“ซีพีเฟรชมาร์ท” เปิดฉากเดินหน้าขยายฐานลูกค้าอย่างต่อเนื่อง หลังจากปรับโฉมงัดโมเดลล่าสุด “คอมแพ็กต์ซูเปอร์ (Compact Super)” ซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดย่อมในชุมชนเข้ามาบุกตลาดและล่าสุดกระโดดเข้าสู่สมรภูมิ “จีสโตร์” ในสถานีบริการน้ำมัน ซึ่งถือเป็นแนวรบที่มีคู่แข่งจับจองพื้นที่และต่อสู้อย่างดุเดือด
ที่สำคัญ เมื่อค่ายยักษ์ใหญ่ คือ ซีพีเฟรชมาร์ทของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เทสโก้โลตัสเอ็กซ์เพรสของเทสโก้โลตัส มินิบิ๊กซีของกลุ่มนายเจริญ สิริวัฒนภักดี และน้องใหม่ “สพาร์ (SPAR)” ของบางจาก ประกาศอัดงบลงทุนปูพรมสาขาและสร้างจุดขายอย่างเข้มข้น เพื่อยึดส่วนแบ่งในช่องทางจีสโตร์ทำให้สงครามมินิซูเปอร์มาร์เก็ตร้อนฉ่าขึ้นทันที
ทั้งนี้ แผนเบื้องต้นในปี 2560 บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ “ซีพีเอฟ” ตั้งเป้าขยายร้านซีพีเฟรชมาร์ทโมเดลใหม่ 100 สาขา และทยอยรีโนเวตสาขาเดิมจากปัจจุบันมีสาขารวมทั้งสิ้น 420 แห่ง ปรับโฉมเป็นสาขารูปแบบคอมแพ็กต์ซูเปอร์แล้ว 100 แห่ง
ในจำนวนนี้อยู่ในสถานีบริการน้ำมันแล้ว 3 แห่ง ได้แก่ สาขาปั๊มน้ำมันคาลเท็กซ์ นครอินทร์ ซึ่งปรับโฉมใหม่เพิ่ม Coffee Counter และโซน TO GO (อาหารอุ่นร้อนพร้อมรับประทาน) สาขาปั๊มน้ำมันพีที เพชรเกษม 69 และเมื่อเร็วๆ นี้ เปิดสาขาปั๊มน้ำมันซัสโก้ สาธุประดิษฐ์ 2 รูปแบบคอมแพ็กต์ซูเปอร์โฉมใหม่
ซีพีเอฟระบุว่า คอมแพ็กต์ซูเปอร์มีความแตกต่างจากคู่แข่งในแง่ความหลากหลาย (Variety) ของสินค้าหมวดปรุงอาหาร ทั้งกลุ่มวัตถุดิบอาหารสด อาหารแห้ง ผลไม้สด กลุ่มเครื่องดื่ม ซอสปรุงรสต่างๆ รวมทั้งสินค้าโกรเซอรี่ในครัวเรือนและจุดขายสำคัญ คือ จำหน่ายสินค้าในเครือซีพีเอฟและเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ทั้งหมดในราคาที่ถูกกว่า มีบัตรสมาชิกเพื่อรับส่วนลดเพิ่มขึ้นหรือสะสมแต้มแลกสินค้าพรีเมียม โดยมั่นใจว่าซีพีเฟรชมาร์ท คอมแพ็กต์ซูเปอร์จะสามารถสร้างฐานลูกค้าใหม่และขยายกลุ่มลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการในสถานีบริการน้ำมันเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว
อย่างไรก็ตาม อาจดูเหมือนซีพีเอฟยังไม่รุกขยายสาขาในปั๊มน้ำมันอย่างรวดเร็วทั้งที่ทดลองเปิดร้าน 2 แห่งในคาลเท็กซ์และพีทีตั้งแต่ปีที่ผ่านมา เนื่องจากอยู่ระหว่างการสรุปโครงสร้างธุรกิจค้าปลีก แต่หลังจากนี้ ทีมผู้บริหารจะเร่งหาทำเลพื้นที่และขยายสาขาร้านซีพีเฟรชมาร์ท คอมแพ็กต์ซูเปอร์ ในสถานีบริการน้ำมันให้ได้มากที่สุด
แหล่งข่าวในวงการค้าปลีกวิเคราะห์ว่า การรุกตลาดช่องทางจีสโตร์ของซีพีเฟรชมาร์ทจะช่วยเติมเต็มและเสริมความแข็งแกร่งให้เครือซีพีมากขึ้น เพราะด้านหนึ่งเครือซีพีมีร้านเซเว่นอีเลฟเว่นยึดครองตลาดคอนวีเนียนสโตร์ โดยปีนี้ตั้งเป้าเปิดสาขาใหม่ 700 แห่ง และจะเพิ่มเป็น 13,000 สาขาภายในปี 2564 โดยร้านเซเว่นฯ ที่เปิดในปั๊มน้ำมันเป็นสัญญาเอ็กซ์คลูซีฟกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งถือเป็นเจ้าตลาดค้าปลีกน้ำมันอยู่แล้ว
อีกด้านหนึ่ง ยักษ์ใหญ่ตระกูลเจียรวนนท์ กำลังดัน “ซีพีเฟรชมาร์ท” เจาะตลาดคอมแพ็กต์ซูเปอร์ หรือกลุ่มมินิซูเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ทั้งเทสโก้โลตัสและบิ๊กซีต่างชูสาขาไซส์เล็กเป็นตัวหลัก โดยหวังว่า จุดขาย “มินิซูเปอร์มาร์เก็ต” จะฉีกความแตกต่างจากคอนวีเนียนสโตร์และแข่งขันกับเซเว่นอีเลฟเว่นได้
ขณะที่ “ท็อปส์” หลังจากกลุ่มเซ็นทรัลตัดสินใจขายหุ้นที่ถืออยู่ใน “บิ๊กซี” ทั้งหมด 25% ให้บริษัท เบอร์ลี่ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) ในเครือทีซีซีกรุ๊ปเมื่อปีที่ผ่านมา ตัดสินใจพลิกเกมธุรกิจ ทุ่มงบลงทุนรวม 6,500 ล้านบาท ระยะเวลา 5 ปีนับจากปี 2560 เร่งผุดสาขาทุกรูปแบบครบ 600 แห่ง แต่เน้น 2 โมเดลหลัก คือ ท็อปส์มาร์เก็ตและท็อปส์เดลี่ โดยวางท็อปส์เดลี่เป็นรีเทลโมเดลเจาะกลุ่มชุมชน อาคารสำนักงาน แหล่งท่องเที่ยว จากเดิมที่เคยอยู่ในช่องทางจีสโตร์และถอยเปิดทางให้ “แฟมิลี่มาร์ท” ภายใต้การบริหารของบริษัท เซ็นทรัล แฟมิลี่มาร์ท จำกัด เข้าเจาะกลุ่มลูกค้าในช่องทางสถานีบริการน้ำมัน
เฉพาะปีนี้ บริษัท เซ็นทรัลฟู้ด รีเทล จำกัด วางแผนขยายท็อปส์เดลี่ 24 แห่ง คาดว่าสิ้นปีจะครบ 80 แห่ง โดยล่าสุดยังปรับโฉมเปิดร้านท็อปส์เดลี่ พรีเมียม เน้นสินค้านำเข้า เน้นความหลากหลาย มีครัวปรุงอาหารสดพร้อมรับประทาน และเปิดตัวร้านกาแฟสดพร้อมดื่มแบรนด์ใหม่ “คอฟฟี่ บาย ท็อปส์” ในรูปแบบช็อป อิน ช็อป และคอร์เนอร์ภายในร้านท็อปส์เดลี่เพื่อให้บริการครบวงจรยิ่งขึ้น
ส่วนแฟมิลี่มาร์ท บริษัท เซ็นทรัล แฟมิลี่มาร์ท จำกัด ตั้งเป้าหมายเปิดสาขาครบ 3,000 แห่งในปี 2564 หรือเฉลี่ยเปิด 200-300 แห่งต่อปี เน้นทำเลในจังหวัดหลักๆ อาคารสำนักงาน สถานศึกษา ชอปปิ้งมอลล์ คอนโดมิเนียม และปั๊มน้ำมัน โดยขยายพื้นที่ร้านขนาดใหญ่ขึ้น เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 120 ตารางเมตร เพิ่มสินค้าและบริการหลากหลาย เช่น อาหารพร้อมรับประทาน อาหารปรุงสดแบบวันต่อวัน บริการรับชำระเงินผ่านเซ็นเพย์
สำหรับ SPAR ซึ่งบริษัท บางจาก รีเทล ในเครือบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ได้รับสิทธิ์ขยายสาขาในประเทศไทยจาก SPAR ประเทศเนเธอร์แลนด์ กลุ่มธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งรายใหญ่ระดับนานาชาติที่มีสาขากว่า 12,100 แห่ง ใน 43 ประเทศ และไทยเป็นประเทศที่ 44 ภายใต้แนวคิด SPAR ‘FRESH & EASY FOOD MARKET’ ใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือนสร้างการรับรู้ในกลุ่มลูกค้า โดยชูจุดขายด้านอาหารสด มีมุมจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากชุมชนแบรนด์ SPAR และมุมจำหน่ายกาแฟออร์แกนิกอาราบิก้า 100% ภายใต้แบรนด์อินทนิล การ์เด้น พร้อมที่นั่งและบริการฟรี WI-FI
ตามแผนของบางจากรีเทล บริษัทวางงบลงทุนรวม 3,000 ล้านบาท เพื่อเร่งสาขา SPAR ปีละ 50-80 สาขา เฉลี่ยสาขาขนาด 100-500 ตร.ม. เงินลงทุน 4-10 ล้านบาทต่อสาขา ล่าสุดสามารถเปิดร้านในทำเลหลักๆ 15 แห่ง และตั้งเป้าจะขยายครบ 300 สาขาภายในปี 2563 เพื่อทดแทน “มินิบิ๊กซี” ซึ่งทยอยสิ้นสุดสัญญาเช่าพื้นที่ทั้งหมดในเร็วๆ นี้
ด้าน “เทสโก้ โลตัส” ณ วันนี้มีสาขารวมทั้งสิ้น 1,800 สาขา แบ่งเป็นสาขาขนาดเล็กหรือเอ็กซ์เพรส 1,500 สาขา ไฮเปอร์มาร์เก็ต 170 สาขา ตลาดและดีพาร์ตเมนต์สโตร์ 130 สาขา โดยวางกลยุทธ์ให้ร้านค้าปลีกขนาดเล็ก “เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส” เป็นพระเอกหลัก ลุยสาขาใหม่ 50-60 แห่งต่อปี เน้นจุดขายการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค อาหารพร้อมรับประทาน อาหารสด ของใช้ส่วนตัว หนังสือ ในราคาถูกกว่าร้านสะดวกซื้อทั่วไป พร้อมบริการต่างๆ เช่น ชำระบิล เติมเงินมือถือ เกม จำหน่ายบัตรโดยสารและบัตรคอนเสิร์ตต่างๆ บริการถ่ายเอกสาร รับ-ส่งแฟกซ์ 24 ชั่วโมง
ดังนั้น หากประเมินจากข้อมูลของสมาคมผู้ค้าปลีกไทยที่ระบุว่า ธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตในปี 2560 ยังมีแนวโน้มขยายตัวดีและเป็นเซกเมนต์ที่เติบโตมากสุดในกลุ่มค้าปลีก เฉลี่ย 8-10% ต่อปี เทียบเซกเมนต์อื่นๆ เติบโตเฉลี่ยเพียง 3-5% เพราะจับกลุ่มลูกค้าระดับกลาง-บน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อและไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ
การแข่งขันจึงอยู่ที่ว่า สินค้าและบริการค่ายไหนจะครบเครื่องกว่ากัน ซึ่งค่ายยักษ์ใหญ่ทั้ง 4-5 เจ้า ไม่มีใครยอมเสียส่วนแบ่งง่ายๆ แน่