วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > เสี่ยเจริญดัน BJC บุกจีน ปักหมุดบิ๊กซี ยึดอาเซียน

เสี่ยเจริญดัน BJC บุกจีน ปักหมุดบิ๊กซี ยึดอาเซียน

บิ๊กซี ภายใต้การบริหารของบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC ได้เวลาเปิดฉากรุกตลาดอาเซียนอย่างเป็นทางการตามแผนขยายอาณาจักรค้าปลีกของเจริญ สิริวัฒนภักดี หลังจากใช้เวลากว่า 2 ปี ปรับกระบวนทัพต่างๆ โดยเตรียมปักหมุดห้างบิ๊กซีไฮเปอร์มาร์เก็ต 3 สาขาแรก ในประเทศมาเลเซีย กัมพูชา และลาว เพื่อสร้างเครือข่ายการกระจายสินค้าที่กว้างขวางและเชื่อมต่อจาก “อาเซียน” สู่ประเทศยักษ์ใหญ่อย่าง “จีน” ด้วย

เบื้องต้น ทั้ง 3 สาขาจะเปิดตัวภายในปี 2562 หรืออย่างช้าไม่เกินต้นปี 2563 พร้อมๆ กับแผนขยายสาขาธุรกิจค้าปลีกแบรนด์ต่างๆ ในเครือ ซึ่งบีเจซีลุยปักหมุดไว้อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดในเวียดนาม บีเจซีผุดห้างค้าปลีกค้าส่ง เอ็มเอ็ม เมกะมาร์เก็ต (MM Mega Market) มากถึง 19 สาขา และร้านสะดวกซื้อบีสมาร์ท (B’s Mart) อีก 144 สาขา ส่วนในลาว มีร้านสะดวกซื้อ เอ็ม พ้อยท์มาร์ท (M-point Mart) 46 สาขา

นั่นหมายความว่า เมื่อบิ๊กซีเปิดไฮเปอร์มาร์เก็ตใน 3 ประเทศ จะเป็นการสร้างเครือข่ายค้าปลีกในกลุ่ม CLMV เกือบ 100% ยกเว้นเมียนมาที่ยังติดขัดปัญหาทางการเมือง และครอบคลุมทั้งห้างค้าปลีกขนาดใหญ่และขนาดเล็กอย่างคอนวีเนียนสโตร์

อัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ห้างค้าปลีกในกลุ่มบีเจซี เปิดเผยว่า แผนการลงทุนในต่างประเทศจะเน้นประเทศเพื่อนบ้าน โดยปี 2562 จะเปิดบิ๊กซีไฮเปอร์มาร์เก็ตสาขาแรกในกัมพูชาและ สปป.ลาว รวมทั้งขยายสาขาร้าน เอ็มพอยท์มาร์ท ใน สปป.ลาว ขณะที่เวียดนามจะเปิดสาขาเอ็มเอ็ม เมก้า มาร์เก็ต เพิ่มขึ้นอีก 5 แห่ง และขยายสาขาร้านบีสมาร์ท

ส่วนในมาเลเซียภายหลังการเข้าพบระหว่างเจริญกับกษัตริย์ของประเทศมาเลเซียเมื่อปี 2560 มีการตกลงกันเบื้องต้นจะให้กลุ่มทีซีซี กรุ๊ป เข้าลงทุนอย่างชัดเจน ซึ่งบริษัทเตรียมเปิดให้บริการบิ๊กซี ไฮเปอร์มาร์เก็ตในรัฐที่ติดกับประเทศไทย โดยกำลังเร่งหาทำเลและขนาดที่ดินประมาณ 25-30 ไร่ หากได้ข้อสรุปเรื่องทำเลที่ตั้งได้ จะสามารถสร้างแล้วเสร็จพร้อมเปิดให้บริการได้ภายใน 10 เดือน

ก่อนหน้านั้น บีเจซีวางแผนลุยธุรกิจต้นน้ำ ทั้งโรงงานผลิตขวดแก้ว โรงงานผลิตมันฝรั่งทอดกรอบและขนมขึ้นรูป ที่มาเลเซียตั้งแต่ปี 2551 แผนขั้นต่อไป คือ การนำธุรกิจอื่นๆ ทั้งกลางน้ำและปลายน้ำเข้าไปขยายเพิ่มเติมด้วย รวมถึงเป็นฐานเชื่อมโยงกับประเทศไทย ซึ่งบิ๊กซีถือเป็นไฮเปอร์มาร์เก็ตเจ้าเดียวที่เปิดสาขาในจังหวัดปัตตานีและมีชาวมาเลเซียเข้ามาจับจ่ายจำนวนมาก

ขณะเดียวกัน ช่วงต้นปีที่ผ่านมา บริษัทเริ่มรุกตลาดค้าปลีกในประเทศจีน โดยลงทุนตั้งสำนักงานบริษัทเทรดดิ้งที่เมืองกวางโจว เพื่อทำหน้าที่จัดหาสินค้าป้อนให้ห้างค้าปลีกในกลุ่มบีเจซี และถือเป็นสำนักงานเทรดดิ้งสาขาที่ 8 ต่อจากลาว กัมพูชา มาเลเซีย เมียนมา สิงคโปร์ ฮ่องกง และเวียดนาม เนื่องจากประเทศจีนถือเป็นตลาดค้าปลีกขนาดใหญ่มากและมีโรงงานผลิตสินค้าจำนวนมาก สินค้ามีราคาไม่แพงมาก ซึ่งช่วงที่ผ่านมากลุ่มบิ๊กซียังไม่ได้เข้าไปลงทุนหรือเปิดสาขา ปีนี้จึงเริ่มต้นด้วยการเข้าไปตั้งสำนักงานจัดหาสินค้าเข้ามาจำหน่ายในไทยก่อน

สำหรับระยะแรกนั้น สำนักงานเทรดดิ้งในจีนจะเน้นหาสินค้าเพื่อป้อนห้างบิ๊กซีก่อนและเน้นกลุ่มนอนฟู้ด เช่น กลุ่มเสื้อผ้า กระเป๋าเดินทาง กระเป๋าแฟชั่น โดยมีทีมบีเจซี โลจิสติกส์ทำหน้าที่ช่วยผลักดันและกระจายสินค้า ล่าสุดมีสินค้าหมุนเวียนมากกว่า 3,000 รายการ สามารถทำรายได้แล้วประมาณ 300-500 ล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ส่วนแผนระยะต่อไป บริษัทเทรดดิ้งในจีนจะเชื่อมโยงการจัดหาสินค้าป้อนห้างค้าปลีกอื่นๆ ในเครือบีเจซีด้วย เพื่อจัดซื้อสินค้าเดียวกันในปริมาณมากทำให้ได้ราคาที่คุ้มค่ากว่า และในอนาคตหากมีปริมาณที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ บีเจซีสามารถขยายการลงทุนตั้งโรงงานผลิต ขยับขึ้นเป็นดิสทริบิวเตอร์ในระดับภูมิภาคตามนโยบายของกลุ่มที่ต้องการทำธุรกิจครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ

ต้องถือว่ายุทธศาสตร์ของทีซีซี กรุ๊ป การผลักดันธุรกิจอย่างต่อเนื่องเพื่อยึดทั้งกระบวนการ ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำเป็นสิ่งที่เจริญให้ความสำคัญเป็นข้อแรก การเปิดธุรกิจในมาเลเซียและจีนจะเดินตามแผนไม่ต่างจากเวียดนาม และเป็นแผน Synergy ระหว่าง 2 บริษัทหลัก คือ บีเจซีกับไทยเบฟเวอเรจ ซึ่งตั้งเป้าหมายการขยายธุรกิจยึดตลาดอาเซียนเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ การเลือกเวียดนามเป็นจุดยุทธศาสตร์แรกในอาเซียนจึงเริ่มต้นและเดินหน้าในแนวเดียวกันเพื่อเป็นฐานหลักปูทางรุกประเทศเป้าหมายต่อไป เนื่องจากเวียดนามเป็นประเทศที่เศรษฐกิจขยายตัวโดดเด่นสุดในอาเซียน โดยปี 2560 มูลค่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ขยายตัวถึง 6.8% ขณะที่ไตรมาสแรกปี 2561 ขยายตัวราว 7.1% ซึ่งถือเป็นอัตราการเติบโตสูงสุดในรอบ 10 ปี และไตรมาส 2 ยังขยายตัวต่อเนื่องที่ 6.8%

ในตลาดเวียดนาม ทีซีซีเริ่มต้นจากการให้บีเจซีเร่งสร้างฐานธุรกิจต้นน้ำ โดยลงทุนซื้อกิจการโรงงานเต้าหู้เบอร์ 1 และปลากระป๋อง เพื่อผลิตสินค้ารวมทั้งลงทุนกับพันธมิตรระดับโลก บริษัท โอเว่น อิลลินอยส์ (โอ-ไอ) และไซง่อน เบียร์แอลกอฮอล์เบฟเวอเรจ (ซาเบโก) มีการตั้งโรงงานผลิตขวดแก้วที่ใหญ่สุดในเวียดนาม ด้วยงบลงทุนกว่า 1,500 ล้านบาท

ธุรกิจกลางน้ำ มีการวางระบบจัดจำหน่ายและกระจายสินค้า ซื้อกิจการกระจายสินค้ารายใหญ่ของประเทศทั้ง ไทคอร์ป 1 ใน 3 รายใหญ่ของธุรกิจดิสทริบิวชั่น และภูไท จนมีเครือข่ายกระจายสินค้าครอบคลุมกว่า 60 จังหวัด ตั้งแต่ภาคเหนือจรดใต้ของประเทศเวียดนาม มีร้านค้าขายในมือมากกว่าแสนจุดทั่วประเทศ

ธุรกิจปลายน้ำ ทีซีซี กรุ๊ป ทุ่มเงินซื้อกิจการร้านค้าปลีกร้านสะดวกซื้อ “แฟมิลี่มาร์ท” ในเวียดนาม บวกกับร้านบีสมาร์ท และทุ่มงบกว่า 28,000 ล้านบาท ซื้อห้างค้าปลีกประเภทชำระเงินสด (แคช แอนด์ แครี่) เมโทร เวียดนาม จำนวน 19 ร้าน ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น เอ็มเอ็ม เมก้า มาร์เก็ต

นอกจากนี้ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ยังเข้าซื้อหุ้น 53.59% ของบริษัท ไซง่อน เบียร์ แอลกอฮอล์ เบฟเวอเรจ คอร์เปอเรชั่น หรือ ซาเบโก (Sabeco) มูลค่า 156,000 ล้านบาท กลายเป็นยักษ์ใหญ่เบียร์ของอาเซียน

ด้านผลการศึกษา Global Power of Retailing 2018 Deloitte Touche Tohmatsu ระบุว่า ธุรกิจค้าปลีกในอาเซียนมีโอกาสเติบโตสูงมาก คาดปี 2561 มูลค่าค้าปลีกใน 10 ประเทศ ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และไทย จะมีรายได้ราว 1.5-1.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

ที่น่าสนใจคือ เมื่อพิจารณาอัตราการเติบโตช่วงปี 2554-2561 พบว่า อุตสาหกรรมค้าปลีก ประเทศเวียดนาม มีอัตราการเติบโตสูงสุดถึง 12.7% ตามด้วยอินโดนีเซีย 9.4% มาเลเซีย 9.2% และฟิลิปปินส์ 8.2% ตามลำดับ ส่วนที่มีการเติบโตที่ต่ำสุดเป็นอุตสาหกรรมค้าปลีกไทย เฉลี่ยเพียง 3.9% หรือราว 3.6 ล้านล้านบาท ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความพยายามเจาะภูมิภาคอาเซียนของกลุ่มยักษ์ค้าปลีกในไทย

ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเซ็นทรัล ซึ่งช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2556-2560) ปูพรมการลงทุนในเวียดนาม ทั้งการประมูลยึดบิ๊กซีในเวียดนาม เม็ดเงินลงทุนกว่า 36,800 ล้านบาท ขยายธุรกิจแฟชั่น 49 แห่ง ได้แก่ ห้างโรบินส์ เดลาลา ซูเปอร์สปอร์ต และ มาร์ค แอนด์ สเปนเซอร์ ธุรกิจฮาร์ดไลน์ 78 แห่ง ได้แก่ ห้างเหงียนคิม ร้านบีทูเอส รวมแล้วมีห้างร้านกระจายอยู่ทั่วประเทศเวียดนาม 217 ร้าน ครอบคลุมพื้นที่กว่า 700,000 ตรม. ใน 37 จังหวัด

กลุ่มเซ็นทรัลยังตั้งเป้าอีก 5 ปีข้างหน้าจะมีร้านค้าทั้งหมดรวมกว่า 753 ร้าน ครอบคลุมพื้นที่กว่า 2,500,000 ตร.ม. ใน 57 จังหวัด นอกจากนี้ เปิดห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล อินโดนีเซีย และเตรียมเปิดโครงการเซ็นทรัล ไอ-ซิตี้ (มาเลเซีย) ในเดือนตุลาคม 2561

หรืออย่างกลุ่มโฮมโปรมีการขยายสาขาถึง 6 สาขาในประเทศมาเลเซีย กลุ่มอินเด็กซ์ลิฟวิ่งมอลล์ไปทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ แม็คโครขยายไปประเทศกัมพูชา

แน่นอนว่า ระยะเวลา 2 ปีแรกของการบริหารกิจการไฮเปอร์มาร์เก็ต “บิ๊กซี” ของทีซีซี กรุ๊ป แม้ดูเป็นหน้าใหม่ในวงการค้าปลีก แต่การเดินเกมยึดทั้งกระบวนการ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เสริมด้วยเทรดดิ้งและโลจิสติกส์ที่แข็งแกร่ง

ประเมินเกมตอนนี้ ยุทธการยึดตลาดอาเซียนของเจริญกำลังก้าวเข้าสู่จุดไคลแม็กซ์สำคัญแล้ว

ใส่ความเห็น