วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > วอริกซ์-สเตเดี้ยมวัน เมื่อ DNA นักรบธุรกิจเจอกัน

วอริกซ์-สเตเดี้ยมวัน เมื่อ DNA นักรบธุรกิจเจอกัน

เดือนพฤษภาคมนี้ บริษัท วอริกซ์ สปอร์ต จะเผยโฉม “วอริกซ์ช็อป” ภายใต้แนวคิด “ช้างศึกเมกะสโตร์” แฟลกชิปสโตร์แห่งแรกในโครงการสเตเดี้ยมวัน ซึ่งถือเป็นสปอร์ตคอมมูนิตี้มอลล์แห่งแรกในประเทศไทย และเป็นแห่งแรกในอาเซียนด้วย

ที่สำคัญเป็นการผนึกกำลังของนักธุรกิจคนรุ่นใหม่ที่มี DNA เหมือนกัน การพยายามหาจุดต่าง โอกาส และช่องว่างการเติบโต ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายทั้งในแง่เงินทุนและชื่อเสียงเมื่อเทียบกับทายาทเครือข่ายขนาดใหญ่ในประเทศไทย

วิศัลย์ วนะศักดิ์ศรีสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท วอริกซ์ สปอร์ต จำกัด กล่าวกับ “ผู้จัดการ 360” ว่า แบรนด์วอริกซ์ หรือ Warrix จากคำว่า นักรบ หรือ Warrior และมาจากชื่อที่มี “ว” 2 ตัว รวมทั้งสะท้อนเส้นทางธุรกิจที่ผ่าน “วิกฤต” มากมายกว่าจะมาถึงวันนี้ ที่บริษัทสามารถสร้างรายได้ยอดขายพุ่งกระฉูดถึง 300%

วิศัลย์ถือเป็นนักธุรกิจหนุ่ม วัยเพียง 44 ปี จบชั้นประถมและมัธยมจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ช่วงวัยเด็กที่บ้านมีฐานะดีมากจากธุรกิจค้าขายไม้ จนกระทั่งอายุ 14 ปี ธุรกิจครอบครัวเจอวิกฤต “ล้ม” อย่างสิ้นเชิง แต่ด้วยความเป็นเด็กเรียนเก่งและสอบได้ที่ 1 ของรุ่น ทำให้ได้เรียนฟรี รวมทั้งรับสอนพิเศษให้เพื่อน โดยคิดค่าจ้างชั่วโมงละ 50 บาท และช่วยครูถ่ายภาพตามงานต่างๆ ตั้งแต่เรียนชั้น ม.2 ได้เงินวันละ 400 บาท ไม่ว่างานแต่งงาน งานรับปริญญา และงานศพ ถือเป็นอาชีพที่ส่งเสียตัวเองจนเรียนจบ

เมื่อเรียนจบระดับชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนฯ วิศัลย์ตัดสินใจสอบเอนทรานซ์เข้าคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะตั้งเป้าหมายต้องเป็นเจ้าของกิจการที่มั่นคง ไม่ซ้ำรอยครอบครัวที่เจอวิกฤตจนธุรกิจล้มเหลว

เขาเริ่มทำงานกับบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย ในตำแหน่งนักการตลาด ฝ่ายผู้แทนจำหน่าย เป็นเวลา 3 ปี หลังจากนั้นเข้าทำงานในเครือบริษัท นันยาง ในตำแหน่งฝ่ายขายต่างประเทศ ระหว่างนั้นเองที่เริ่มเห็นช่องว่างของตลาดนิชมาร์เก็ต (Niche Market) กลุ่มออเดอร์ไม่มากหรือต้องการสินค้าอย่างรวดเร็ว ซึ่งโรงงานส่วนใหญ่มักปฏิเสธและต้องการรับเฉพาะออเดอร์ล็อตใหญ่ ทิ้งออเดอร์จำนวนไม่มากแต่ให้ราคาดีเหล่านี้ตลอด จึงเป็นช่องโอกาสให้ตัดสินใจเริ่มดำเนินธุรกิจของตัวเอง เปิดบริษัท คัฟเวอร์แนนท์ ค่อยๆ พัฒนาการตัดเย็บด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ จนมีการร่วมมือวิจัยพัฒนาจีวรพระกันยุงที่ทำให้หลายคนเริ่มรู้จักวิศัลย์ในฐานะเอสเอ็มอีที่มีนวัตกรรม

ช่วงเวลาหลายปี วิศัลย์เดินหน้าใช้นวัตกรรมและคิดค้นแนวทางสร้างความแตกต่างทางผลิตภัณฑ์ โดยใช้เทคโนโลยี Hydro-Tech ลงในใยผ้าผลิตเสื้อโปโล ทำให้ดูดซับเหงื่อ ป้องกันรังสียูวี และระบายอากาศได้ดี เปิดช่องเจาะตลาดเสื้อผ้ายูนิฟอร์มในกลุ่มบริษัทชั้นนำและโรงเรียนนานาชาติ กระทั่งปี 2556 ตัดสินใจตั้งบริษัท วอริกซ์ สปอร์ต จำกัด โดยใช้โมเดล Sport License Business เจาะตลาดเสื้อกีฬาอย่างเต็มตัว ภายใต้แบรนด์ “วอริกซ์” (Warrix)

ปลายปี 2559 บริษัท วอริกซ์สปอร์ต น้องใหม่ในวงการกลายเป็น “ม้ามืด” ทุ่มเม็ดเงิน 400 ล้านบาท คว้าสิทธิ์การออกแบบผลิตและจัดจำหน่ายชุดแข่งฟุตบอลทีมชาติไทย ระยะเวลา 4 ปี ตั้งแต่ปี 2560-2563 รวมทั้งได้รับลิขสิทธิ์ผลิตชุดแข่งขันฟุตบอลให้สโมสรฟุตบอลต่างๆ มากมาย

ในช่วงจังหวะที่อุตสาหกรรมกีฬากำลังเติบโตชนิดหยุดไม่อยู่ กระแสความนิยมกีฬาฟุตบอลมาแรงและชุดกีฬากลายเป็นเทรนด์แฟชั่นของกลุ่มคนทั่วไป ตั้งแต่เด็ก วัยรุ่น วัยทำงานจนถึงอายุ 40 ปีขึ้นไป โดยมีบรรดานักกีฬาเป็นทั้งผู้นำแฟชั่นและไอดอลของกลุ่มลูกค้ารุ่นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นกีฬาฟุตบอล วิ่ง ปั่นจักรยาน เต้นแอโรบิก โยคะ เวทเทรนนิ่ง หรือแม้แต่ออกกำลังกายด้วยอุปกรณ์ออกกำลังกายต่างๆ ในฟิตเนสและที่บ้าน ส่งผลให้กลุ่มผู้รักการออกกำลังกายเป็นกลุ่มเป้าหมายทางการตลาดขนาดใหญ่ จำนวนมากกว่า 16–17 ล้านคน

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเคยคาดการณ์ยอดจำหน่ายชุดกีฬาในประเทศปี 2558 อยู่ที่ระดับ 12,000 ล้านบาท และมีโอกาสพุ่งไปอยู่ที่ 15,000 ล้านบาทใน 5 ปีข้างหน้า หรือในปี 2563 หรือขยายตัวเฉลี่ยราวร้อยละ 5 ต่อปี โดยฐานลูกค้ามีตั้งแต่ระดับกลางจนถึงระดับไฮเอนด์

ล่าสุด บริษัท วอริกซ์ สปอร์ต จำกัด ผู้รับสิทธิ์ออกแบบ ผลิต และจัดจำหน่ายชุดแข่งขันและเครื่องแต่งกายทัพช้างศึกไทยอย่างเป็นทางการ ประกาศเปิดตัวชุดแข่งขันฟุตบอลทีมชาติไทยประจำปี 2018 ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ภารกิจแห่งเกียรติยศ” (MISSION OF HONOR) โดยชูจุดขายสำคัญเรื่องนวัตกรรมและเทคโนโลยีล้ำสมัยมาตรฐานเดียวกับสโมสรชั้นนำของโลก

วิศัลย์กล่าวว่า ชุดแข่งขันฟุตบอลทีมชาติไทยปี 2018 ชื่อว่า “CHANGSUEK THE GENESIS’ (ช้างศึก เดอะ เจเนซิส) ซึ่งสื่อความหมายถึงปฐมบทของฟุตบอลไทยในยุคใหม่ การต่อสู้ครั้งใหม่ที่กำลังจะเริ่มขึ้น และจุดเริ่มต้นอย่างเป็นทางการภายใต้การบริหารงานของสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยชุดใหม่ มีการกำหนดยุทธศาสตร์ เพื่อการพัฒนากีฬาฟุตบอลของประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน การกำเนิดตราสัญลักษณ์ช้างศึกแบบใหม่ที่มีความดุดัน และเป็นสากลมากขึ้น ผสานกับโฉมใหม่ของวอริกซ์ สปอร์ตแบรนด์สัญชาติไทย เทคโนโลยีเทียบเท่าแบรนด์ระดับโลก มีทั้งหมด 5 สี ได้แก่ ชุดแข่งเหย้า–สีน้ำเงิน ชุดแข่งเยือน–สีแดง ชุดแข่งที่ 3–สีขาว ชุดผู้รักษาประตูเหย้า–สีเขียว และชุดผู้รักษาประตูเยือน–สีเทา

นอกจากการเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ จากปี 2560 ซึ่งต้องยอมรับว่า ภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวดีนักจนทำให้ยอดการเข้าชมกีฬาลดวูบลงด้วย ต้องถือว่า ปี 2561 เป็นจุดสตาร์ตการรุกธุรกิจครั้งใหญ่ การเปิดตัวชุดแข่งขันฟุตบอลทีมชาติไทยปี 2018 และการเผยโฉม “วอริกซ์ เมกะสโตร์” เพื่อเป็นแฟลกชิปสโตร์แห่งแรกและแห่งเดียวในสเตเดี้ยมวัน สปอร์ตคอมมูนิตี้มอลล์ ภายใต้การบริหารของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มี DNA ธุรกิจไม่แตกต่างกัน

สำหรับ “สเตเดี้ยมวัน” หลังเปิดตัวโครงการเมื่อปี 2560 ปัจจุบันกลายเป็นเดสทิเนชั่นของกลุ่มคนเล่นกีฬาและออกกำลังกายใจกลางเมือง เนื้อที่มากกว่า 10 ไร่ โดยแม็กเน็ตหลักๆ ทั้งร้านค้ามากกว่า 129 ร้าน แบรนด์สปอร์ตมากกว่า 50 ร้าน สตูดิโอออกกำลังกาย และลานกิจกรรมขนาดใหญ่ One Arena

การเกิด “สเตเดี้ยมวัน” ไม่ต่างจาก “วอริกซ์” เริ่มต้นทีมผู้บริหารคนรุ่นใหม่ 4 คน คือ พงศ์วรรธน์ ติยะพรไชย เจ้าของธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น, สิทธิชัย ศรีสงวนสกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอส.จี.ดี อินเตอร์เทรดดิ้ง จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายระบบกล้องวงจรปิดแบบครบวงจรแบรนด์ฟูจิโกะ (FUJIKO), ถนอมเกียรติ สัมมาวุฒิชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอฟเวอร์เอ็นจ์ จำกัด ผู้แทนจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้าครบวงจร และณัฐภัค รีกิจติศิริกุล ทั้ง 4 คนจบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่างรุ่นต่างปีกันเกือบ 10 ปี แต่มีไลฟ์สไตล์ชอบออกกำลังกายเหมือนกัน

ทั้ง 4 คนแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน จนในที่สุดตัดสินใจลงขันเปิดบริษัท เดอะ สปอร์ต โซไซตี้ เข้าร่วมประมูลสิทธิ์การบริหารพื้นที่บริเวณจุฬาฯ ซอย 6 ซึ่งสำนักงานจัดการทรัพย์สินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยวางมาสเตอร์แพลนเป็นโซน “Sport” บริเวณสนามกรีฑาสถานต่อเนื่องถึงจุฬาฯ ซอย 12 ซึ่งเป็นแหล่งซื้อขายสินค้าอุปกรณ์กีฬาระดับตำนานยาวนานกว่า 20 ปี

ปรากฏว่า บริษัท เดอะ สปอร์ต โซไซตี้ น้องใหม่ในวงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ฝ่าด่านคู่แข่งรายใหญ่อีก 4 บริษัท คว้าสัมปทานสัญญาระยะแรก 7 ปี เพราะแนวคิดที่แตกต่างและตอบโจทย์ของ “สเตเดี้ยมวัน”

พงศ์วรรธน์กล่าวว่า ตามมาสเตอร์แพลนของจุฬาฯ วางคอนเซ็ปต์การพัฒนาพื้นที่บริเวณกรีฑาสถานแห่งชาติ รูปแบบ Bike and Run แต่บริษัทมอง Bike and Run เป็นแค่ส่วนหนึ่งของ Sport เพราะไม่แน่ใจว่า Bike and Run จะอยู่ต่อไปแค่ไหน แต่เทรนด์ที่อยู่ต่อไปแน่นอน คือ Sport ทำให้มีการปรับแผนของจุฬาฯ ขยายกว้างมากขึ้น ซึ่งโครงการเดอะสเตเดี้ยม วัน สามารถตอบโจทย์ทั้งหมด โดยแบ่งพื้นที่ 3 โซนหลัก ประกอบด้วยโซน ร้านค้าปลีก (Sport Retail) มีร้านค้าปลีก จำนวน 129 ร้าน พื้นที่ค้าปลีก 5,000 ตารางเมตร โซนอาคารกีฬาในร่ม (Active Lifestyle) พื้นที่ 5,600 ตร.ม. และลานอีเวนต์ (Event in Action) พื้นที่อีก 2,000 ตร.ม.

ขณะที่สัดส่วนไอเทมของโครงการแยกเป็น 5 ส่วน คือ Sport มีแม็กเน็ตหลัก คือ แฟลกชิปสโตร์ “วอริกซ์ช็อป” ช้างศึกสโตร์ เนื่องจากกีฬาฟุตบอลเป็นความขลังของย่านสนามศุภชลาศัย และเป็นมนต์เสน่ห์ของกีฬาในยุคปัจจุบัน

ส่วนที่ 2 กลุ่ม Multi Brand ถือเป็นสเปเชียลลิสต์ในแต่ละวงการ ทั้งวงการฟุตบอล วงการวิ่ง อุปกรณ์กีฬา ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากบรรดาร้านค้าอุปกรณ์กีฬาในพื้นที่ ส่วนที่ 3 กลุ่มเมดิคอล คลินิก สปา ร้านนวด ซึ่งจะเชื่อมโยงกับส่วนที่ 4 กลุ่มสตูดิโอ ฟิตเนส

ส่วนสุดท้าย กลุ่มร้านอาหาร เพื่อรองรับไลฟ์สไตล์ของคนยุคปัจจุบัน โดยมีจุดขายร้านอาหารเก่าแก่ชื่อดังในย่านถนนบรรทัดทอง เช่น ร้านก๋วยเตี๋ยวเรือแม่จันทร์ ร้านบรรทัดทองโภชนา ก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาเจ้าเด็ด ขึ้นชื่อมากว่า 40 ปี ร้านมิ้งโภชนา เจ้าของตำนานหมูสะเต๊ะแห่งย่านบรรทัดทอง เปิดมาแล้วกว่า 80 ปี ร้านส้มตำสุดแซ่บ “แหลกไม่แหลก” ร้านฮั้วคิทเช่น ที่มีเมนูเด็ดก๋วยเตี๋ยวคั่วไก่ ราดหน้า สุกี้ ข้าวหมูทอดกะเพรากรอบ และร้านเช็งซิมอี๊ ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องความหลากหลายของเครื่องกว่า 50 ชนิด

ดังนั้น ทั้ง “วอริกซ์” และ “สเตเดี้ยมวัน” ต่างเป็นจุดแข็งซึ่งกันและกัน เหนือสิ่งอื่นใดตอกย้ำให้เห็นความสำเร็จของนักธุรกิจคนรุ่นใหม่ที่สามารถเติบโตแซงหน้าบริษัทยักษ์ใหญ่ชนิดเขย่าวงการได้เช่นเดียวกัน

ใส่ความเห็น