทำให้ภาคประชาชนจำต้องหาทางออกด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะกลวิธีการปรับตัวเพื่อให้สามารถยืนหยัดอยู่ท่ามกลางพายุทางเศรษฐกิจที่กระหน่ำอย่างต่อเนื่อง

และธุรกิจที่มีความอ่อนไหวง่ายต่อสถานการณ์ความไม่มั่นคงต่างๆ อย่างธุรกิจอีเวนต์ ที่มักได้รับผลกระทบทางตรง ไม่ว่าในห้วงยามนั้นประเทศไทยจะอยู่ในภาวะใด ทั้งช่วงเวลาความขัดแย้งทางการเมือง อิทธิพลจากเศรษฐกิจโลก หรือเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้คนไทยทั้งประเทศอยู่ในช่วงเวลาแห่งความโศกเศร้า ล้วนเป็นเหตุให้เกิดการชะลอตัวของธุรกิจอีเวนต์แทบทั้งสิ้น

แม้ว่าปัจจุบันสถานการณ์หลายด้านเริ่มคลี่คลาย และมองเห็นสัญญาณอันเป็นนิมิตหมายที่ดี พอจะมองเห็นความสดใสที่ทำให้ธุรกิจอีเวนต์กระเตื้องขึ้นมาได้บ้าง

ทว่า การเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย กลายเป็นวิกฤตแห่งบททดสอบครั้งสำคัญอีกครั้งต่อธุรกิจอีเวนต์ ว่านักธุรกิจ นักการตลาดจะใช้กลยุทธ์ใด หรือมีความแข็งแกร่งเพียงไหนที่จะก้าวผ่านช่วงเวลาที่เรียกว่า Digital Disruption ไปได้หรือไม่

การมาถึงของยุค Digital ส่งผลให้หลายธุรกิจต้องพยายามปรับตัวด้วยอัตราเร่งที่เกือบจะไร้เวลาในการเตรียมความพร้อม ทั้งธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทัน ถูกคลื่นสึนามิ Digital กลืนหายไปจากแวดวงด้วยความรวดเร็วอย่างน่าใจหาย

และที่ค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีคือ ธุรกิจธนาคาร ที่ถูกกระแส Digital สร้างผลกระทบให้ไม่แตกต่างกัน จนทำให้หลายธนาคารต้องหามาตรการเพื่อรับมือ จนท้ายที่สุด การปิดสาขาดูจะเป็นคำตอบและทางออกที่ดีที่สุดในการลดต้นทุน

เป็นที่แน่นอนว่าอีกหนึ่งธุรกิจที่ไม่อาจหลีกหนีสถานการณ์นี้ได้คือ ธุรกิจอีเวนต์ ที่ต่างต้องเผชิญกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงนี้ และหาทางปรับตัว ซึ่งบริษัท ไร้ท์แมน จำกัด (Rightman Co., Ltd.) เป็นบริษัทที่อยู่เบื้องหลังศูนย์การเรียนรู้และพิพิธภัณฑ์มากมาย เช่น นิทรรศรัตนโกสินทร์ พิพิธบางลำพู ฯลฯ นอกจากนี้ Rightman ยังคร่ำหวอดอยู่ในธุรกิจอีเวนต์และมีชื่อชั้นอยู่ในแวดวงไม่น้อย

อุปถัมป์ นิสิตสุขเจริญ ประธานกรรมการบริหาร Rightman เปิดเผยกับ ผู้จัดการ 360 องศา ต่อประเด็นนี้ว่า “ยอมรับว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในเวลานี้ส่งผลกระทบกับ Rightman เช่นกัน ต้องยอมรับว่ายอดตกไปเยอะพอสมควร เพราะจากที่เราตั้งเป้ารายได้ของปีที่ผ่านมาว่า รายได้น่าจะแตะที่ 1,100 ล้านบาท ก็ลดลงมาเหลือ 800 ล้านบาท เท่ากับว่าลดลงประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ 3-4 ปีที่แล้ว แม้ว่าเศรษฐกิจไม่ดี แต่เรายังโตได้อยู่ ส่วนหนึ่งที่ทำให้รายได้ของเราลดลง น่าจะเป็นเพราะหน่วยงานรัฐมีการรัดเข็มขัดใช้งบด้านนี้น้อยลง แต่การเปิดตัว Iconsiam ถือว่าเป็นตัวช่วยสำคัญของตลาดเลยก็ว่าได้”

ทั้งนี้ภาพรวมของมูลค่าตลาดอีเวนต์ในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 13,000 ล้านบาท ซึ่งอุปถัมป์มองว่าภาพรวมที่ดีขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอานิสงส์จากการเปิดตัวของห้างสรรพสินค้าย่านเจริญกรุงอย่าง Iconsiam ที่ใช้งบประมาณการเปิดตัวสูงถึง 1,000 ล้านบาท

จุดที่น่าสนใจของ Rightman ในการปรับตัวรับกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่ตกต่ำคือ รูปแบบ Cost Control โดยผู้บริหาร Rightman อธิบายว่า “ปีนี้สถานการณ์น่าจะยังอยู่ในความอึมครึม คนใช้เงินกันอย่างระมัดระวัง Mood and Tone ไม่ได้ บางหน่วยงานก็ใช้งบประมาณน้อยลง ที่สำคัญคือ เราไม่รับพนักงานเพิ่ม แต่พนักงานกว่า 400 คน ซึ่งทุกคนจะต้องทำงานที่เราได้รับมอบหมายให้เต็มประสิทธิภาพเช่นเดิม”

Digital Disruption ถือได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งบนโลกธุรกิจ ที่นักการตลาดจะต้องเผชิญกับความท้าทายที่ว่า จะสามารถก้าวผ่านสถานการณ์นี้และนำความสำเร็จมาสู่องค์กรได้อย่างไร

“แม้ว่ายุคนี้จะเราจะเจอกับ Digital Disruption แต่อีเวนต์ก็ยังคงมีความสำคัญกับการตลาดอยู่ สื่อดิจิทัลเองก็ต้องมี Content ที่ดีเป็นตัวเอก” อุปถัมป์อธิบาย ก่อนจะบอกเล่าความท้าทายใหม่ของ Rightman กับโปรเจกต์ “ไตรภูมิ มหัศจรรย์สามโลก” ธีมปาร์คบนพื้นที่ของเซ็นทรัลภูเก็ต

แน่นอนว่าการทำงานครั้งใหม่ของ Rightman คงไม่ใช่เรื่องยาก หากพิจารณาจากประสบการณ์ที่ผ่านมา แต่ที่ผ่านมาโปรเจกต์ที่เกิดขึ้นภายใต้การดูแลของ Rightman ล้วนแล้วแต่เป็นการทำงานเบื้องหลังเกือบทั้งหมด

ขณะที่ “ไตรภูมิ มหัศจรรย์สามโลก” กลับมาในรูปแบบของการร่วมทุนภายใต้ชื่อบริษัท ฟีโนมินอน ครีเอชั่น จำกัด ในสัดส่วน 50:50 ซึ่งอุปถัมป์เล่าว่า “เซ็นทรัลเรียกเข้าไปคุย หลังจากเปิดไดโนซอร์แพลนเน็ต บนถนนสุขุมวิท ไปได้ 2 เดือน พร้อมกับบอกเล่าสิ่งที่เซ็นทรัลต้องการจะทำ ตอนนั้นเราเองก็ยินดีมาก และมองว่าโปรเจกต์นี้น่าสนใจ และเซ็นทรัลยังชวนให้เราทำในลักษณะบริษัทร่วมทุน เวลานั้นเราคิดว่าเราเป็นบริษัทเล็กๆ เองนะ แต่มันเป็นความท้าทาย และมองเห็นศักยภาพบนพื้นที่ในจังหวัดภูเก็ต เวลานั้นเรามองว่า Right Produce Right Place และปัจจัยแวดล้อมอีกหลายด้าน ทำให้เราตอบตกลง”

ฐานะที่เปลี่ยนไปของ Rightman จากผู้อยู่เบื้องหลังศูนย์การเรียนรู้หลายแห่งในประเทศไทย สู่ผู้ร่วมทุน ความท้าทายสำคัญในครั้งนี้จะนำความสำเร็จมาให้เฉกเช่นที่ Rightman เคยทำได้หรือไม่ เมื่อโจทย์ใหญ่ของเซ็นทรัลที่ต้องการนำเสนอธีมปาร์คที่มีความเป็นไทย

“เราไม่เทียบตัวเองกับ Disneyland หรือ Universal Studio เพราะทั้งสองที่นี้เลือกตัวละคร ตัวการ์ตูนที่ทุกคนรัก แต่เราเลือกนำเสนอที่ประเด็นความเชื่อ ซึ่งคนไทยมีความเชื่อพวกนี้อยู่แล้ว และตัวละครที่เราเลือกมีความเป็นสากล ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติก็สามารถเข้าถึง เข้าใจได้เช่นกัน เราใส่ความผจญภัย ผสมผสานเทคนิคทันสมัยแบบแฟนตาซีเข้าไปด้วย เรามองว่าการสร้างประสบการณ์มีความสำคัญมากกว่าการสร้างสิ่งที่เป็นอย่างแรกในประเทศไทย” อุปถัมป์ขยายความ

ถึงเวลานี้คงต้องจับตาดูว่าก้าวใหม่ของ Rightman ในฐานะผู้ร่วมทุนจะเป็นเช่นไร ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังมองหาความมีเสถียรภาพแทบไม่เจอ ความท้าทายกับโจทย์ที่ยากขึ้นเรื่อยๆ ประสบการณ์ของ Rightman จะทำให้ก้าวสำคัญครั้งนี้ประสบความสำเร็จหรือไม่ยังคงต้องจับตาดู

ใส่ความเห็น