โคเวิร์กกิ้งสเปซหรือออฟฟิศสเปซในไทยกลายเป็นตลาด “Red Ocean” ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วพร้อมๆ กับคู่แข่งขันยักษ์ใหญ่ที่มีจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะการแห่เข้ามาบุกตลาดของบรรดาบริษัทข้ามชาติ แย่งชิงพื้นที่ทำเลทองใจกลางธุรกิจ เพื่อเจาะความต้องการของกลุ่มสตาร์ทอัพและคนทำงานฟรีแลนซ์รุ่นใหม่ กำลังซื้อสูง
ข้อมูลจากบริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ “เจแอลแอล” ระบุว่า ผู้ประกอบการโคเวิร์กกิ้งสเปซหลายราย ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกกำลังเร่งหาโอกาสเข้ามาเปิดธุรกิจในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่มีแผนเข้ามาลงทุนเต็มรูปแบบ โดยต้องการพื้นที่สำนักงานขนาดใหญ่ระหว่าง 1,000-3,000 ตารางเมตรในอาคารสำนักงานเกรดเอตั้งอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้า หรือรถไฟฟ้าใต้ดิน
เฉพาะช่วง 3 เดือนแรกปีนี้ เจเอลแอลได้เป็นตัวแทนผู้ประกอบการรายใหญ่ในการเช่าพื้นที่สำนักงาน เพื่อเตรียมเปิดโคเวิร์กกิ้งสเปซ พื้นที่ 5,000 ตร.ม. และอยู่ระหว่างการจัดหาพื้นที่ เจรจาสัญญาเช่าให้ผู้ประกอบการรายอื่นๆ คิดเป็นพื้นที่รวมกว่า 15,000 ตร.ม. ส่วนใหญ่ต้องการเช่าพื้นที่ขนาดประมาณ 3,000 ตร.ม. ต่อแห่ง
ขณะที่บริษัท ซีบีอาร์อี (ประเทศไทย) สำรวจข้อมูลพบว่า เจ้าของโครงการอาคารสำนักงานหลายรายที่มีแนวคิดก้าวหน้าเริ่มวางนโยบายบริหารพื้นที่ที่มีความยืดหยุ่นให้แก่ผู้เช่า ทั้งการมีโคเวิร์กกิ้งสเปซของตนเองและการมีผู้ให้บริการโคเวิร์กกิ้งสเปซเป็นผู้เช่าในอาคาร เพื่อเติมเต็มความต้องการและไลฟ์สไตล์คนทำงานฟรีแลนซ์ โดยคาดการณ์ปี 2561 จะมีผู้ให้บริการโคเวิร์กกิ้งสเปซจากต่างชาติเข้ามาเปิดให้บริการพื้นที่มากถึง 18,000 ตร.ม. ในกรุงเทพฯ
ทั้งนี้ มีบริษัทต่างชาติที่ออกมาประกาศแผนรุกตลาดชัดเจน เช่น บริษัท สเปซเซส ผู้ดำเนินธุรกิจ โคเวิร์กกิ้งสเปซ “สเปซเซส” จากประเทศเนเธอร์แลนด์ เผยแผนปี 2561 จะเปิดตัวสำนักงานพร้อมใช้งาน หรือโคเวิร์กกิ้งสเปซ ในประเทศไทย จำนวน 3-4 แห่ง เนื่องจากเห็นความต้องการใช้งานของธุรกิจสตาร์ทอัพ และเอสเอ็มอีในไทยสูงมาก โดยล่าสุดเปิดตัวสเปซเซสที่โครงการซัมเมอร์ฮิลล์ ศูนย์รวมสินค้าเชิงไลฟ์สไตล์ใกล้สถานีรถไฟฟ้าพระโขนง เนื้อที่กว่า 1,260 ตร.ม. คิดอัตราค่าใช้บริการต่อรายเริ่มต้น 4,620 บาทต่อเดือน และเตรียมเปิดให้บริการแห่งที่ 2 บนอาคารจัตุรัสจามจุรี สามย่าน เนื้อที่ 2,169 ตร.ม. ส่วนอีก 2 แห่งอยู่ระหว่างการพิจารณาทำเลที่ตั้ง
สำหรับ “ฮับบ้า” วางแผนเปิดเพิ่มอีก 3 แห่ง จากปัจจุบันเปิดแล้ว 3 แห่ง และขยายพื้นที่เป็น 1,000-1,200 ตร.ม. จากเดิมมีสาขาใหญ่สุด 850 ตร.ม. เนื่องจากมองเทรนด์การเติบโตของไทยกำลังเป็นไปในลักษณะเดียวกับประเทศสิงคโปร์และฮ่องกง ซึ่งมีโคเวิร์กกิ้งสเปซใหญ่กว่าไทยถึง 5 เท่า
ขณะเดียวกัน บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ชูจุดขายด้านไลฟ์สไตล์อย่าง “แสนสิริ” ล่าสุดประกาศลงทุน 2,800 ล้านบาท เข้าร่วมถือหุ้นใน 6 ธุรกิจด้านเทคโนโลยีและไลฟ์สไตล์ชั้นนำของโลก เพื่อขยายฐานการลงทุนในธุรกิจอื่นที่มีแนวโน้มเติบโตสูงในตลาดโลก ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ การร่วมถือหุ้นในบริษัท จัสท์โค (JustCo) ผู้ให้บริการโคเวิร์กกิ้งสเปซใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลังชิมลางจับมือกับบริษัท ฮับบา ไทยแลนด์ เปิด “ฮับบาโตะ (HUBBA-TO)” สถานที่ทำงานนอกบ้านและออฟฟิศ ที่เรียกว่า โค-ครีเอชั่น คอมมูนิตี้ (Co-Creation Community) ในโครงการฮาบิโตะย่านสุขุมวิท 77 และได้ผลตอบรับจากกลุ่มเป้าหมายในระดับหนึ่ง
ปัจจุบัน บริษัทจัสท์โค เปิดให้บริการโคเวิร์กกิ้งสเปซทั้งหมด 11 แห่ง และมีแผนขยายสาขาใหม่อีก 20 แห่งในในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2561 โดยปักหมุดในกรุงเทพฯ 4 แห่ง เช่น อาคารเอไอเอ สาทร อาคารเอไอเอ แคปปิตอล รัชดาฯ รวมทั้งจะขยายธุรกิจร่วมกันอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม แม้ด้านหนึ่งการมีผู้เล่นมากขึ้นจะทำให้ตลาดขยายตัว แต่อีกด้านหนึ่ง หากผู้ประกอบการไม่สามารถตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายได้อย่างแท้จริง ย่อมมีโอกาส “เจ๊ง” ได้เช่นกัน
กวิน ว่องกุศลกิจ กรรมการผู้จัดการบริษัท เฮอริเทจ เอสเตทส์ จำกัด และผู้ก่อตั้งโกลว์ฟิช หนึ่งในผู้บุกเบิกธุรกิจโคเวิร์กกิ้งสเปซเมื่อเกือบ 10 ปีก่อน กล่าวว่า เมื่อก่อนน้อยคนที่รู้จักคำว่า “โคเวิร์กกิ้งสเปซ” แต่ปัจจุบันแห่เปิดตัวจำนวนมาก ทั้งบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่หันมาใช้พื้นที่เปิดโคเวิร์กกิ้งสเปซและบริษัทที่มาจากต่างประเทศ ซึ่งเชื่อว่าคงจะมีหลายแห่งไปไม่รอด เนื่องจากไม่มีการปรับตัวให้สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่ไม่ใช่ต้องการเข้ามาทำงานเพียงอย่างเดียว
ล่าสุด โกลว์ฟิชต้องยกเครื่องปรับธุรกิจครั้งใหญ่ท่ามกลางสถานการณ์การแข่งขันที่รุนแรง โดยปิดโกลว์ฟิชสาขาสยามสแควร์ เนื่องจากหมดระยะสัญญาเช่าพื้นที่และต้องการขยายฐานลูกค้าระดับพรีเมียมมากขึ้น ขณะที่สาขาอโศกทาวเวอร์ ซึ่งเป็นสาขาแรกและเปิดมานานกว่า 9 ปี จะมีการปรับโฉมและเพิ่มความเป็นไลฟ์สไตล์มากขึ้น รวมทั้งลงทุนอีก 600 ล้านบาท เปิดโกลว์ฟิชสาขาสาทรที่ฉีกแนวธุรกิจโคเวิร์กกิ้งสเปซในประเทศไทยอย่างสิ้นเชิง
กวินกล่าวว่า บริษัทต้องการเปิดเซกเมนต์ใหม่เป็นไลฟ์สไตล์เวิร์กสเปซ รูปแบบใหม่ โดยรวมบริการเซอร์วิส ออฟฟิศ และธุรกิจไลฟ์สไตล์รีเทลเข้าไว้ด้วยกัน เนื้อที่รวม 4,000 ตร.ม. สร้างไลฟ์สไตล์ เวิร์กกิ้งสเปซ และคอมมูนิตี้ เพื่อตอบโจทย์บุคลิกการทำงานของกลุ่มลูกค้าที่ต่างกัน ไม่ว่าจะกลุ่มที่ Introvert ที่ต้องการออฟฟิศที่เป็นสัดส่วน กลุ่ม Extrovert ที่ชอบสไตล์การทำงานแบบใช้พื้นที่ร่วมหรือ Collaborative space โดยบริการเซอร์วิสออฟฟิศ อัตราค่าเช่าเริ่มต้น 37,000 บาทต่อเดือน
มีบริการอีเวนต์สเปซขนาดใหญ่ พื้นที่ 400 ตร.ม. ดีไซน์ระบบแสงและเสียงระดับไฮเอนด์ มีมีทติ้งสเปซหลากสไตล์ เพิ่มความคิดสร้างสรรค์ระหว่างการประชุม
มีโซนสันทนาการ Work-Life Balance คือ ฟิตเนสระดับโลก Physique 57 และ Base สำหรับคนชอบออกกำลังกาย โซนไดน์นิ่ง สเปซ (Dining Space) ขนาดใหญ่จาก Kuppadeli, Viet Concept และเตรียมดึงพาร์ตเนอร์อื่น ๆ เพื่อสร้างคอมมูนิตี้ของโกลว์ฟิช เหมือนฝูงปลาที่แหวกว่ายสื่อสารกัน ทั้งทางธุรกิจและไลฟ์สไตล์ สามารถสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ได้ตลอดเวลา
กวินย้ำว่า เหตุผลสำคัญที่ทำให้เวิร์กกิ้งสเปซได้รับความนิยมมากเพราะปัจจุบันเป็นช่วงเวลาของคนยุคมิลเลนเนียล ซึ่งจากการศึกษาวิจัยพบว่าคนยุคมิลเลนเนียลมุ่งมั่นต้องการประสบความสำเร็จในอาชีพการงานและต้องการมีคุณภาพชีวิตในการทำงานที่ดี (Work Life Balance) ด้วย ให้คุณค่ากับการพัฒนาตัวเอง และมองหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ ตลอดเวลา ทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์พัฒนาโมเดลโคเวิร์กกิ้งสเปซเพื่อตอบสนองกับการทำงานและไลฟ์สไตล์ของคนยุคปัจจุบัน ไม่ใช่การทำงานในออฟฟิศแบบเดิม
ที่สำคัญ พฤติกรรมดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในไทย แต่เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยคาดการณ์ว่าในปีนี้ทั่วทั้งโลกจะมีโคเวิร์กกิ้งสเปซทั้งหมด 17,725 แห่ง จากปีที่แล้ว 14,411แห่ง เติบโตขึ้นถึง 20% และภายในปี 2022 จะมีมากถึง 30,432 แห่ง
นอกจากนี้ การพัฒนาโมเดลใหม่ “ไลฟ์สไตล์ เวิร์กกิ้งสเปซ” ของโกลว์ฟิชยังเป็นกลยุทธ์สร้างความแตกต่างจากโคเวิร์กกิ้งสเปซทั่วไปที่เปิดตัวจำนวนมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั้งในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ด้วยกัน ตลาดค้าปลีกและร้านอาหาร
ไม่ว่าจะเป็นการปรับโฉมร้านท็อปส์เดลี่และร้านสะดวกซื้อ “แฟมิลี่มาร์ท” ของบริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด โดยเพิ่มมุมโคเวิร์กกิ้งสเปซ หรือโอเพ่นสเปซ ให้ลูกค้าสามารถนั่งทำงานหรือนั่งพักผ่อน พร้อมฟรีไว-ไฟ (Wi-Fi) ปลั๊กสำหรับชาร์จมือถือและจุดเสียบ USB พร้อมบริการต่างๆ เช่น ถ่ายเอกสาร ปรินต์ ส่งแฟกซ์ เคลือบบัตร บริการจ่ายบิลล์ Cen Pay และบริการรับส่งเอกสารเคอร์รี่เอ็กซ์เพรส
ก่อนหน้านี้ กลุ่มเซ็นทรัลยังเปิดตัว “บีทูเอส ธิงค์สเปซ” เปลี่ยนร้านหนังสือธรรมดาเป็นศูนย์รวมไลฟ์สไตล์ สถานที่แห่งที่ 3 นอกเหนือจากบ้านและออฟฟิศ โดยเพิ่มโซนสำคัญชิ้นใหม่ NETWORKING SPACE เป็นพื้นที่กิจกรรมเจาะกลุ่มสตาร์ทอัพ และเพิ่มบริการ Co-Working Space สำหรับนั่งทำงานหรือเจรจาธุรกิจ คิดค่าบริการเพียงวันละ 199 บาท ซึ่งบีทูเอสดึงเอไอเอสเข้ามาให้บริการอินเทอร์เน็ตฟรีในพื้นที่ มีร้านอาหาร COVER ll COVER Eat & Drink ที่เป็นร้านโปรเจ็กต์ร่วมกับเชฟพล ตัณฑเสถียร และร้านคาเฟ่จากบาริสต้าชื่อดัง Amatissimo เพิ่มความพรีเมียมมากขึ้น
แน่นอนว่า ตลาดโคเวิร์กกิ้งสเปซกำลังเป็นธุรกิจดาวรุ่งเทรนด์ใหม่ในปี 2561 แต่สมรภูมินี้ถ้าไอเดียไม่เจ๋งจริง ตอบโจทย์คนยุคมิลเลนเนียลไม่ได้ โอกาสรอดยาก!!