วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
Home > Cover Story > ส่งออกตัวแปรสำคัญ ฉุดเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังฟื้น?

ส่งออกตัวแปรสำคัญ ฉุดเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังฟื้น?

สัญญาณการขยายตัวการส่งออกในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2559 ที่กลับมาเป็นบวก โดยเพิ่มขึ้นทั้งด้านของราคาและปริมาณ นับเป็นอานิสงส์ที่ส่งต่อมายังไตรมาสแรกของปี 2560 ที่ทำให้ผู้ประกอบการหายใจได้สะดวกขึ้น

โดยเฉพาะตัวเลขการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเดือนมีนาคม 2560 ที่สำนักวิจัยเศรษฐกิจอุตสาหกรรมระบุว่า การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ) มีการขยายตัวร้อยละ 10.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

โดยสินค้าที่มีการส่งออกขยายตัวดี เช่น เครื่องปรับอากาศ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบแผงวงจรไฟฟ้า เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์ยาง ด้านตลาดส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ) มีการขยายตัวในระดับดีในหลายตลาด อาทิ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน สหภาพยุโรป และประเทศในกลุ่ม CLMV

ขณะที่การส่งออกไปอาเซียนกลับหดหัวลง ดังนั้น ภาพรวมการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ) ในไตรมาส 1 ปี 2560 จึงมีการขยายตัวร้อยละ 6.2 ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ จีน สหภาพยุโรป และ CLMV ที่ขยายตัว

การส่งออกที่ขยายตัวเร่งขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2559 สอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศไทยที่ปรับตัวดีขึ้น การเติบโตของตัวเลขส่งออกน่าจะเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ GDP ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศช่วงไตรมาสแรก ปี 2560 อยู่ที่ 3.3 เปอร์เซ็นต์

เมื่อการส่งออกได้ขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าและราคาสินค้าในตลาดโลก เป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญในปีนี้ โดยมูลค่าการส่งออกไตรมาส 1/2560 มีมูลค่า 56,220 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 เร่งขึ้นจากร้อยละ 0.4 ในไตรมาส 3/2559 และร้อยละ 3.6 ในไตรมาส 4/2559 โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 ราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 และการส่งออกที่ไม่รวมทองคำเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.0 สูงสุดในรอบ 17 ไตรมาส

ทั้งนี้การเพิ่มขึ้นของมูลค่าการส่งออกมีสาเหตุสำคัญมาจากปัจจัย 2 ประการ 1. การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และจีน รวมทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศ CLMV และ 2. การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าส่งออก โดยเฉพาะราคาน้ำมันสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นร้อยละ 40.2 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 2.7) ราคาเคมีภัณฑ์เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.1 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 3.0) ราคาผลิตภัณฑ์ยางเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 2.4) ราคายางพาราเพิ่มขึ้นร้อยละ 75.8 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 3.2) และราคาน้ำตาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.7 (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 1.1) เมื่อหักการส่งออกทองคำที่ยังไม่ขึ้นรูปออกแล้ว มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.0 ปรับตัวดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับการขยายตัวร้อยละ 3.1 ในไตรมาสก่อนหน้า เมื่อคิดในรูปของเงินบาท การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 1,973 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.3 ในไตรมาสก่อนหน้า

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตัวเลขการส่งออกในช่วงไตรมาสแรกจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น หากแต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมีมุมมองเชิงระมัดระวัง ว่าหากการส่งออกสามารถรักษาโมเมนตัมการเติบโตได้ดี โดยเฉพาะการขยายตัวทางด้านปริมาณ จะส่งผลให้การขยายตัวของมูลค้าสินค้าส่งออกในปี 2560 สูงกว่าการประมาณการในปัจจุบันที่ร้อยละ 2.0 ซึ่งก็จะส่งผลต่อเนื่องให้เศรษฐกิจไทยในปี 2560 อาจจะสามารถเติบโตได้ใกล้เคียงกรอบบนของการประมาณการ (ช่วงประมาณการ 3.0-3.6 เปอร์เซ็นต์)

กระนั้นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้การส่งออกขยายตัวน่าจะมาจากการฟื้นตัวและขยายตัวเร่งขึ้นของการผลิตภาคเกษตร จะช่วยเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ฐานรายได้และการใช้จ่ายของครัวเรือนในภาคเกษตรปรับตัวดีขึ้น ขณะที่การลงทุนภาครัฐก็ยังอยู่ในเกณฑ์สูง

หากนับจากนี้การส่งออกและภาคเกษตรจะกลายเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทย จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตบนฐานที่กว้างมากขึ้น เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจจุดติดเกือบทุกเครื่อง จากเดิมที่เศรษฐกิจเติบโตจากการลงทุนของภาครัฐและการท่องเที่ยวเป็นหลัก

ผลสรุปของไตรมาสแรกทำให้กฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) คาดการณ์ ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/2560 จะขยายตัวไม่ต่ำกว่าไตรมาสแรกของปีนี้ ซึ่งอยู่ที่ 3.2 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ยังมั่นใจว่าทั้งปีนี้เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3.6 เปอร์เซ็นต์ ตามคาดการณ์ โดยภาพรวมการส่งออกที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องนั้นจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยได้เป็นอย่างดี

อีกทั้งยังเชื่อว่าปัจจัยเรื่องการส่งออกจะไม่ใช่ปัจจัยหนุนแค่ระยะสั้น เพราะการส่งออกโดยรวมได้มีการปรับตัวดีขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว สะท้อนจากในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ ที่ส่งออกโตถึง 5.7 เปอร์เซ็นต์

ขณะที่ปัจจัยอื่นที่จะช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ที่ได้ออกมาก่อนหน้า เช่น งบกลางปี 1.9 แสนล้านบาท ซึ่งขณะนี้ได้ทยอยเบิกจ่ายเพิ่มขึ้น การลงทุนภาครัฐ และการใช้จ่ายภาครัฐมีการเบิกจ่ายอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนยังรอการประกาศใช้ร่างพระราชกฤษฎีกา การสนับสนุนให้เอกชนที่ลงทุนสามารถลดหย่อนภาษีได้ 1.5 เท่า ซึ่งขณะนี้ภาคเอกชนส่วนใหญ่ยังรอดูเรื่องนี้ก่อนการตัดสินใจลงทุน

นอกเหนือไปจากการลงทุนของภาครัฐที่เป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจหลักในปี 2560 แล้วนั้น การปรับตัวดีขึ้นของการผลิตภาคเกษตร และรายได้ของเกษตรกร น่าจะเป็นอีกหนึ่งในหลายเหตุผล เมื่อการผลิตในช่วงที่เหลือของปี มีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่องตามปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักและปริมาณฝนสูงกว่าปีก่อน รวมไปถึงราคาสินค้าเกษตรสำคัญๆ สูงกว่าปีก่อนด้วย

แม้ว่าการส่งออกจะเป็นตัวแปรหลักของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ แต่การขยายตัวของรายรับจากการท่องเที่ยวก็ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนเศรษฐกิจเมื่อรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติในไตรมาสแรกของปี 2560 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 เร่งขึ้นจาก 2.9 ในไตรมาส 4 ปี 2559 และยังมีการคาดการณ์ว่า รายรับจากนักท่องเที่ยวจีนจะกลับมาเป็นบวกในปลายไตรมาส 2 และ 3 ปี 2560 รวมไปถึงรายรับจากนักท่องเที่ยวจากระยะไกลและนักท่องเที่ยวที่รายได้สูงมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นมากและต่อเนื่องตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะตลาดรถยนต์ที่มีการปรับตัวดีขึ้น เพราะการสิ้นสุดข้อกำหนดถือครอง 5 ปีของ FTCBS ทำให้ผู้ใช้สิทธิ์บางส่วนจาก 1.12 ล้านคัน เริ่มโอนกรรมสิทธิ์และซื้อรถใหม่ รวมไปถึงหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ลดลงจากร้อยละ 81.2 เมื่อสิ้นปี 2558 เป็นร้อยละ 79.9 เมื่อสิ้นปี 2559 ตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและภาระหนี้ภายใต้ FTCBS และยังมีการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ท่ามกลางการฟื้นตัวของรายได้ภาคเกษตรและภาคการส่งออก

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องคำนึงถึง แม้ว่าการส่งออกจะฟื้นตัวแต่กำลังการผลิตยังต่ำและเป็นข้อจำกัดต่อการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชน อีกทั้งการเคลื่อนย้ายเงินทุนและอัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลสำคัญๆ ยังมีความเสี่ยงที่ผันผวนตามความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศ ทิศทางนโยบายการเงินของประเทศสำคัญๆ การฟื้นตัวและปัญหาเสถียรภาพในจีน ผลการเลือกตั้งและเงื่อนไขการเมืองในประเทศมหาอำนาจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทิศทางและความคืบหน้านโยบายเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ต้องจับตาดูว่ามาตรการกีดกันทางการค้าอาจจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของการค้าโลกและการส่งออกเมื่อสหรัฐฯ เป็นประเทศคู่ค้าหลักของไทย

สืบเนื่องจากทิศทางของตลาดอสังหาฯ ไทยที่เริ่มมีนักลงทุนจากต่างชาติเข้ามาให้ความสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักลงทุนจากประเทศจีน ทั้งนี้ พัชรพร สิริทรัพย์วงศ์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด และประชาสัมพันธ์ ไป่ตู้ แอคเซส เผยว่า “ประเทศไทยยังเป็นที่น่าจับตาในปัจจัยด้านการลงทุนจากชาวจีน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีผู้ประกอบการจากประเทศจีนลงทุนด้านฐานการผลิตที่ประเทศไทยจำนวนมาก โดยในปี 2559 มีเงินลงทุนจากชาวจีนที่เข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยกว่า 24,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นเม็ดเงินการลงทุนที่มากเป็นอันดับ 2 รองจากประเทศญี่ปุ่น อีกทั้งยังมีการคาดการณ์อีกว่า จะมีอัตราการเติบโตอีกราว 30 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2560”

แม้ว่าสภาพการณ์เศรษฐกิจมหภาคของไทยจะแลดูสดใส แต่นั่นก็น่าจะเป็นการสร้างให้เกิดความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนทั้งจากในและต่างประเทศ หากแต่ในทางกลับกันเศรษฐกิจของประชาชนระดับรากหญ้า อาจจะยังพูดได้ไม่เต็มปากนักว่า “สดใส” เมื่อสภาพคล่องในครัวเรือนดูจะฝืดเคือง

คงต้องรอดูว่าหลังจากนี้รัฐบาลจะมีมาตรการใดออกมากระตุ้นให้เศรษฐกิจในทุกระดับฟื้นตัวในสัดส่วนที่เท่าเทียมกันหรือไม่

ใส่ความเห็น