นอกเหนือจากข่าวที่ไหลบ่าท่วมกระแสการรับรู้ของผู้คนไม่ว่าจะเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา 44 อำนวยความสะดวกให้กับการก่อสร้างรถไฟความเร็วปานกลางในเส้นทางกรุงเทพ-นครราชสีมา-หนองคาย ที่มีจีนเป็นผู้ดำเนินการ หรือการอนุมัติและเร่งรัดให้มีการสร้างหอชมเมืองด้วยวิธีที่ไม่ต้องประมูลเพื่อเร่งรัดให้โครงการสำเร็จลุล่วงอย่างรวดเร็วแล้ว บทวิเคราะห์ย้อนอดีตว่าด้วยวิกฤตเศรษฐกิจไทยที่ลุกลามไปเป็นวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียเมื่อปี 2540 หรือเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา ดูจะเป็นอีกบริบทหนึ่งที่มีผู้ให้ความสนใจไม่น้อย
เนื่องเพราะบทเรียนแห่งวิกฤตในครั้งนั้นยังคงส่งผลกระทบสืบเนื่องและส่วนหนึ่งฝังรากเป็นประเด็นเชิงโครงสร้างที่ดูเหมือนว่า กลไกรัฐไทยและภาคธุรกิจเอกชนไทยกำลังอยู่ในห้วงเวลาที่พร้อมจะผลิตซ้ำความผิดพลาดครั้งเก่าจากความพยายามเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจที่ดำเนินอยู่ในภาวะซึมเซายาวนานให้กลับมีสีสัน บนความคาดหวังครั้งใหม่ว่าจะช่วยฉุดกระชากเศรษฐกิจสังคมไทยออกจากหล่มโคลนให้ก้าวเดินต่อไปข้างหน้าได้
หลักไมล์แห่งการวิเคราะห์วิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ส่วนใหญ่ได้ยึดเอาวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ซึ่งเป็นวันที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ด้วยการยกเลิกการผูกติดกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ หลังจากถูกโจมตีค่าเงินอย่างต่อเนื่องในช่วงก่อนหน้านั้น ซึ่งการประกาศดังกล่าวส่งผลให้ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงอย่างมาก และส่งผลให้ปริมาณหนี้ต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยทันที และกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ส่งผลกระทบทางการเงินและเศรษฐกิจไทย ก่อนที่จะลุกลามและขยายตัวจนกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจครอบคลุมทั่วทั้งเอเชียในนาม “วิกฤตต้มยำกุ้ง”
หากแต่ในความเป็นจริงการประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 เป็นเพียงปลายยอดของภูเขาน้ำแข็งที่หักโค่นลงโดยที่ภูเขาน้ำแข็งแห่งปัญหาที่สั่งสมอยู่ใต้ผิวน้ำกำลังละลายและพังครืนจากความอ่อนแอที่เกิดขึ้นอยู่ภายในโครงสร้างที่เปราะบาง
โดย AMRO หรือสถาบันวิจัยเศรษฐกิจมหภาคอาเซียนบวกสาม (ASEAN +3 Macroeconomic Research Office) ได้เสนอบทวิเคราะห์ย้อนอดีตวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนั้นว่าแม้จะดูเหมือนว่าวิกฤตเศรษฐกิจจะเริ่มต้นขึ้นในประเทศไทย เมื่อค่าเงินบาทถูกกดดันจากการเก็งกำไรอย่างรุนแรง แต่ในความเป็นจริงความเสี่ยงต่างๆ ในภูมิภาคได้ก่อตัวมาสักระยะก่อนหน้านั้นแล้ว โดยเฉพาะความไม่สมดุลของนโยบายเศรษฐกิจมหภาค พัฒนาการจากเศรษฐกิจต่างประเทศ และความอ่อนแอของภาคการเงินและบรรษัทเอกชน
ความไม่สมดุลของภาคต่างประเทศถูกสะท้อนจากเงินทุนเอกชนที่ไหลเข้ามาอย่างมากและการลงทุนของเอกชนภายในประเทศที่สูง ซึ่งถูกกระตุ้นเพิ่มขึ้นไปอีกจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ค่าเงินบาทกลับถูกตรึงเอาไว้ตามนโยบายขณะนั้น เงินทุนที่ไหลเข้ามาป็นชนวนขับเคลื่อนการขยายสินเชื่อและการลงทุนในเกาหลีใต้ มาเลเซีย และไทย โดยเฉพาะการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์และเกิดฟองสบู่ในราคาสินทรัพย์ ซึ่งนำไปสู่เงินทุนและการกู้ยืมที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และกลายมาเป็นจุดอ่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจเหล่านี้
ประเด็นว่าด้วยความเข้มแข็งและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงมากในช่วงก่อนปี 2540ในระดับร้อยละ 10 ต่อปีอย่างต่อเนื่องกลายเป็นอีกส่วนหนึ่งของมูลเหตุแห่งความชะล่าใจ และทำให้เร่งการลงทุนขยายธุรกิจด้วยความมั่นใจในสถานการณ์โดยไม่คาดคิดว่าวิกฤตกำลังจะติดตามมา
แม้ว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไทยในห้วงเวลาปัจจุบันจะดูห่างไกลจากเงื่อนไขของสถานการณ์ในปี 2540 เพราะปัจจุบันเศรษฐกิจไทยยังมีอัตราการเติบโตเพียงร้อยละ3-4 ท่ามกลางความไม่มั่นใจของผู้ลงทุนที่จะเติมเต็มการลงทุนใหม่ๆ เข้าสู่ระบบ ขณะที่ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในภาวะฟืดเคือง โอกาสที่จะเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจครั้งใหม่ จึงไม่ได้อยู่ที่ความมั่นใจที่มีมากเกินไป หากแต่เป็นประเด็นว่าด้วยการขาดธรรมาภิบาลของกลไกเศรษฐกิจและการละเลยไม่ระมัดระวังในการควบคุม
ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวย้ำถึงความกังวลจากบทเรียน 20 ปี วิกฤตต้มยำกุ้ง ไว้อย่างน่าสนใจเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ประเด็นที่ควรได้รับความสนใจอยู่ที่ความมั่นคง การมีธรรมาภิบาล และการปล่อยสินเชื่อของสหกรณ์ออมทรัพย์ ซึ่งแม้สหกรณ์ออมทรัพย์เหล่านี้จะเป็นสมาชิกบริษัทข้อมูลแห่งชาติ หรือเครดิตบูโร แต่ผู้บริหารสหกรณ์ออมทรัพย์กลับไม่ให้ความสำคัญกับข้อมูลหนี้สินของสมาชิก และยังปล่อยสินเชื่ออย่างขาดความระมัดระวัง
กรณีที่ว่านี้รวมถึงการปล่อยสินเชื่อภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งพบว่าสถาบันการเงินบางแห่งปล่อยสินเชื่อโดยไม่มีธรรมาภิบาล จนสินเชื่อเติบโตสูงมาก และกลายเป็นความเสี่ยงที่อาจนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจในลักษณะเดียวกับที่เกิดขึ้นเมื่อ 20 ปี ที่ผ่านมา
ความตกต่ำของเศรษฐกิจไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และยังไม่มีสัญญาณที่จะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่าจะไม่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในลักษณะฟองสบู่แตกเหมือนเมื่อครั้ง 20 ปีที่ผ่านมา ได้รับการเน้นย้ำ หากแต่จุดเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ความพยายามที่จะเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ที่เกี่ยวเนื่องกับการนำพานวัตกรรมมาใช้ รวมถึงการปฏิรูประบบราชการ รัฐวิสาหกิจและการศึกษา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
มิติมุมมองที่ว่านี้ได้รับการสะท้อนออกมาเป็นทัศนะจากกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ที่ระบุว่า วิกฤตของไทยจากนี้จะเป็นประเด็นว่าด้วยขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพราะตลาดแรงงานกำลังเปลี่ยนไป เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ที่เห็นเด่นชัดคือตลาดแรงงานมนุษย์จะมีบทบาทน้อยลง ซึ่งหมายถึงการชำระภาษีของเหล่าลูกจ้างแรงงานเข้าสู่รัฐก็จะน้อยลงด้วย ขณะที่แนวโน้มการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ซึ่งมีภาระเป็นรายจ่ายงบประมาณสวัสดิการของรัฐสูงขึ้นด้วย รัฐบาลจึงควรมีแผนสำหรับรองรับประเด็นที่ว่านี้ไว้
ขณะที่บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ ผู้ประกอบการด้านสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ ประเมินเศรษฐกิจไทยด้วยท่วงทำนองที่อาจให้ความรู้สึกอย่างค่อนข้างแตกต่างจากนักวิเคราะห์และนักวิชาการส่วนใหญ่ หลังจากออกมาระบุว่า เศรษฐกิจไทยในขณะนี้เหมือนเข้าสู่ขาขึ้นและใกล้เจอทางเรียบ ปีหน้าเศรษฐกิจน่าจะดี หากไม่มีอะไรมาสะดุดขาตัวเอง
พร้อมกับระบุว่ากำลังซื้อที่เคยหดหายไป จากสถานการณ์ที่ซบเซาอย่างต่อเนื่องยาวนาน น่าจะกลับมากระเตื้องขึ้น เพราะสินค้าเกษตรปรับตัวดีขึ้น ดูจะเป็นการประเมินสถานการณ์ที่ปลอบประโลมและให้กำลังใจ แม้ว่าสถานการณ์ที่ว่านี้อาจมีผลหรือเป็นปัจจัยเสริมเชิงบวกเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปัจจัยลบที่รุมเร้า
หากแต่ในความเป็นจริง วิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่เมื่อปี 2540 ถือเป็นบทเรียนสำคัญที่สุดของการทำธุรกิจของเครือสหพัฒน์ไม่น้อย แม้สถานการณ์ในปัจจุบันยังไม่รุนแรงมากเหมือนอดีต แต่มีรูปแบบคล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะปัญหากำลังซื้อหดตัว ก่อนที่เครือสหพัฒน์จะใช้กลยุทธ์กระตุ้นยอดจำหน่ายด้วยการจัดงาน “สหกรุ๊ป เอ็กซปอร์ต แอนด์ เทรด เอ็กซิบิชั่น” ครั้งแรกในปี 2540 เพื่อเร่งจำหน่ายสินค้าในเครือให้ได้มากที่สุด และจัดต่อเนื่องมาจนถึงปีนี้เป็นครั้งที่ 21 แล้ว
สิ่งหนึ่งที่สะท้อนบทเรียนจากวิกฤตเศรษฐกิจ ปี 2540 ในด้านหนึ่งก็คือความเชื่อมั่นเป็นสิ่งที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเชื่อมั่นของสาธารณะ (Public Trust) ซึ่งประเด็นที่ว่านี้ถือเป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถในการบริหารจัดการของกลไกรัฐ เพราะ public trust ย่อมไม่สามารถสร้างให้เกิดขึ้นได้จากการโหมประโคมประชาสัมพันธ์ หากแต่เป็นผลจากการดำเนินนโยบายและการผลิตสร้างจากมาตรการที่มีความเป็นรูปธรรมและจับต้องได้
สังคมไทยต้องเผชิญกับวิกฤตทางการเมืองและสังคมมาอย่างยาวนาน หวังเพียงแต่ว่าวิกฤตเศรษฐกิจที่เริ่มปรากฏเค้าลางให้ได้เห็นจากทั้งปัจจัยภายในและสถานการณ์ระดับนานาชาติจะไม่ซ้ำเติมให้สถานการณ์ในประเทศไทยเลวร้ายไปกว่าที่ปรากฏอยู่ในเวลานี้