วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > ปิดฉากยกแรก มหากาพย์ “ศรีสวัสดิ์”

ปิดฉากยกแรก มหากาพย์ “ศรีสวัสดิ์”

ในที่สุด ศาลฎีกามีคำพิพากษายกฟ้องกรณีบริษัทเงินติดล้อ จำกัด หรือชื่อเดิม “บริษัทซีเอฟจี จำกัด” เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกล่าวหา บริษัทศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ เลียนแบบเครื่องหมายการค้าบริการคำว่า “ศรีสวัสดิ์” แต่ใช่ว่า มหากาพย์การช่วงชิงแบรนด์ที่กินเวลายาวนานหลายปีจะจบลงง่ายๆ เนื่องจากฝ่ายบริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ จำกัด เตรียมหาแนวทางฟ้องกลับบริษัท เงินติดล้อ จำกัด เปิดสงครามรอบใหม่อีกครั้งหนึ่ง

ดวงใจ แก้วบุตตา ในฐานะกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ จำกัด กล่าวว่า ที่ผ่านมามีความพยายามนำเสนอข่าวมาตลอดว่า บริษัทศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ฯ มีพฤติกรรมลอกเลียนแบบเครื่องหมายการค้าบริการ รวมทั้งมีข่าวออกมาเป็นระยะๆ จะรื้อถอน ปลดป้าย ของบริษัท ทำให้ลูกค้าและคนทั่วไปสับสน และบริษัทเสื่อมเสียชื่อเสียง

“จากคำตัดสินของศาลพิสูจน์แล้ว เราไม่ผิด ไม่ได้มีพฤติกรรมที่สร้างความสับสนให้ผู้บริโภค เราสามารถใช้คำว่า ศรีสวัสดิ์ ได้ ซึ่งการถูกฟ้องและให้ข่าวฝ่ายเดียวของบริษัทเงินติดล้อ จำกัด สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง ทั้งบริษัทและรายบุคคลที่ถูกกล่าวหา รวมทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบทั้งหมดเตรียมจะฟ้องกลับด้วย”

ทั้งนี้ บริษัทศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ฯ เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจให้บริการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ รวมทั้งสินเชื่อที่มีหลักประกัน โดยวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งบริษัทดังกล่าวในช่วงแรก มีเป้าหมายจัดเก็บหนี้ ในส่วนที่บริษัทไม่ได้ขายหนี้ให้บริษัทเงินติดล้อฯ แต่หลังจากบริษัทถูกบริษัทเงินติดล้อฯ กล่าวหาและฟ้องร้อง ตัวบริษัทศรีสวัสดิ์ฯ ต้องหยุดดำเนินธุรกิจจนถึงปัจจุบัน

แน่นอนว่า ศึกฟ้องร้องระหว่าง “ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์” และ “เงินติดล้อ” เหตุผลมาจากตลาดสินเชื่อรายย่อยที่มีเม็ดเงินหลายหมื่นล้านและมีแนวโน้มขยายตัวมากกว่าหลักแสนล้านบาทด้วย เมื่อรัฐบาลมีนโยบายดึงกลุ่มหนี้นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบทั้งหมด ซึ่งต้องถือว่า ในตลาดสินเชื่อ “รถแลกเงิน” แบรนด์ “ศรีสวัสดิ์” เป็นผู้บุกเบิกสร้างตลาดสินเชื่อรายย่อยระดับรากหญ้า เปิดตลาดใหม่ให้บรรดาสถาบันการเงินเข้ามาเจาะช่องว่างสร้างรายได้จำนวนมหาศาล จนกระทั่งเป็นแบรนด์ที่ถูกช่วงชิงกันระหว่างกลุ่มตระกูล “แก้วบุตตา” กับยักษ์ใหญ่อย่างธนาคารกรุงศรีอยุธยา

จุดเริ่มต้นของ “ศรีสวัสดิ์” เกิดจากแนวคิดของเสี่ยเจ้าของธุรกิจอู่ซ่อมรถในจังหวัดเพชรบูรณ์ ฉัตรชัย แก้วบุตตา ซึ่งมีเครือข่ายลูกค้าที่นำรถยนต์มาใช้บริการในอู่อยู่เป็นประจำ และส่วนใหญ่มักเจอปัญหาการติดต่อขอกู้เงินจากธนาคาร ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเอกสารรายได้ทางการเงิน การตรวจสอบเครดิต รวมถึงการเดินทางไปยังสาขาต่างๆ ของธนาคาร

ปี 2522 ฉัตรชัยตัดสินใจเปิดธุรกิจปล่อยเงินกู้ด้วยวิธีจำนำทะเบียนรถเป็นหลักประกัน โดยใช้ชื่อมารดา “ศรีสวัสดิ์ แก้วบุตตา” ตั้งชื่อกิจการว่า “บริษัท ศรีสวัสดิ์ เพชรบูรณ์” เริ่มต้นธุรกิจให้บริการสินเชื่อในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ โดยใช้วิธีเดินสายไปยังพื้นที่ชุมชนต่างๆ จนเป็นที่รู้จักและถือเป็นเจ้าตลาดในจังหวัด

ดำเนินธุรกิจเกือบ 20 ปี บริษัท ศรีสวัสดิ์ เพชรบูรณ์ ขยายสาขาไปยังจังหวัดต่างๆ มากกว่า 130 สาขาทั่วประเทศ เนื่องจากมีลูกค้าจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้ารับบริการทางการเงินจากธนาคารทั้งของรัฐและเอกชน ต้องพึ่งบริการเงินกู้นอกระบบที่มีสัญญาไม่เป็นธรรม โดยถือเป็น “เบอร์ 1” ในตลาดสินเชื่อรถแลกเงิน

ปี 2550 กลุ่มบริษัทเอไอเอ ซึ่งมี “เอไอจี” หรืออเมริกันอินเตอร์แนชชั่นแนล กรุ๊ป กลุ่มธุรกิจประกันและผู้ให้บริการทางการเงินยักษ์ใหญ่ สัญชาติอเมริกัน เข้ามาเจรจาขอร่วมทุนกับกลุ่มศรีสวัสดิ์ และเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ซีเอฟจี เซอร์วิส จำกัด สร้างแบรนด์ทางการค้า “ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ” ทำตลาดทั่วประเทศ

ปี 2551 ฉัตรชัยตัดสินใจซื้อบริษัท พีวี แอนด์เคเคเซอร์วิส 2008 เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “บริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 จำกัด” มีทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท แต่ยังไม่ประกอบธุรกิจใดๆ จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในช่วงปี 2552 ผลพวงจากวิกฤตการณ์ทางการเงินในสหรัฐอเมริกา หรือ “แฮมเบอร์เกอร์ไครซิส” กลุ่มเอไอจีเจอปัญหาขาดสภาพคล่องอย่างหนักและประกาศนโยบายบังคับให้บริษัทลูกในเครือตัดขายธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลัก ซึ่งรวมถึงธุรกิจให้บริการสินเชื่อรายย่อย รถแลกเงิน “ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ” ด้วย

เอไอจีได้รับการติดต่อจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเวลานั้นมีกลุ่ม จีอี แคปปิตอล อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง คอร์ปอเรชั่น (GECIH) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เสนอซื้อกิจการ “ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ” ทั้ง 100%

ขณะที่กลุ่มแก้วบุตตาพยายามเจรจาซื้อคืนกิจการทั้งหมดจากเอไอจี เสนอราคาหลายรอบ แต่สุดท้าย ธนาคารกรุงศรีอยุธยาบรรลุข้อตกลง ฮุบบริษัท ซีเอฟจี เซอร์วิส จำกัด ทั้งหมด รวมถึงแบรนด์ทางการค้า “ศรีสวัสดิ์ เงินติดล้อ”

หลังอกหักจากดีลซื้อคืนกิจการที่บุกเบิกมากับมือ ฉัตรชัยตัดสินใจเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส ซื้อบริษัท พาวเวอร์ 99 เปิดบริษัทใหม่ “ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์” เป็นผู้ประกอบธุรกิจรับจ้างจัดเก็บหนี้และบริการสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ เร่งขยายสาขาแบบปูพรม 136 สาขา เพื่อทวงคืนตลาดและฐานลูกค้า

ปี 2553 บริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 5 ล้านบาท และเริ่มดำเนินธุรกิจให้บริการสินเชื่อจำนำรถทุกประเภท รวมถึงการให้บริการสินเชื่อประเภทที่อยู่อาศัย ภายใต้สโลแกนใหม่ “มีบ้าน มีรถ เงินสดทันใจ” และปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจของกลุ่ม โดยซื้อบริษัทอีก 2 แห่งและเปลี่ยนชื่อใหม่ คือ บริษัท เค.พี.เอ็น.โฮลดิ้ง จำกัด เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ศรีสวัสดิ์พาวเวอร์ 1982 และบริษัท เจ.ดี.ที.มั่นนี่ เซอร์วิส เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เงินสดทันใจ จำกัด

จากนั้นประกาศเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 200 ล้านบาท และโอนธุรกิจเดิมจาก “ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์” มาดำเนินการที่บริษัทแม่และบริษัท ศรีสวัสดิ์พาวเวอร์ 1982 โดยเดินหน้าขยายสาขาเพิ่มเป็น 265 สาขาในสิ้นปี 2554

ปี 2555 บริษัทเพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 200 ล้านบาท เป็น 750 ล้านบาท และแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัดในปี 2556

การรุกขยายสาขาและทำตลาดอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการใช้แบรนด์ “ศรีสวัสดิ์” เป็นตัวรุก ไม่ต่างจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งกลุ่มจีอี แคปปิตอลฯ ต้องการขยายตลาดสินเชื่อรายย่อยอย่างเข้มข้นและมองว่าการทำตลาดของกลุ่มแก้วบุตตา สร้างความสับสนให้กลุ่มลูกค้า จึงประกาศยื่นฟ้องต่อศาล เพื่อบังคับบริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 1979 จำกัด ยกเลิกการใช้ชื่อ “ศรีสวัสดิ์” ทำตลาด

ขึ้นศาลกันหลายรอบ แต่สุดท้าย ศาลไม่ได้มีคำสั่งตามคำร้องขอของธนาคารกรุงศรีอยุธยา โดยให้เหตุผลว่า ชื่อ “ศรีสวัสดิ์” เป็นชื่ออำเภอในจังหวัดกาญจนบุรี และเป็นชื่อทั่วไปที่สามารถนำมาจดจัดตั้งบริษัทได้ ขณะที่ตัวแบรนด์มีความแตกต่างกัน เนื่องจากกลุ่มศรีสวัสดิ์พาวเวอร์ไม่ได้หยิบคำว่า “ศรีสวัสดิ์” เข้ามาอยู่ในโลโกและแบรนด์ อย่างไรก็ตาม บริษัท ซีเอฟจี เซอร์วิส ยังฟ้องร้องคู่แข่งต่อเนื่อง

ปี 2558 บริษัท ซีเอฟจี เซอร์วิส จำกัด เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เงินติดล้อ จำกัด และยังคงใช้คำว่า “ศรีสวัสดิ์” ในโลโกจนถึงปัจจุบัน

ล่าสุด แม้ศาลฎีกาสั่งยกฟ้องยุติคดี แต่สมรภูมิธุรกิจที่มีทั้งเม็ดเงินและโอกาสการเติบโตทำให้มหากาพย์ยังไม่ยุติ แถมพร้อมระเบิดขยายภาคต่ออย่างไม่รู้จบด้วย

ใส่ความเห็น