วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > ทุนใหญ่แห่ยึด รร.นานาชาติ “โสภณพนิช” ดัน “โชรส์เบอรี” บุกจีน

ทุนใหญ่แห่ยึด รร.นานาชาติ “โสภณพนิช” ดัน “โชรส์เบอรี” บุกจีน

บรรดาทุนใหญ่ เศรษฐีตระกูลดัง แห่กระโดดเข้าสู่สมรภูมิธุรกิจโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทย เพื่อช่วงชิงเม็ดเงินมากกว่า 20,000 ล้านบาท จากปัจจุบันมีนักเรียน 30,000-40,000 คน และมีแนวโน้มเติบโตไม่หยุดจากจำนวนใบจองที่นั่ง “Waiting List” ในโรงเรียนอินเตอร์ชื่อดังอีกนับร้อยรายชื่อในแต่ละแห่ง แม้ค่าเล่าเรียนจะสูงกว่า 500,000-600,000 บาทต่อปี บางแห่งสูงเฉียดล้านบาทต่อปีก็ตาม

ประมาณกันอีกว่า แม้ก่อนหน้านี้ โรงเรียนนานาชาติหลายแห่งยอมถอดใจ เลิกกิจการ เพราะไม่สามารถแข่งขันในตลาด โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับแบรนด์ยักษ์ใหญ่ในกลุ่มโรงเรียนชั้นนำจากประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา แต่ล่าสุดยังมีโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยมากถึง 200 โรง และเชื่อว่าจะเปิดเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับความต้องการ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กไทยรุ่นใหม่ที่ผู้ปกครองต้องการเพิ่มทักษะด้านภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นจุดอ่อนของโรงเรียนทั่วไป

ชาลี โสภณพนิช ผู้ก่อตั้งโรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี กรุงเทพ กล่าวว่า ตลาดโรงเรียนนานาชาติยังมีการเติบโต แม้มีผู้ลงทุนรายใหม่เข้ามาต่อเนื่อง แต่ยังไม่เพียงพอ เนื่องจากผู้ปกครองเลือกโรงเรียนที่มีคุณภาพสูง ซึ่งจะเห็นชัดเจน เมื่อมีโรงเรียนนานาชาติระดับกลางหลายแห่งเลิกลงทุน เพราะปัจจัยหลายอย่าง ทั้งคุณภาพการเรียนการสอน หลักสูตร ครูอาจารย์ และชื่อเสียงของโรงเรียนแม่จากต่างประเทศ

ชาลีเปรียบเทียบกับ “โชรส์เบอรี” ซึ่งกลุ่มโสภณพนิช ตัดสินใจร่วมมือกับโรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี ประเทศอังกฤษ ใช้เงินลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท เปิดโรงเรียนโชรส์เบอรี ริเวอร์ไซด์ แคมปัสแห่งแรกในประเทศไทยเมื่อ 15 ปีก่อน เนื่องจากตลาดมีความต้องการสูงและเหตุที่เลือกโรงเรียนโชรส์เบอรีที่ประเทศอังกฤษ เพราะมีอายุยาวนานกว่า 460 ปี ได้รับการสถาปนาขึ้นภายใต้พระบรมราชานุญาต เมื่อปี ค.ศ. 1552 มีแบบแผนจารีตแห่งความเป็นเลิศที่เก่าแก่ย้อนไปถึงรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีนาถอลิซาเบธที่ 1 ซึ่งทรงเป็นผู้อุปถัมภ์สถาบันการศึกษาแห่งนี้ให้พัฒนาและเติบโตขึ้นจนกระทั่งก้าวขึ้นมาเป็นโรงเรียนที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศอังกฤษ และเป็นหนึ่งใน 8 โรงเรียนชั้นนำของประเทศอังกฤษ

ได้แก่ โรงเรียนโชรส์เบอรี โรงเรียนชาร์เตอร์เฮาส์ อีตัน คอลเลจ โรงเรียนเวสต์มินสเตอร์ โรงเรียนเซนต์พอล โรงเรียนเมอร์แชนท์ เทเลอร์ โรงเรียนแฮร์โรว์ โรงเรียนรักบี้ และวินเชสเตอร์ คอลเลจ

ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งที่สะท้อนถึงความต้องการของตลาด คือ โรงเรียนโชรส์เบอรี ริเวอร์ไซด์ ต้องปฏิเสธเด็กที่สมัครเข้าศึกษาในระดับอนุบาลและประถมศึกษาทุกปี มียอดเวสติ้งลิสต์จ่อรอที่ว่างทุกปี ทั้งกลุ่มคนไทยและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะช่วง 3 ปีที่ผ่านมา จำนวนสูงถึง 650 คน และเป็นเหตุผลที่กลุ่มโสภณพนิชตัดสินใจลงทุนอีก 2,600 ล้านบาท ขยายแคมปัสแห่งใหม่ย่านพระราม 9 เนื้อที่กว่า 15 ไร่

สำหรับแคมปัสแห่งที่ 2 โรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี กรุงเทพ ซิตี้ แคมปัส จะเปิดสอนทั้งระดับอนุบาล ประถมศึกษา และมัธยมศึกษา อัตราค่าเล่าเรียนเริ่มต้น 640,000 บาทต่อปี สามารถรองรับเด็กนักเรียนรวม 640 คน และจะเปิดอย่างเป็นทางการในเดือนสิงหาคม 2561 ส่วนสาขาแรก ริเวอร์ไซด์แคมปัส ล่าสุดมีเด็กนักเรียนรวม 1,700 คน

โชรส์เบอรียังวางแผนขยายแคมปัสในต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยปี 2561 จะเปิดแคมปัสในฮ่องกง และกลุ่มโสภณพนิชกำลังศึกษาเพื่อลงทุนร่วมกับผู้ประกอบการในจีน เปิดโรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี กวางเจา ประเทศจีน ในปี 2562 -2563 เนื่องจากแนวโน้มความต้องการศึกษาในโรงเรียนนานาชาติในจีนเพิ่มขึ้นมาก มีมูลค่าเม็ดเงินจำนวนมหาศาล

ขณะเดียวกัน มีกลุ่มทุนและเศรษฐีตระกูลดังอีกหลายรายรุกลงทุนธุรกิจโรงเรียนนานาชาติ เฉพาะที่เปิดในปี 2560 เช่น กลุ่มวิสดอม เอ็นเตอร์ไพรส์ ของตระกูลทีปสุวรรณ ร่วมกับ Lucinda Holmes Chairman Rugby School แห่งสหราชอาณาจักร ประกาศก่อตั้งโรงเรียน Rugby School Thailand เป็นโมเดลต้นแบบโรงเรียนประจำจากอังกฤษ ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 450 ปี ในพื้นที่เกือบ 200 ไร่ ใกล้มอเตอร์เวย์ พัทยา ชลบุรี โดยจะรับนักเรียนแบบไปกลับในเดือนกันยายน 2560 และเปิดรับนักเรียนประจำในปีถัดไป เพื่อรองรับนักเรียนจากประเทศเพื่อนบ้านกลุ่ม CLMV

กลุ่มตระกูล “ลัทธพิพัฒน์” เจ้าของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์และโรงเรียนนานาชาติบางกอกเพรพ เดินหน้าลงทุน 2,500 ล้านบาท เปิดโรงเรียนนานาชาติเวลลิงตันคอลเลจ กรุงเทพฯ เป็นแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียน บนถนนกรุงเทพกรีฑา เนื้อที่ 70 ไร่ โดยจะเริ่มเปิดสอนระดับชั้นอนุบาลถึงเกรด 6 ในเดือน ส.ค. 2561 หลังจากนั้นเปิดเฟส 2 ขยายการเรียนการสอนถึงเกรด 13 ในปี 2563 และมีแผนสร้างหอพัก เพื่อเปิดโรงเรียนประจำในปี 2566 ด้วย

ด้านมัลลิการ์ ธรรมวัฒนะ กรรมการผู้จัดการบริษัท มัลลิการ์ อินเตอร์ฟู้ด ผู้ดำเนินธุรกิจร้านเย็นตาโฟเครื่องทรง ร้าน อ.มัลลิการ์ ร่วมทุนกับนพดล ธรรมวัฒนะ ประธานกรรมการบริษัท บีจีที คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 1,200 ล้านบาท ตั้งบริษัท เอ็นเอ็มซี เปิดโรงเรียนนานาชาติหลักสูตรแบบอเมริกันภายใต้ชื่อ “โรงเรียนไทยอินเตอร์เนชั่นแนลสกูล” หรือ TIS เนื้อที่ 30 ไร่ ย่านรังสิต-ปทุมธานี ตั้งแต่เตรียมอนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย ระดับชั้นละ 2 ห้องเรียน โดยเริ่มเฟสแรกในระดับเตรียมอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 3 เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

ขณะที่กลุ่มคันทรี่กรุ๊ป ดีเวลลอปเมนท์ เข้าซื้อโรงเรียนในประเทศอังกฤษ มูลค่า 848 ล้านบาท ในเมืองไบรตัน และมีแผนเปิดโรงเรียนนานาชาติที่ประเทศไทยควบคู่กัน โดยนำแบรนด์โรงเรียนประเทศอังกฤษเข้ามาเป็นชื่อโรงเรียนในไทย

ส่วน บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ร่วมลงทุนกับโรงเรียนนานาชาติ American International School (AIS) จากฮ่องกง วางแผนสร้างโรงเรียนนานาชาติระดับเกรดเอ บนที่ดิน 167 ไร่ ใกล้โครงการธนาซิตี้ ถนนบางนา-ตราด เงินลงทุน 4,000-5,000 ล้านบาท คาดเปิดการศึกษาเทอมแรกในปี 2563 รองรับนักเรียน 2,500 คน ตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษา

แน่นอนว่า การรุกขยายธุรกิจการศึกษาของทุนใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ แม้เป็นการแตกไลน์ธุรกิจช่วงชิงเม็ดเงินหมื่นล้านที่มีศักยภาพ แต่เป้าหมายมากกว่านั้น โรงเรียนนานาชาติกลายเป็นอีกหนึ่งจิ๊กซอว์เติมเต็มโปรเจกต์มิกซ์ยูสที่ดึงดูดกลุ่มเป้าหมายอย่างได้ผลด้วย

ใส่ความเห็น