วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > การท่องเที่ยวทรุด ฉุดเศรษฐกิจไทยร่วง?

การท่องเที่ยวทรุด ฉุดเศรษฐกิจไทยร่วง?

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าฟันเฟืองที่ช่วยให้เศรษฐกิจไทยสามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้นั้นมีอยู่เพียงไม่กี่อย่าง เช่น การส่งออก และการท่องเที่ยว และหลายครั้งที่สถานการณ์ทำให้เราประจักษ์ชัดว่าการท่องเที่ยวของไทยมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อรากฐานทางเศรษฐกิจในทุกระดับ

ทุกๆ ภาครัฐและเอกชนของไทยจะตั้งเป้าหมายเกี่ยวกับการท่องเที่ยวว่าในแต่ละปีจะต้องมีรายได้ที่เกิดจากการท่องเที่ยวเท่าไหร่ รวมไปถึงจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยและบทสรุปทั้งเรื่องจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ในแต่ละปีที่ออกมามักสูงกว่าเป้าหมายที่ได้คาดการณ์เอาไว้

ทว่า ในปีนี้โดยเฉพาะห้วงเวลานี้กลับแตกต่างออกไปทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวที่เริ่มปรับตัวลดจำนวนลงแม้จะยังไม่ใช่จำนวนที่มากมายนัก แต่กลับสร้างความตระหนกให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร บริษัททัวร์ ธุรกิจรถทัวร์ เรือนำเที่ยว หรือธุรกิจอื่นที่ล้วนแต่อยู่ในห่วงโซ่ย่อมได้รับผลกระทบแห่งระลอกคลื่นนี้เช่นกัน

เมื่อกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา แถลงข่าว รายงานสถานการณ์การท่องเที่ยวเดือนกันยายน 2561 ว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 2,655,562 คน โดยจำนวนนี้เป็นนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกมากที่สุด 1,948,414 คน รองลงมา ได้แก่ นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคยุโรป เอเชียใต้ อเมริกา ตะวันออกกลาง โอเชียเนีย และแอฟริกา ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา มีอัตราการขยายตัว 2.13 เปอร์เซ็นต์

กระนั้นอัตราการขยายตัวดังกล่าว เป็นการขยายตัวในทิศทางที่ลดลง 0.3 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า

ปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงมีทั้งเรื่องของฤดูกาล ที่เป็นช่วงฤดูฝน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ที่หลายคนกำลังจับตาและให้ความสำคัญอย่างยิ่ง คือ ความปลอดภัยต่อสวัสดิภาพของนักท่องเที่ยว

โศกนาฏกรรมเรือฟินิกซ์ล่มที่จังหวัดภูเก็ต ดูจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เมื่อเหตุการณ์ครั้งนั้นมีนักท่องเที่ยวจีนเสียชีวิตมากถึง 47 ราย และได้รับบาดเจ็บ 37 ราย นอกจากนี้ยังมีกรณีการปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญ ที่ทำให้นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะจากจีนลดลงไปกว่า 50 เปอร์เซ็นต์

ปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นเป็นปัญหาที่สะสมมาจึงไม่น่าแปลกใจที่จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว แน่นอนว่าไม่เฉพาะแต่นักท่องเที่ยวจากจีนเท่านั้น

หลายฝ่ายกำลังแสดงความวิตกกังวลว่า ปัญหาดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยในปีนี้ เมื่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวถือเป็นเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทย เมื่อรายได้ที่มาจากการท่องเที่ยวคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ไทย

ความกังวลของภาคเอกชนต่อสถานการณ์การท่องเที่ยว นั่นหมายความว่าการท่องเที่ยวไม่ได้มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจในระดับมหภาคเท่านั้น แต่ส่งผลต่อเศรษฐกิจในระดับจุลภาคด้วย

กระนั้นหากจะมองว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในขั้นวิกฤตที่น่ากังวลก็คงไม่แปลกนัก เมื่อการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งฟันเฟืองสำคัญที่จะช่วยให้เครื่องจักรเศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ นอกเหนือไปจากการส่งออก

อย่างไรก็ตาม ยังมีเรื่องที่น่าขบคิดต่อการลดจำนวนลงของนักท่องเที่ยว ว่าอาจจะมีสาเหตุมาจากฤดูกาลของการท่องเที่ยวเมื่อช่วงเดือน เม.ย.-ต.ค. ที่จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงนั้นอยู่ในช่วง Low Season และนักท่องเที่ยวจะกลับมาเยือนไทยอีกครั้งในช่วง High Season

ทว่า ความกังวลของภาคเอกชนดูจะหลงลืมเหตุผลเรื่องฤดูกาลไปเสียสิ้น แต่กลับกดดันให้ภาครัฐเร่งหามาตรการออกมาแก้ปัญหาเพื่อพยุงให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอยู่ในระดับเดิม

และที่สำคัญคือลืมที่จะนึกย้อนไปยังอดีต หรือก่อนที่นักท่องเที่ยวจีนจะมีจำนวนมากเฉกเช่นทุกวันนี้ ว่าบรรยากาศการท่องเที่ยวแต่เก่าก่อนนั้นเป็นอย่างไร ความวูบวาบสดใสดังพลุไฟที่นักท่องเที่ยวจีนนำพามา ดูจะทำให้ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยหลงใหลไปกับเม็ดเงินที่ได้รับ โดยลืมคิดว่ารูปแบบการท่องเที่ยวที่กำลังดำเนินไปอยู่ในขณะนี้ หาใช่การท่องเที่ยวในรูปแบบที่ยั่งยืน

การแสดงออกของภาคเอกชนต่อเรื่องดังกล่าว อีกทั้งยังส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือจากภาครัฐ ทำให้มองได้ว่า การเพิ่มหรือลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวจีนมีความสำคัญต่อรายได้ของไทยไม่น้อย โดยลืมที่จะแสวงหาทางออกเรื่องการท่องเที่ยวอันจะนำมาซึ่งความยั่งยืนกว่าที่เป็นอยู่

การเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยว แม้จะมีข้อดีในแง่รายได้ที่จะเข้ามาในประเทศ และเป็นการประชาสัมพันธ์แบบปากต่อปาก หากแต่เมื่อมีข้อดีย่อมมีข้อเสียเช่นกัน

ต้องยอมรับว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่งดงามดึงดูดใจนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี กระนั้นจำนวนนักท่องเที่ยวต่อทรัพยากรที่เรามีอยู่ดูจะไร้ความสมดุลกันโดยสิ้นเชิง การเปิดพื้นที่สถานที่ท่องเที่ยวโดยไม่จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวนั้น นำมาซึ่งความเสียหายต่อทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

นอกจากนี้ยังมีอีกปัญหาที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันหาทางออก เมื่อล่าสุดอ่าวมาหยา แหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมในหมู่เกาะพีพี เป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากการรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ยังผลให้ระบบนิเวศใต้ทะเลบริเวณดังกล่าวเสียหาย

แม้ว่าธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้ออกประกาศขยายระยะเวลาปิดอ่าวมาหยา ซึ่งก่อนหน้ามีกำหนดปิดตั้งแต่ 1 มิถุนายน ถึง 30 กันยายน ทว่าการฟื้นฟูธรรมชาติยังไม่สมบูรณ์ จึงอาศัยอำนาจตามความในข้อ 4 และ 5 แห่งระเบียบกรมอุทยานฯ ว่าด้วยการเข้าไปในเขตอุทยานฯ พ.ศ.2522 ขยายเวลาปิดการท่องเที่ยวหรือดำเนินกิจกรรมใดๆ บริเวณอ่าวมาหยา ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม เป็นต้นไป จนกว่าทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่งจะกลับคืนสู่สภาวะปกติ

แน่นอนว่าการขยายเวลาปิดการท่องเที่ยวอ่าวมาหยาย่อมก่อให้เกิดความไม่พอใจกับบริษัททัวร์ เมื่อส่วนหนึ่งได้เปิดจำหน่ายทัวร์ไปแล้ว แม้ว่าผู้ประกอบการบางส่วนจะเห็นด้วยกับประกาศดังกล่าว

นี่เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการท่องเที่ยวที่เกินพอดี วัดผลที่เม็ดเงินเป็นหลัก โดยไม่ได้พิจารณาถึงทรัพยากรธรรมชาติ ที่เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยหล่อเลี้ยงให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนได้

ขณะที่สถานการณ์เศรษฐกิจยังน่ากังวล เมื่อสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลข GDP ไตรมาสที่ 2 ของปี 2561 มีการขยายตัว 4.6 เปอร์เซ็นต์ ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า อยู่ที่ 4.9 เปอร์เซ็นต์

แม้ว่าไตรมาส 3 จะยังไม่มีแถลงสรุปตัวเลขที่ชัดเจนจาก สศช. แต่ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ อีไอซี ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/2561 ขยายตัวที่ 4.3 เปอร์เซ็นต์ จากเดิมที่ประมาณการไว้ที่ 4.0 เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวเป็นการประเมินโดยพิจารณาจากปัจจัยพื้นฐานต่างๆ เช่น สถานการณ์การส่งออก ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าแต่ก็เพียงระยะสั้นๆ นอกจากนี้ยังมีการขยายตัวในเรื่องการท่องเที่ยว และการฟื้นตัวของการบริโภคและการลงทุน รวมไปถึงการขยายตัวการใช้จ่ายของภาครัฐ

แต่ที่น่ากังวลคือหนี้ครัวเรือนไทย ความสำคัญของเศรษฐกิจระดับฐานรากที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจภาพรวม เมื่อ อีไอซี มองว่าสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ทั้งปีของครัวเรือนเพิ่มขึ้น 12 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นผลมาจากการหดตัวของรายได้และการเพิ่มขึ้นของหนี้ในช่วงปี 2015-2017

หากการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นความหวังเดียวที่จะพยุงสถานการณ์เศรษฐกิจไทยให้ค่อยๆ ดีขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐและเอกชนจะต้องพิจารณาแก้ไขปัญหาและสถานการณ์ให้ตรงจุด หาใช่วาดหวังกับทางออกที่ดูง่ายแต่ไร้ความยั่งยืน

ใส่ความเห็น