“มาลี” เร่งกลยุทธ์รุกตลาดโลกขนานใหญ่ เพื่อสร้างรายได้ทดแทนยอดขายในประเทศที่เจอพิษเศรษฐกิจรุมกระหน่ำต่อเนื่อง โดยล่าสุดทุ่มเม็ดเงิน 330 ล้านบาท ซื้อกิจการบริษัทร่วมทุน ลอง ควน เซฟ ฟู้ด จำกัด ผู้ผลิตเครื่องดื่มในเวียดนาม หลังจากจับมือกลุ่มมอนเด นิชชิน คอร์ปอเรชั่น ตั้งบริษัทร่วมทุนในฟิลิปปินส์ และผนึกกำลังกับบริษัท พีที คีโน่ อินโดนีเซีย เปิดฐานธุรกิจในอินโดนีเซีย สยายปีกเจาะกลุ่มลูกค้าทั่วอาเซียน
ทั้งสามดีลในช่วงเวลา 2 ปีกว่าๆ เป็นการเปิดเกมเชิงรุกตามแผนยุทธศาสตร์การผลักดันรายได้ทะลุเป้าหมายหมื่นล้านบาทภายในปีนี้ หรืออย่างช้าที่สุดไม่เกินปี 2562 พร้อมจ่อขึ้นแท่นเป็นผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มสุขภาพระดับโลกภายในปี 2564
รุ่งฉัตร บุญรัตน์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท มาลีกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทวางเป้าหมายยอดขายในปี 2561 จะเติบโตกว่า 30% จากปีก่อน ผลจากการลงทุนทั้งในและต่างประเทศในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเพื่อออกผลผลิตใหม่มากขึ้น โดยเฉพาะการเร่งสัดส่วนยอดขายต่างประเทศจาก 40% เป็น 60% ภายใน 3 ปี
แน่นอนว่า แผนการสร้างเครือข่ายกับพันธมิตรต่างประเทศ ด้านหนึ่งเพื่อสร้างฐานการส่งออกสินค้า อีกด้านหนึ่งเพื่อเพิ่มสินค้าในพอร์ตให้หลากหลายมากขึ้น ทั้งกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม เนื่องจากตลาดน้ำผลไม้มีการแข่งขันสูงมากและผู้บริโภคมีตัวเลือกในตลาดเครื่องดื่มจำนวนมาก ดูจากส่วนแบ่งการตลาดของมาลีที่มีสัดส่วนลดลง ทั้งในแง่ภาพรวมตลาดน้ำผลไม้ที่ลดลง 8% จากมูลค่าตลาดรวม 12,500 ล้านบาท และตลาดน้ำผลไม้พรีเมียมลดลง 7% จากเดิมมีส่วนแบ่ง 20% ของมูลค่าตลาด 5,000 ล้านบาท
มาลีกรุ๊ปจึงต้องเร่งขยายพอร์ตสินค้าใหม่เจาะตลาดแมสมากขึ้น จากปัจจุบันมีธุรกิจหลัก 2 กลุ่ม ได้แก่ 1. ธุรกิจตราสินค้าของมาลีกรุ๊ป แบ่งเป็น 2 กลุ่มธุรกิจ ประกอบด้วยธุรกิจเครื่องดื่ม เช่น น้ำผัก และน้ำผลไม้บรรจุกล่องยูเอชทีและพาสเจอร์ไรซ์ ภายใต้เครื่องหมายการค้าตระกูล “มาลี” เช่น มาลี, มาลี เวจจีส์, มาลีเฮลติพลัส, มาลี ไลท์, มาลี นิวเทรียน, มาลี จู๊ซ มิกส์, มาลี ฟูดส์ เซอร์วิส, มาลี ทรอปิคอล, มาลี โคโค่, มาลี โพรไบโอติก รวมถึงน้ำดื่มบรรจุกระป๋อง กล่องยูเอชที และขวดพลาสติก PET แบรนด์ “มาลี”
นอกจากนี้ มีนมโคสดบรรจุกล่องยูเอชทีและขวดพาสเจอร์ไรซ์ตราฟาร์มโชคชัย น้ำนมข้าวโพด มาลี ไอคอร์น กาแฟกระป๋อง เทอร์บัสต้า แม๊กซ์ ตรา Malee Oriental Coffee และน้ำผลไม้ “ฮาวดี้”
กลุ่มที่ 2 ธุรกิจแปรรูปผลไม้และขนมหวาน ภายใต้แบรนด์มาลี เฟิร์สช้อยส์ ชาวสวนและมาลี ฟูดส์ เซอร์วิส
ส่วนธุรกิจหลักอีกกลุ่มเป็นธุรกิจพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามสัญญาและรับจ้างผลิต ทั้งในและต่างประเทศ
ทั้งนี้ การจับมือกับพันธมิตรต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นยักษ์คอนซูเมอร์ในฟิลิปปินส์ มอนเด นิชชิน เจ้าของแบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปลัคกี้มี และบิสกิต “วอยซ์” โดยตั้งบริษัทร่วมทุน “มอนเด้ มาลี เบฟเวอเรจ” เพื่อส่งสินค้าแบรนด์มาลีออกไปจำหน่ายในฟิลิปปินส์และสร้างตราสินค้าร่วมกัน
ขณะเดียวกัน การจับมือกับบริษัทคอนซูเมอร์รายใหญ่ในอินโดนีเซีย พีที คีโน่ อินโดนีเชีย โดยตั้งบริษัทร่วมทุน 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท มาลี คีโน่ ประเทศไทย เพื่อดำเนินธุรกิจในไทยและส่งออกสินค้าของมาลีกรุ๊ปเข้าไปจำหน่ายในอินโดนีเซีย และบริษัท พีที คีโน่ มาลี อินโดนีเซีย เพื่อผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าในอินโดนีเซีย ซึ่งพีที คีโน่ อินโดนีเซีย มีความแข็งแกร่งในการจัดจำหน่ายและกระจายสินค้า มีศูนย์กระจายสินค้ากว่า 30 แห่ง ครอบคลุมร้านค้ามากกว่า 1 ล้านแห่งในอินโดนีเซีย รวมทั้งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตและการทำตลาดผลิตภัณฑ์ยอดนิยมติดอันดับต้นๆ
สำหรับดีลล่าสุด การซื้อกิจการบริษัท ลอง ควน เซฟ ฟู้ด ซึ่งมีโรงงานผลิตเครื่องดื่มครบวงจร กำลังการผลิต 300 ล้านลิตรต่อปี สามารถผลิตเครื่องดื่มได้หลายชนิด ทั้งน้ำดื่ม น้ำอัดลม เครื่องดื่มเจลลี่ทั้งรูปแบบกระป๋อง ขวดพลาสติก และขวดแก้ว
ที่สำคัญ ลอง ควน เซฟ ฟู้ด ซึ่งมีช่องทางการจัดจำหน่ายครอบคลุมและมีเครือข่ายพันธมิตรแข็งแกร่งมากจะกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตเครื่องดื่ม เพื่อเจาะตลาดผู้บริโภค ทั้งในเวียดนาม ไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และตลาดอื่นๆ ทั่วอาเซียน
ต้องยอมรับว่า การเปิดแนวรบเจาะตลาดอาเซียนถือเป็นภารกิจเร่งด่วนที่ท้าทายรุ่งฉัตรอีกครั้งในฐานะผู้บริหารเจนใหม่ของมาลีกรุ๊ป หลังจากเคยจัดกระบวนทัพครั้งใหญ่ เปลี่ยน “มาลีสามพราน” กลายเป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่มน้ำผลไม้ “นิวเจเนอเรชั่น” เปิดเซกเมนต์ใหม่ในกลุ่มเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพจากธรรมชาติ หรือ “Natural Functional Juice” เมื่อปี 2556
กลางปี 2560 รุ่งฉัตรตัดสินใจเปิดภารกิจใหม่ ประกาศปรับทิศทางการดำเนินธุรกิจจาก ‘ผู้ผลิตน้ำผลไม้’ สู่ “ผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพระดับโลก” ภายใต้กลยุทธ์ ‘4R’ เริ่มจากรีแบรนด์ (Rebrand) ตรามาลี ซึ่งพัฒนาการจาก “มาลีสามพราน” ก่อนเปลี่ยนเป็น “มาลีกรุ๊ป” เมื่อปี 2559 และล่าสุดเปลี่ยน Brand Identity ให้ทันสมัย สื่อความเป็นสากลและสะท้อนความเป็นตัวตนของมาลี ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Growing Well Together”
รีออกาไนซ์ (Reorganize) ปรับโครงสร้างองค์กรทั้งระบบ จัดทัพทีมผู้บริหารใหม่ ไม่ว่าจะเป็นโอภาส โลพันธ์ศรี กรรมการผู้จัดการ หรือ ชญาณิสา กรีพลฤกษ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายงานการตลาดและการขาย
รีโนเวท (Renovate) ทุ่มงบลงทุนกว่า 1,500 ล้านบาท ปรับปรุงสถานที่ทำงาน เครื่องจักร และกระบวนการทำงาน ตั้งแต่กระบวนการผลิต การวิจัยและพัฒนา ระบบการควบคุมคุณภาพสินค้า และระบบ Back Office
สุดท้าย คือ รีคอนเนค (Reconnect) เสริมบริษัทพาร์ตเนอร์ชั้นนำ พัฒนาช่องทางขายและการจัดจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ เพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลายและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งจังหวะขณะนี้ มาลีกรุ๊ปกำลังอยู่ในขั้นตอน “รีคอนเนค” เพิ่มเครือข่ายพันธมิตร เพื่อครอบคลุมตลาดมากที่สุด
เป้าหมายของรุ่งฉัตรเหมือนจะเริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรม แต่ตัวเลขหมื่นล้านจะสำเร็จหรือไม่ ปีนี้รู้กัน