“ท่านประธานอาวุโส ธนินท์ เจียรวนนท์ บอกว่า โครงการสร้างผู้นำในธุรกิจเพื่ออนาคตเป็นการออกค่าเล่าเรียน ไม่ได้มองว่า จะได้กำไรตั้งแต่โมเดลแรก แต่วันหนึ่งจะประสบความสำเร็จ และสิ่งที่ได้มากกว่าร้านอาหาร คือ ผู้นำ เห็นใครมุมานะ ใครไม่ย่อท้อ ใครคิดมีชั้นเชิง คนเหล่านี้ประมาณค่าไม่ได้ เขาอาจทำธุรกิจอาหารไม่สำเร็จ แต่อาจไปสำเร็จในธุรกิจเทเลคอม เราเห็นแววจากการทำธุรกิจนี้ และไม่ได้มีคอนแทร็กต์ผูกมัดต้องอยู่ซีพี มีสิทธิ์เลือกกันและกัน…”
ดร.วรรณวิรัช วิรัชนิภาวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วายแอนด์โอ จำกัด และรองผู้อำนวยการสถาบันผู้นำ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) หรือ C.P. Leadership Institute กล่าวถึงแนวคิดและเป้าหมายในโครงการสร้างผู้นำในธุรกิจเพื่ออนาคตของธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือซีพี ซึ่งเริ่มต้นอย่างจริงจังเมื่อปี 2560 และกำลังต่อยอดสร้างโมเดลธุรกิจที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่มีอาชีพและสามารถเป็นเจ้าของธุรกิจ ภายใต้โครงการปั้นเถ้าแก่น้อยสู่เวทีโลก โดยมีบริษัทวายแอนด์โอเป็นเวทีเปิดโอกาสให้ผู้นำรุ่นใหม่เหล่านี้เข้ามาประลองฝีมือชั้นเชิงการทำธุรกิจ
ทั้งนี้ การค้นหาโมเดลธุรกิจต้นแบบจะเริ่มต้นจากการหาไอเดียของกลุ่มผู้นำคนรุ่นใหม่ หรือ Young Talent ซึ่งคัดเลือกจากกลุ่มนักศึกษาและบัณฑิตจบใหม่จากมหาวิทยาลัย ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ รวมถึงพนักงานในเครือซีพีที่มีอายุไม่เกิน 28 ปี เข้ามาทำงานร่วมกัน เพื่อกลั่นกรองแนวคิด สร้างรูปแบบและเริ่มต้นดำเนินธุรกิจจริงในสมรภูมิการแข่งขันจริง โดยอาศัยเงินลงทุนจากเครือซีพีจนสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นคง ก่อนเปิดเป็นธุรกิจต้นแบบให้นักลงทุนคนรุ่นใหม่หรือเถ้าแก่น้อยเข้ามาจับจองเป็นเจ้าของกิจการ
อย่างไรก็ตาม ดร.วรรณวิรัชย้ำว่า นี่ไม่ใช่การขายแฟรนไชส์แบบ 100% เพราะวายแอนด์โอจะเป็นเสมือนที่ปรึกษาทางธุรกิจให้บรรดาเถ้าแก่น้อยรายใหม่ๆ เพื่อเลือกลงทุนธุรกิจโมเดลต่างๆ ที่ผ่านการพิสูจน์แล้ว สามารถสร้างรายได้และทำกำไร
ขณะเดียวกัน การสร้าง Young Talent ยังเป็นการคัดสรรผู้ร่วมงานที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าการลงทุนจัด “จ็อบแฟร์” โดยเฉพาะการได้พนักงานคนรุ่นใหม่ที่สามารถสร้างสรรค์ไอเดีย “เจ๋งๆ” และมีความเป็นผู้นำสูง ซึ่งช่วงระยะ 1 ปีที่ผ่านมา เครือซีพีได้เปิดโปรแกรม Young Talent รวม 2 รุ่น รุ่นแรก 230 คน มีทั้งคนไทยและคนจีน รุ่นที่ 2 จำนวน 236 คน ทั้งคนไทย จีน และอินเดีย ระยะเวลาการฝึกตามโปรแกรม 6 เดือนต่อรุ่น ส่วนรุ่นที่ 3 บริษัทเริ่มเปิดคัดเลือกแล้วตั้งแต่ต้นปี 2561
สำหรับ Young Talent ทั้ง 2 รุ่นที่ผ่านมา เมื่อจบโปรแกรม ในแง่คนไทยจะสามารถเป็นพนักงานเครือซีพีต่อได้ ส่วนชาวต่างชาติจะเดินทางกลับประเทศ ซึ่งเขาสามารถลงทุนทำธุรกิจตามโมเดลธุรกิจที่เข้าโปรแกรมในบ้านเกิดได้
ล่าสุด โครงการ Young Talent ภายใต้บริษัทวายแอนด์โอสามารถสร้างสรรค์โมเดลธุรกิจและดำเนินธุรกิจแล้ว จำนวน 10 แบรนด์ โดยเปิดสาขาตามศูนย์การค้าต่างๆ เริ่มจากแบรนด์แรกสุด ร้านอาหารจีนสไตล์โมเดิร์น “มังกรทอง” มีเมนูหลัก เช่น ข้าวขาหมูคุโรบูตะ ข้าวหมูแดง ราคาเฉลี่ยต่อจาน 40-90 บาท
2. ร้านอาหารญี่ปุ่น Ramen Habu เน้นเมนูราเมนรสชาติต้นตำรับจากจังหวัดต่างๆ ในประเทศญี่ปุ่น เช่น ฮะโกะดาเตะราเมน (ชิโอราเมน) ฟุกุโอกะราเมน (ทงคัตสึราเมน) โตเกียวราเมน (โชยุราเมน) และซับโปะโรราเมน (มิโซะราเมน) ราคาเฉลี่ย 85-135 บาท
3. ร้านอาหารญี่ปุ่น Gohango เน้นอาหารสไตล์เบนโตะ เมนูข้าวหน้าต่างๆ เช่น ข้าวหน้าหมูชาชู ราคาเฉลี่ย 85-125 บาท
4. ร้านเป็ดโปรด มีเมนูหลัก คือ ข้าวหน้าเป็ดย่าง
5. ร้านปรุงสุข สไตล์ร้านข้าวแกง กับข้าวสำเร็จรูป ราคาเฉลี่ย 40-90 บาท
6. Sit Nature ร้านอาหารที่นำเสนอเมนูอาหารสุขภาพ ราคาเฉลี่ย 69-169 บาท
7. ร้านอาหารแนวเส้น “จอมยุทธ์” เช่น ราดหน้า ผัดซีอิ๊ว เส้นเล็กน้ำต้มยำ ราคาเฉลี่ย 65-95 บาท
8. ปาปาเบอร์เกอร์ (PaPa’s Burger) ซึ่งมีซิกเนเจอร์เมนูอย่างเบอร์เกอร์กุ้ง เฟรนช์ฟรายส์ ราคาเฉลี่ย 100-150 บาท
9. ร้านไก่ทอดฟรายด์เดส์ Lifestyle Quick Service Restaurant ที่ครบเครื่อง หลุดกรอบ และชูแบรนด์ไก่ทอดสไตล์ไทยผสมผสานไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ เน้นเมนูไก่ทอดหลากหลาย เพื่อให้ลูกค้าสามารถใช้เวลาได้ตลอดทั้งวันและทุกวัน (ALL DAY @ FRIEDDAYS)
สุดท้าย มินิฟู้ดคอร์ท เดอะ เซนส์ ฟู้ด คอมเพล็กซ์ เพื่อเป็นโชว์รูมแสดงร้านอาหารในกลุ่ม Young Talent ล่าสุดมีร้านจำนวน 7 แบรนด์ ยกเว้นปาปาเบอร์เกอร์และฟรายด์เดส์ นอกจากนี้ ยังเพิ่มเติมร้านอาหารชื่อดังในพื้นที่ด้วย
ดร.วรรณวิรัชเปิดเผยถึงแผนขยายสาขาในปี 2561 ว่า เบื้องต้น บริษัทตั้งเป้าขยายร้านปาปาเบอร์เกอร์และราเมงฮาบุ เพิ่มอีกแบรนด์ละ 20 สาขา เนื่องจากอยู่ในเทรนด์การบริโภคตามไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่และใช้พื้นที่ครัวไม่มาก ทำเลเป้าหมายมีทั้งคอมมูนิตี้มอลล์ ห้างสรรพสินค้า สถานีบริการน้ำมัน อาคารสำนักงาน
ขณะที่ร้านแบรนด์อื่นๆ อาจยังไม่มีการขยายเพิ่มเติม เพราะต้องการวางระบบและดูการตอบรับของกลุ่มลูกค้าอีกระยะหนึ่ง ส่วนร้านฟรายด์เดส์ซึ่งเปิดให้บริการเมื่อปลายปีที่ผ่านมาถือเป็นโมเดลธุรกิจขนาดใหญ่ คาดว่าปีนี้จะขยายไม่เกิน 5 สาขา เพื่อสร้างสาขานำร่องในหัวเมืองต่างๆ
นอกจากนี้ เตรียมเปิดตัวร้านอาหารแบรนด์ใหม่ ชื่อ Get Away Cafe เน้นจำหน่ายเมนูเบเกอรี่ พิซซ่า และกาแฟ รูปแบบร้านสไตล์คนรุ่นใหม่ ซึ่งมั่นใจว่าจะได้รับการตอบรับอย่างดี ทั้งในแง่กลุ่มผู้บริโภคและกลุ่มนักลงทุนคนรุ่นใหม่ เนื่องจากเป็นร้านที่อยู่ในความฝันของบรรดาเถ้าแก่ใหม่
“ถ้าพูดถึงธุรกิจร้านอาหารบริการด่วนหรือคิวเอสอาร์ในไทยยังสามารถพัฒนาได้อีกมาก เพียงแต่ต้องรักษาคุณภาพ มาตรฐาน และสร้างเสน่ห์ ไม่ใช่เป็นบล็อกๆ ต้องยืดหยุ่นได้ในเรื่องโอเปอเรชัน และไม่จำเป็นต้องเป็นแค่ร้านไก่ทอด หมูทอด ถ้าสามารถสร้างบริการที่รวดเร็วและมีเสน่ห์ อย่างในฮ่องกง ร้านชาบูก็เรียกคิวเอสอาร์ ร้านข้าวต้มก็เรียกคิวเอสอาร์ หรือแม้กระทั่งอเมริกันเบรกฟาสต์ เพราะเขาสามารถบริการได้รวดเร็ว ใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมงสามารถให้บริการลูกค้าถึง 400 คิว ตรงนี้เป็นโจทย์และโอกาสของธุรกิจคิวเอสอาร์ของไทย”
เร็วๆ นี้ บริษัทยังเตรียมเปิดตัวธุรกิจดีลิเวอรี่อย่างเป็นทางการ ภายใต้ชื่อ “แดชดี” (DASHdii) ซึ่งเป็นธุรกิจตัวใหม่ล่าสุด และน่าตื่นเต้นที่สุดของกลุ่ม Young Talent โดยเริ่มทดลองให้บริการส่งสินค้าอาหารของแบรนด์ต่างๆ ในเครือวายแอนด์โอตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา และในอนาคต หากระบบการดำเนินงานต่างๆ ลงตัวทั้งหมดจะขยายบริการดีลิเวอรี่ไปยังกลุ่มสินค้าอื่นๆ ทั้งในและนอกเครือซีพี
เหตุผลสำคัญ คือ ธุรกิจดีลิเวอรี่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากรูปแบบการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งการใช้ชีวิตเร่งรีบ มีข้อจำกัดด้านเวลา ต้องการความสะดวกสบาย และหลีกเลี่ยงการจราจรที่ติดขัด ส่งผลให้ผู้คนมีแนวโน้มเลือกใช้บริการจัดส่งอาหารแบบดีลิเวอรี่มากขึ้น ประกอบกับการใช้บริการร้านอาหารส่วนใหญ่กระจุกตัวเฉพาะช่วงกลางวัน ช่วงเย็น และในช่วงเทศกาลต่างๆ ส่งผลให้ธุรกิจร้านอาหารส่วนใหญ่ไม่สามารถสร้างรายได้อย่างเต็มที่
ผู้ประกอบการทั้งเชนร้านอาหาร และร้านอาหารทั่วไป จึงหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างรายได้เพิ่มเติมจากบริการดีลิเวอรี่และการกระตุ้นการสั่งอาหารผ่านช่องทางออนไลน์ ทั้งเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน ผ่านช่องทางที่ผู้ประกอบการพัฒนาขึ้นเอง และผ่านตัวกลางให้บริการสั่งอาหารออนไลน์ เช่น ไลน์แมน ลาล่ามูฟ หรือแม้แต่ไปรษณีย์ไทย
จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ตลาดบริการจัดส่งอาหาร หรือดีลิเวอรี่ของกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหารในปี 2560 มีมูลค่าสูงถึง 26,000-27,000 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 11-15 จากปี 2559 เติบโตเพียงร้อยละ 2-4 โดยผู้ประกอบการทั้งเชนร้านอาหารและร้านอาหารทั่วไป ต่างหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างรายได้เพิ่มเติมจากบริการดีลิเวอรี่ ส่งผลให้สัดส่วนมูลค่าตลาดบริการดีลิเวอรี่ในกลุ่มร้านอาหารทั่วไปปี 2560 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 33% ของมูลค่าตลาดบริการดีลิเวอรี่โดยรวม เทียบกับปี 2557 ที่มีสัดส่วน 30%
ขณะเดียวกัน สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย (สมาคมอีคอมเมิร์ซ) มองว่าสินค้าออนไลน์ที่เป็นที่นิยมในปี 2561 นอกจากสินค้าแฟชั่น แก็ดเจ็ตและอุปกรณ์ไอที สินค้ากลุ่มผู้หญิงแล้ว สินค้ากลุ่มอาหาร เช่น อาหารสำเร็จรูป อาหารสด อาหารแช่เย็นแช่แข็ง จะได้ความนิยมมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารกลุ่ม Young Talent ยืนยันว่า ธุรกิจทุกตัวไม่ว่าจะเป็นธุรกิจร้านอาหารหรือบริการดีลิเวอรี่ต้องใช้เวลาพิสูจน์ความเป็นไปได้ในการทำรายได้ก่อนสรุปเป็นโมเดลธุรกิจ และเปิดให้นักลงทุนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมเป็นเจ้าของกิจการตามเป้าประสงค์ของนายธนินท์ ประธานอาวุโสเครือซีพี ที่ไม่ต้องการให้เถ้าแก่น้อยต้องล้มลุกคลุกคลาน อย่างน้อยต้องทำให้เถ้าแก่แต่ละคนสามารถสร้างรายได้จากธุรกิจมากกว่า 50,000 บาทต่อเดือน ถ้าไม่สำเร็จ ไม่ทำต่อ
ในทางกลับกัน เมื่อ Young Talent รุ่นใหม่มีไอเดียร้านอาหารแนวใหม่ที่น่าสนใจและมีศักยภาพ บริษัทสามารถสร้างแบรนด์ใหม่ๆ เพิ่มเติมได้เช่นกัน
แผน Young Talent ของซีพีจึงไม่ใช่แค่ยุทธศาสตร์สร้าง “คน” แต่ยังเป็นกลยุทธ์การลงทุนขยายอาณาจักรธุรกิจอย่างแยบยลด้วย