กระแสลมหนาวที่พัดผ่านเข้ามาในช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองและเทศกาลแห่งความสุขในช่วงสิ้นปี 2560 สลับกับแสงแดดอบอุ่นที่มาพร้อมกับข่าวมหาอาณาจักรธุรกิจไทย ของตระกูลสิริวัฒนภักดี ชนะประมูลเข้าซื้อหุ้นร้อยละ 54 ในบริษัท ไซ่ง่อน เบียร์ แอลกอฮอล์ เบฟเวอเรจ คอร์ป (Saigon Alcohol Beer and Beverages Corporation: SABECO) ผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ของเวียดนามด้วยวงเงินมากถึง 4.84 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 1.6 แสนล้านบาท กำลังเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางธุรกิจ และสถานภาพของไทย เบฟเวอเรจ ให้เข้าใกล้สู่เป้าหมายตามวิสัยทัศน์ 2020 ยิ่งขึ้นไปอีก
การประมูลขายสิทธิการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน SABECO ซึ่งมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลเวียดนามในครั้งนี้ นับเป็นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่มีมูลค่ามากที่สุดของประเทศที่ยังปกครองและบริหารประเทศภายใต้แนวคิดสังคมนิยมแห่งนี้
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือ ตลอดเวลาที่ผ่านมาการประมูลสิทธิการเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ใน SABECO ถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขและข้อจำกัดการถือครองหุ้นของนักลงทุนจากต่างประเทศ ที่อนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติถือครองหุ้นได้เพียงร้อยละ 49 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด โดยก่อนหน้านี้มีผู้ประกอบการจากต่างประเทศถือครองหุ้นใน SABECO รวมแล้วประมาณร้อยละ 10 ซึ่งรวมถึงไฮเนเก้นที่ถือหุ้นใน SABECO อยู่ร้อยละ 5 ทำให้เพดานการถือหุ้นของผู้ประมูลจากต่างประเทศถูกจำกัดเพดานไว้ที่ร้อยละ 39 เท่านั้น
แต่ความพยายามที่จะลงหลักปักหมุดเข้าสู่ตลาดเวียดนามตามวิสัยทัศน์ 2020 ที่จะขยายฐานยึดครองตลาดอาเซียนของไทยเบฟเวอเรจ นำไปสู่การเข้าซื้อหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 49 ของ Vietnam F&B Alliance Investment ที่มีสถานะเป็นบริษัทสัญชาติเวียดนามและเป็นเจ้าของ Vietnam Beverage ซึ่งเป็นผู้ลงทะเบียนเข้าประมูลซื้อหุ้น SABECO ในเวลาต่อมา
การใช้บริษัทในเครือในนาม Vietnam Beverage ที่มีสถานะเป็นผู้ประกอบการท้องถิ่นเวียดนามเข้าประมูลซื้อหุ้น SABECO ทำให้สามารถทลายข้อจำกัดทางกฎหมายว่าด้วยการถือครองหุ้นเกินร้อยละ 49 ที่เป็นประหนึ่งกำแพงสำคัญในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจแห่งนี้ลงไปได้อย่างไร้คู่แข่งที่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่จากต่างประเทศเข้าต่อกร
ก่อนหน้านี้ บรรษัทผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเบียร์รายใหญ่หลายราย ไม่ว่าจะเป็น Anheuser-Busch InBev และ คิริน โฮลดิ้งส์ ต่างแสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมประมูล แต่ในที่สุดก็ปล่อยให้เครือข่ายของไทยเบฟชนะการประมูลไปโดยไม่มีผู้ประกอบการรายใดเข้าร่วมชิงชัย ภายใต้ข้อจำกัดเรื่องการอนุญาตให้ต่างชาติถือครองหุ้น
รัฐบาลเวียดนาม ซึ่งเป็นเจ้าของหุ้นใน SABECO มากถึงร้อยละ 90 ดำเนินความพยายามที่จะขายหุ้นในโรงเบียร์ของรัฐให้แก่เอกชนต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่องนานกว่า 3 ปีแล้ว ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของแผนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจของรัฐบาลเวียดนาม ที่เผชิญกับปัญหาภาระหนี้สาธารณะที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนไปอยู่ที่ระดับร้อยละ 65 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีดีพี)
นอกจากนี้ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คาร์ลสเบิร์ก บริษัทผู้ผลิตเบียร์ยักษ์ใหญ่จากเดนมาร์ก ใกล้บรรลุข้อตกลงคำเสนอซื้อหุ้นเพิ่มใน HABECO (Hanoi Beer Alcohol and Beverage Joint Stock Corp.) บริษัทผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่อีกแห่งของรัฐบาลเวียดนาม โดยปัจจุบัน คาร์ลสเบิร์ก ถือหุ้นใน HABECO อยู่แล้วประมาณร้อยละ 17.3
ความน่าสนใจของตลาดเบียร์เวียดนามในด้านหนึ่ง ตั้งอยู่บนข้อเท็จจริงที่ว่า เวียดนามเป็นตลาดเบียร์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยในปี 2015 เวียดนามมีการบริโภคเบียร์ในระดับ 3.4 พันล้านลิตร และก้าวมาสู่ระดับ 6.5 พันล้านลิตรในปี 2016 ที่ผ่านมา
สถิติที่น่าสนใจก็คือ ในปี 2008 เวียดนามเป็นประเทศที่มีการบริโภคเบียร์เป็นอันดับ 8 จาก 10 ประเทศในกลุ่มอาเซียน หากแต่ภายในระยะเวลาไม่กี่ปีให้หลัง เวียดนามกลับสามารถปีนบันไดแห่งอันดับประเทศที่มีการบริโภคเบียร์สูงขึ้น สวนทางกลับภาพรวมของการบริโภคเบียร์ในระดับนานาชาติที่ไม่ได้เติบโตมากนัก จนทำให้ตลาดเบียร์เวียดนามได้รับการจัดอันดับเป็นตลาดเบียร์ที่ใหญ่เป็นอันดับสามของเอเชียรองจากญี่ปุ่นและจีนเท่านั้น
และมีแนวโน้มจะเติบโตต่อเนื่องไปในอนาคตจากผลของไลฟ์สไตล์ และการเติบโตขึ้นของชนชั้นกลางวัยหนุ่มสาวที่กำลังก้าวขึ้นมาเป็นจักรกลหนุนนำเศรษฐกิจ
ขณะที่ประเทศไทยมีปริมาณการบริโภคเบียร์อยู่ที่ประมาณ 5.7 พันล้านลิตร และมีอัตราการเติบโตค่อนข้างไปในทิศทางชะลอตัว ภายใต้เหตุแห่งข้อกำหนดและระเบียบของทางราชการ
ภาวะชะลอตัวที่ว่านี้ย่อมไม่ใช่สิ่งพึงประสงค์สำหรับการเติบโตไปในอนาคตของไทยเบฟเวอเรจ โดยภายใต้แผนและวิสัยทัศน์ 2020 ที่กำหนดให้มีการขยายฐานธุรกิจไปสู่ต่างประเทศเพื่อเพิ่มสัดส่วนรายได้จากตลาดต่างประเทศไปสู่ระดับร้อยละ 50 ภายในปี 2020 ทำให้การเข้าครอบครอง SABECO เป็นส่วนหนึ่งในเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ ที่สำคัญยิ่งในการต่อยอดธุรกิจของไทยเบฟ
นอกจากนี้ ภูมิทัศน์ของตลาดเบียร์ของเวียดนามซึ่งประกอบส่วนด้วยผู้ประกอบการรายใหญ่จำนวน 4 รายทั้ง SABECO HABECO (Hanoi Brewery) Hue Brewery ซึ่งเป็นเบียร์ของ Carlsberg อีกแห่งหนึ่ง และ Heineken ครอบครองตลาดเบียร์เวียดนามไว้ได้ในระดับร้อยละ 64 โดยผู้ประกอบการทั้ง SABECO HABECO และ Hue Brewery ต่างสะท้อนภาพกลุ่มเป้าหมายในแต่ละท้องถิ่นอย่างชัดเจน ขณะที่ Heineken วางตำแหน่งสินค้าไว้ในกลุ่มตลาดบนเป็นสำคัญ
ขณะเดียวกัน ผู้ผลิตเบียร์จากประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนก็กำลังเบียดแทรกเข้าสู่ตลาดในระดับร้อยละ 26 โดยมีเบียร์จากนานาชาติครองส่วนแบ่งอยู่ประมาณร้อยละ 10 และกำลังรุกหนักเพื่อขยายฐานการบริโภคในเวียดนามนี้อย่างต่อเนื่อง
ความเป็นไปของตลาดเบียร์เวียดนามในมิติมุมมองของไทยเบฟเวอเรจ ย่อมต้องถือว่าเวียดนามเป็นตลาดที่มีความน่าสนใจในการเบียดแทรกตัวเข้าไปอย่างมาก และการได้ SABECO เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการรุกเข้าสู่ตลาดเวียดนามถือเป็นการช่วงชิงพื้นที่ที่สำคัญไม่น้อย
โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับตลาดเบียร์ในประเทศไทยที่กว่าร้อยละ 91 ถูกครอบครองโดยผู้ประกอบการท้องถิ่นทั้งบุญรอด บริวเวอร์รี่ ที่มีแบรนด์ สิงห์ ลีโอ และคาร์ลสเบิร์ก โลดแล่นอยู่ในตลาดควบคู่กับแบรนด์ช้างของไทยเบฟเวอเรจ หรือในกรณีของฟิลิปปินส์ที่ร้อยละ 95 อยู่ในการครอบครองของผู้ประกอบการท้องถิ่นที่มี San Miguel ครองตลาดอย่างมั่นคง
การรุกคืบเพื่อปักหมุดทางธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนตามแผนยุทธศาสตร์และวิสัยทัศน์ 2020 โดยเฉพาะในประเทศเวียดนามของไทยเบฟเวอเรจ ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในกรณีของSABECO เท่านั้น หากแต่ก่อนหน้านี้ ไทยเบฟเวอเรจ ได้เข้าถือหุ้นประมาณร้อยละ 20 ในบริษัท วีนามิลค์ หรือ เวียดนาม แดรี่ โปรดักส์ เจเอสซี (Vietnam Dairy Products JSC) ซึ่งเป็นผู้ผลิตนมรายใหญ่ที่สุดของเวียดนามมาแล้ว
ขณะที่ความพยายามที่จะขยายฐานธุรกิจและการเปิดแนวรุกเข้าสู่ตลาดอาเซียนของไทยเบฟเวอเรจ ปรากฏให้เห็นต่อเนื่อง โดยในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ไทยเบฟเวอเรจ ได้ลงทุนด้วยเม็ดเงินจำนวนกว่า 2 หมื่นล้านเพื่อเข้าซื้อหุ้นส่วนใหญ่ของกลุ่มบริษัทโรงกลั่นสุราเมียนมา (Myanmar Distillery Company Group) ซึ่งเป็นผู้ผลิตสุรารายใหญ่ที่สุดของเมียนมา ซึ่งถือเป็นการดำเนินตามแผนยุทธศาสตร์ 2020 อีกด้านหนึ่งด้วย
การขยายฐานทางธุรกิจของกลุ่มไทยเบฟเวอเรจเข้าสู่ประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนด้วยผลิตภัณฑ์และสินค้าที่หลากหลาย นอกจากจะเป็นการกระจายความเสี่ยงและขยายอาณาจักรทางธุรกิจให้ครอบคลุมพื้นที่ได้อย่างรอบด้าน และแสดงให้เห็นถึงจังหวะก้าวไปข้างหน้าตามวิสัยทัศน์ 2020แล้ว ในอีกด้านหนึ่งยังอาจให้ภาพที่แตกต่างกันออกไปจากคู่แข่งสำคัญในตลาดเบียร์ไทยอย่างบุญรอดบริวเวอรี่ ที่ต้องเผชิญกับข้อจำกัดแห่งกฎหมายที่ดูจะบีบแคบบริบททางธุรกิจให้ตีบตันเข้ามาทุกขณะ
เพราะแม้ลมหนาวและช่วงเวลาแห่งเทศกาลความสุขในช่วงสิ้นปีจะเคลื่อนตัวเขยิบใกล้เข้ามาทุกขณะ แต่ดูเหมือนว่าสมรภูมิลานเบียร์ที่เคยเป็นเวทีประลองกำลังของสองผู้ประกอบการแห่งอาณาจักรเบียร์ จะไม่ใช่สังเวียนในการพิสูจน์วัดความเป็นไปแห่งอนาคตของผู้ประกอบการนี้อีกแล้ว
บางทีสายลมหนาวที่กำลังพัดผ่านเข้ามาอาจทำให้ผู้คนในแวดวงธุรกิจบางรายรู้สึกสั่นสะท้าน และอาจต้องออกแรงเรียกพลังงาน เพื่อแสวงหาหนทางไม่ให้ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ประหนึ่งถูกแช่แข็งในระยะเวลาถัดจากนี้