วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > ท่องเที่ยวบูม-ทัวร์จีนมา สังคมไทยหรือใครได้ประโยชน์??

ท่องเที่ยวบูม-ทัวร์จีนมา สังคมไทยหรือใครได้ประโยชน์??

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าสังคมไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลไกภาครัฐ จะพยายามเน้นย้ำความสำเร็จในการส่งเสริมธุรกิจอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยในฐานะที่เป็นจักรกลในการเสริมสร้างรายได้และหนุนนำภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ให้สามารถหลุดพ้นจากภาวะซบเซาที่ดำเนินต่อเนื่องยาวนานได้

ตัวเลขสถิติทั้งในมิติของจำนวนนักท่องเที่ยวและปริมาณรายได้ที่หน่วยงานภาครัฐนำเสนอออกสู่สาธารณะในฐานะที่เป็นปัจจัยบ่งชี้ความสำเร็จและผลสัมฤทธิ์ในเชิงนโยบาย หลั่งไหลออกมาเป็นระยะควบคู่กับมาตรการส่งเสริมการตลาดท่องเที่ยว ด้วยหวังจะโหมประโคมให้การท่องเที่ยวเป็นธุรกิจอุตสาหกรรมหลักในการฉุดกระชากซากเน่าทางเศรษฐกิจที่จมอยู่ในปลักแห่งความถดถอยมาเกือบทศวรรษ ทั้งจากวิกฤตความขัดแย้งและความไม่แน่นอนทางการเมือง ต่อเนื่องมาสู่ความด้อยปัญญาและประสิทธิภาพในการบริหาร และยุคเปลี่ยนผ่านในสมัยแห่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในปัจจุบัน

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการนำเสนอแผนประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวในช่วงที่ผ่านมา ดูจะภาคภูมิใจต่อความเติบโตของธุรกิจการท่องเที่ยวไทยเป็นอย่างมาก และนำเสนอตัวเลขที่เชื่อว่าเป็นดัชนีบ่งชี้ความสำเร็จในรูปของประมาณการรายได้ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวขึ้นนี้

กรณีดังกล่าวได้รับการขับเน้นจากการแถลงแผนการท่องเที่ยวปี 2562 เมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยททท. เชื่อว่าการท่องเที่ยวไทยยังจะเติบโตต่อไปอีกในอัตราร้อยละ 12 ซึ่งจะสร้างให้เกิดรายได้จากการท่องเที่ยวมูลค่ารวมกว่า 3.46 ล้านล้านบาท แม้ว่าในห้วงเวลาแห่งการแถลงแผนท่องเที่ยวของ ททท. สังคมไทยกำลังถูกตั้งคำถามว่าด้วยมาตรฐานความปลอดภัย ควบคู่กับประเด็นว่าด้วยข้อเท็จจริงและรายละเอียดของผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวที่มีอยู่ในสังคมไทยก็ตาม

ข้อมูลที่น่าสนใจสำหรับการเติบโตขึ้นของธุรกิจท่องเที่ยวไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก็คือการหลั่งไหลเข้ามาของนักท่องเที่ยวชาวจีน ดูจะกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่หนุนเสริมให้การท่องเที่ยวไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงมกราคมถึงพฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยรวมมากถึงกว่า 5 ล้านคน เป็นการเพิ่มขึ้นด้วยอัตราเร่งเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ที่อยู่ในระดับ 4 ล้านคนโดยกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬาประเมินว่านักท่องเที่ยวชาวจีนเหล่านี้นำพาให้เกิดรายได้เข้าประเทศไทยมากถึง 2.7 แสนล้านบาท

การเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ดำเนินต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2559 แม้จะส่งผลเชิงบวกต่อตัวเลขภาพรวมของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย และได้รับการประเมินว่าเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ที่สร้างเสริมรายได้ให้กับภาคธุรกิจการท่องเที่ยวของไทย

หากแต่การเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจีนในอีกด้านหนึ่งกลับกลายเป็นช่องทางหลักที่กลุ่มทุนจีนเห็นโอกาสในการลงทุนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแบบครบวงจร ชนิดที่เรียกได้ว่าเป็นกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำกระทั่งสิ้นสุดที่ปลายน้ำ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจากชาติเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร ร้านขายสินค้าที่ระลึก บริษัทนำเที่ยว ศูนย์รวมความบันเทิง ซึ่งสามารถรองรับความต้องการของตลาดท่องเที่ยวจีน ตั้งแต่ระดับกลางถึงระดับล่างเลยทีเดียว

กิจกรรมและกิจการของนักธุรกิจจากจีนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย ในลักษณะผูกขาดและกินรวบดังกล่าว นอกจากจะติดตามมาด้วยเรื่องมาตรฐานการให้บริการ ซึ่ง ททท. พยายามจะพัฒนาศักยภาพและยกระดับสถานบริการต่างๆ ของไทยเพื่อให้บริการนักท่องเที่ยวแล้ว กรณีการรุกคืบของกลุ่มทุนธุรกิจท่องเที่ยวจากจีน ยังส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการท้องถิ่นในทุกระนาบ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโรงแรมที่พัก ธุรกิจร้านอาหารตามแหล่งท่องเที่ยว ร้านขายของที่ระลึก ซึ่งสร้างผลกระทบดิ่งลึกลงไปถึงในระดับท้องถิ่น ชุมชน โดยชาวบ้านที่เคยมีรายได้จากการขายสินค้าให้แก่นักท่องเที่ยวต้องเผชิญกับภาวะถดถอยลงจนในที่สุดอาจไม่มีรายได้จากนักท่องเที่ยวจีนเลย

หากประเมินแบบนักเศรษฐศาสตร์ หรือแบบนักธุรกิจที่ให้ค่าความสำคัญกับตัวเลขดัชนีผลกำไร-ขาดทุน หรือผลตอบแทนของปัจจัยการผลิต กรณีการเข้ามาของกลุ่มทุนจีนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย อาจให้ภาพที่แตกต่างออกไป และอาจนำไปสู่ข้อโต้แย้งที่ว่า กลุ่มทุนจีนที่เข้ามาประกอบกิจกาารในไทย ถึงที่สุดก็ยังต้องใช้วัตถุดิบและทรัพยากรในประเทศไทยในการประกอบการ และตอบแทนสิ่งเหล่านี้ในรูปของภาษีสรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม และยังมีส่วนช่วยให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนไทย ซึ่งไม่น่าจะส่งผลเสียหายอย่างใด

แต่ประเด็นที่น่าสนใจมากไปกว่านั้นอยู่ที่กระบวนการบังคับใช้กฎหมายและระเบียบข้อบังคับ ซึ่งย่อมเป็นบทบาทหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ไทยในการปฏิบัติอย่างโปร่งใส และด้วยความเข้มงวด ซึ่งถือเป็นประเด็นปัญหาที่สั่งสมและบั่นทอนความน่าเชื่อถือของระบบราชการไทยมาอย่างเนิ่นนาน

ข้อเท็จจริงและความเป็นไปของโลกทุนนิยมที่ดำเนินอยู่ในปัจจุบัน ย่อมเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่ผู้ประกอบการธุรกิจต่างพยายามแสวงหาช่องทางในการประกอบกิจการค้า และมุ่งสร้างรายได้ผลกำไรที่เป็นกอบเป็นกำ ประเด็นสำคัญคงอยู่ที่ว่ารัฐไทย ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่มีกฎหมายที่รัดกุม และมีการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดในการดูแลและบริหารความรับผิดชอบที่มีประสิทธิภาพหรือไม่

ตัวอย่างของลักษณะการเข้ามาประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวของกลุ่มทุนจีน ในมิติหนึ่งอยู่ที่เช่าอาคารที่พักหรืออพาร์ตเมนต์ในระยะยาว แล้วปรับเป็นห้องพักแบบรายวันเพื่อรองรับกรุ๊ปทัวร์จากจีน ซึ่งดูจะหมิ่นเหม่ต่อการไม่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม ปัญหาจึงอยู่ที่หน่วยงานที่รับผิดชอบของรัฐพบเห็นหรือประเมินเรื่องราวดังกล่าวนี้ด้วยทัศนะอย่างไร

ข้อมูลที่น่าสนใจจากบริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ระบุว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดเชียงใหม่มีกลุ่มลูกค้าชาวจีนให้ความสนใจเป็นอย่างมาก โดยในปีที่ผ่านมาลูกค้าชาวจีนมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 60 และคาดว่าจะขยับไปเป็นร้อยละ 70

บริบทที่เกิดขึ้นในเชียงใหม่ ความน่าสนใจไม่ได้จำกัดเฉพาะอยู่ที่การมีสายการบินที่สามารถบินตรงจากจีนแผ่นดินใหญ่ หรือเขตปกครองพิเศษของจีน 15 สายการบินใน 14 เส้นทาง และจำนวนเที่ยวบินที่มากถึง 36 เที่ยวบินต่อวัน ซึ่งทำให้มีนักท่องเที่ยวและนักลงทุนจากจีนเดินทางมาเชียงใหม่ประมาณ 1.4 ล้านคน และคาดว่าในปี 2561 จะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาเชียงใหม่กว่า 2 ล้านคนเท่านั้น หากยังอยู่ที่ข้อเท็จจริงที่ว่า นักลงทุนจีนบางส่วนมองเห็นโอกาสในการลงทุน รวมไปถึงการส่งบุตรหลานมาเรียนต่อในไทย โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ อีกด้วย

ความเป็นไปในกรณีดังกล่าวมีประเด็นที่น่าสนใจอยู่ที่ชาวจีนที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยเหล่านี้ มาด้วยวัตถุประสงค์ในวีซ่าเข้าเมืองอย่างไรบ้าง เพราะในขณะที่ชาวจีนเหล่านี้เข้ามาประกอบการ ไม่ว่าจะโดยการใช้ชื่อคนไทยเป็นนอมินีบังหน้า แล้วจ้างคนงานจีนอย่างเอิกเกริก พวกเขาเหล่านี้มี work permit หรือใบอนุญาตทำงานในประเทศไทยหรือไม่ หรือมีเพียงวีซ่านักท่องเที่ยว แต่อาศัยช่องว่างหรือความย่อหย่อนในการปฏิบัติราชการของตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจท้องที่ ฝ่ายปกครองท้องถิ่น สรรพากร และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ในการประกอบธุรกรรม

บทเรียนจากกรณีเหตุเรือล่มที่ภูเก็ตเมื่อไม่นานมานี้ เป็นตัวอย่างที่ดีที่ว่า รัฐไทยไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบต่อโศกนาฏกรรมดังกล่าว ในลักษณะที่จะระบุว่าการประกอบการของบริษัททัวร์จีนเป็นเหตุทำให้นักท่องเที่ยวจีนประสบภัยเองอย่างหยาบๆ ได้ เพราะในฐานะเจ้าของพื้นที่ ความเสียหายที่เกิดขึ้นกำลังส่งผลลุกลาม ไม่เฉพาะต่อกิจกรรมการท่องเที่ยวของไทยเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการเพิ่มบาดแผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย ที่ดูเหมือนว่ารัฐไทยหวงแหน แม้ในความเป็นจริงจะไม่เหลือภาพลักษณ์ใดๆ ให้ได้ชื่นชมแล้วก็ตาม

การอนุมัติเงินช่วยเหลือของคณะกรรมการบริหารกองทุนช่วยเหลือเยียวยานักท่องเที่ยวที่ประสบภัยเหตุเรือล่ม จำนวน 63.96 ล้านบาท เพื่อเยียวยานักท่องเที่ยวจีนจากเหตุเรือล่มที่จังหวัดภูเก็ต เป็นเพียงมาตรการปลายเหตุ หากแต่ต้นเหตุไม่ว่าในส่วนของการเป็นบริษัทนำเที่ยวและผู้ให้บริการเรือที่เป็นบริษัทจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย หรือการเป็นนอมินีหรือไม่ และจะดำเนินการตามฐานความผิดเหล่านี้อย่างไรต่างหาก เป็นสิ่งที่สังคมไทยควรร่วมพิจารณา

เพราะการท่องเที่ยวไทยที่กำลังเติบโตขึ้น และเป็นกลไกในการเสริมสร้างภาวะเศรษฐกิจไทยควรรังสรรค์ประโยชน์ให้กับสังคมไทย ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่แท้จริงมากกว่าการเล็งผลเลิศในมิติของตัวเลข ที่ไม่รู้ว่าใครหรือผู้ใดได้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้กันแน่อย่างที่เป็นอยู่

ใส่ความเห็น