ภาพนักท่องเที่ยวจีนที่เดินกันขวักไขว่ตามสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของไทย เช่น พระบรมมหาราชวัง ในกรุงเทพฯ หรือจังหวัดใหญ่ๆ อย่างเชียงใหม่ และภูเก็ต ที่นักท่องเที่ยวจำนวนมากเลือกเป็นจุดหมายปลายทาง กลายเป็นภาพจำไปแล้วสำหรับคนไทย เมื่อช่วงเวลาหนึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว
เมืองไทยได้รับความสนใจและกลายเป็น destination ของนักท่องเที่ยวจีน อาจจะมาจากภาพยนตร์เรื่อง Lost in Thailand ที่ฉายในไทยครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2556 นับเป็นการจุดพลุการท่องเที่ยวตามรอยภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว
นอกจากนี้ยังมีเหตุผลอื่นๆ ประกอบ ทั้งค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวไทยที่ราคาไม่แพง ภาคการบริการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล หรือที่นักท่องเที่ยวจีนเคยให้เหตุผลน่าฟังว่า “คนไทยใจดี”
ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่นักท่องเที่ยวจีนค่อยๆ เพิ่มจำนวนมากขึ้นนั้น ด้านหนึ่งต้องยอมรับว่านอกจากจะเป็นการกระพือชื่อเสียงการเป็นเมืองท่องเที่ยวและสร้างความนิยมให้กับเมืองไทยแล้ว สิ่งที่ตามมาคือเรื่องรายได้ที่เพิ่มขึ้น ทั้งในแง่ของผู้ประกอบการท่องเที่ยว และแน่นอนว่านั่นคือรายได้ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน
หากดูจากสถิติเมื่อปี 2560 จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาเที่ยวในประเทศไทยมีจำนวน 9,805,753 คน และสร้างรายได้มากถึง 524,451.03 ล้านบาท นับว่าทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากนักท่องเที่ยวจีนถือเป็นอันดับหนึ่งของชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยมากที่สุด
และนั่นทำให้ในปี 2561 ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนตั้งเป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยสูงถึง 10.5 ล้านคน
กระทั่งโศกนาฏกรรมเรือฟินิกซ์ล่มที่จังหวัดภูเก็ต กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ลดทอนความเชื่อมั่นในสวัสดิภาพของนักท่องเที่ยวที่มีต่อเมืองไทยลง จำนวนนักท่องเที่ยวจีนจึงค่อยๆ ลดจำนวนลง
นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวเปลี่ยนเส้นทางไปยังประเทศอื่นในเอเชีย เช่น เรื่องโรคไข้เลือดออกระบาด พฤติกรรมไม่เหมาะสมของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของสนามบิน หรือการปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญ
ท้ายที่สุดจำนวนนักท่องเที่ยวจีนปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 6 เดือน แม้หลายคนจะมองในแง่ที่ว่า การที่นักท่องเที่ยวลดน้อยลงน่าจะเพราะเป็นช่วง Low Season (เดือนเมษายนถึง เดือนกันยายน) นักท่องเที่ยวจะกลับมาเที่ยวประเทศไทยและสร้างความคึกคักอีกครั้งในช่วง High Season
กระนั้นดูเหมือนว่ารายได้จากการท่องเที่ยว และโดยเฉพาะรายได้จากนักท่องเที่ยวจีน ดูจะเป็นประเด็นที่ผู้ประกอบการให้ความสำคัญจนลืมที่จะตั้งคำถามและหาคำตอบว่า เพราะเหตุใดนักท่องเที่ยวจีนถึงลดจำนวนลงจากเดิมที่เคยหลั่งไหลเข้ามาท่องเที่ยวในไทย
นอกจากสวัสดิภาพความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวแล้ว อาจจะมีบางสิ่งที่ยังสร้างความคลางแคลงใจให้แก่นักท่องเที่ยวไม่น้อย จากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมครั้งนั้นที่ยังไม่มีการเอาผิดหรือหาผู้รับผิดชอบได้อย่างชัดเจน
ล่าสุดมีความพยายามกดดันให้ภาครัฐเร่งหามาตรการแก้ไข เพื่อให้การท่องเที่ยวกลับมาบูมอีกครั้ง โดยมีการเสนอให้ยกเว้นค่าธรรมเนียม Visa on Arrival หรือ VOA ให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ 21 ประเทศ รวมถึงประเทศจีน ในช่วงเวลา 2 เดือนที่เหลือของปี
แน่นอนว่าหลายฝ่ายโดยเฉพาะภาคเอกชนต่างเห็นด้วยกับมาตรการดังกล่าว โดย ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ททท. เตรียมนำเสนอมาตรการกระตุ้นธุรกิจท่องเที่ยว 2 รูปแบบ คือ การยกเว้นค่าธรรมเนียม VOA เป็นการใช้ยาแรงแก้ปัญหาที่ธุรกิจท่องเที่ยวกำลังเผชิญอยู่ โดย ททท. จะเร่งดำเนินการและเสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติเร็วที่สุด ซึ่งหาก ครม. อนุมัติ จะเริ่มใช้มาตรการนี้ได้ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2561-15 มกราคม 2562 และหาก ครม. เห็นชอบและดำเนินการ จะส่งผลให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นมาเป็น 12 ล้านคนในปีนี้ จากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ว่าจะมีประมาณ 10.5 ล้านคน”
เสียงบ่นจากบรรดาผู้ประกอบการท่องเที่ยวต่อการลดจำนวนของนักท่องเที่ยวจีนในเรื่องรายได้ที่ลดลง ทำให้เข้าใจได้อย่างหนึ่งว่า “ทัวร์ศูนย์เหรียญ” อาจจะไม่จริงหรืออย่างไร
เพราะในแต่ละปีนับตั้งแต่ไทยกลายเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวจีน และจำนวนนักท่องเที่ยวจีนไต่อันดับขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งของชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในไทยนั้น แสดงให้เห็นว่า นักท่องเที่ยวจีนถือเป็นรายได้หลักของการท่องเที่ยวไทย
ขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยวมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยไม่น้อย เมื่อ 20 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีไทยมาจากการท่องเที่ยว
และการที่ผู้ประกอบการแสดงความกังวลในห้วงยามนี้ต่อรายได้ที่ลดลงคงไม่ใช่เรื่องแปลก กระนั้นคงต้องพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาว่า การใช้ยาแรงอย่างการยกเว้นค่าธรรมเนียม VOA นั้น จะสามารถแก้ไขปัญหาได้จริงหรือไม่
แน่นอนว่าหากมีการอนุมัติใช้มาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียม VOA จริง นั่นหมายถึงรายได้ที่ประเทศอาจสูญเสียไปประมาณ 3 พันล้านบาท ในช่วงระยะเวลา 2 เดือน แต่ผู้ว่าการ ททท. ประเมินว่า รายได้อันเกิดจากการท่องเที่ยวของชาวจีนน่าจะสูงถึง 7.5 หมื่นล้านบาท จากนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะมาใช้ช่วงเวลานั้นถึง 1.5 ล้านคน
กระนั้นสิ่งที่ภาครัฐต้องตระหนักในการอนุมัติใช้มาตรการ VOA นั้นอาจส่งผลเสียมากกว่าที่หลายคนคาดคิด เมื่อเหรียญมีสองด้าน ดาบมีสองคม การยกเว้นค่าธรรมเนียม VOA ก็เช่นกัน ดังนั้นคงจะดีกว่าหากมีการพิจารณาเหตุผลอย่างครบถ้วนรอบด้าน
ถึงเวลานี้ ดูเหมือนว่าการลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากแดนมังกรกลายเป็นสาเหตุของความวิตกกังวลของทั้งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และผู้ประกอบการท่องเที่ยวเอกชน เสมือนว่า การที่ไทยไม่ได้รับความนิยมจากชาวจีนเฉกเช่นที่เคยเป็นมาตลอดระยะเวลา 5 ปีนี้ เป็นปัจจัยให้จีดีพีไทยถดถอยลงอย่างนั้น
ทั้งที่ก่อนหน้ามีความพยายามอย่างหนักจากภาครัฐในการที่จะสร้างให้เกิดการท่องเที่ยวในรูปแบบที่เรียกว่า “ยั่งยืน” และ “มีคุณภาพ” ด้วยการสร้างความแข็งแกร่งให้ลงลึกไปในระดับชุมชน และปลุกปั้นมนต์เสน่ห์ที่แอบซ่อนอยู่ตามพื้นที่เล็กๆ ของเมืองใหญ่มาเป็นกิมมิกสำหรับการท่องเที่ยว
และสิ่งที่ต้องไม่ลืมคือ เมื่อไรก็ตามที่ชุมชนเข้มแข็ง มีรายได้ที่สามารถดูแลตัวเองได้ นี่ต่างหากที่จะเป็นกุญแจสำคัญในการฉุดจีดีพีของไทยให้ฟื้นคืนชีพอย่างยั่งยืน หาใช่พลุไฟที่จุดสว่างเพียงชั่วครั้งชั่วคราว