ความพยายามของกลไกภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะโหมประโคมสัญญาณบวกทางเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา ดูจะได้รับการขานรับในระดับที่น่าสนใจไม่น้อยเลย โดยเฉพาะการคาดหมายที่เกิดขึ้นจากข้อเท็จจริงที่ว่าในช่วงที่ผ่านมาภาพรวมเศรษฐกิจยังไม่ค่อยดีนัก แต่มี 3 ปัจจัยหลักที่อาจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงเวลานับจากนี้ให้กระเตื้องขึ้นมาบ้าง โดยหลายฝ่ายเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว
3 ปัจจัยหรือสัญญาณเชิงบวกที่ได้รับการกล่าวถึงในด้านหนึ่งอยู่ที่การคาดการณ์ว่าจะมีการจับจ่ายใช้สอยจากงบประมาณภาครัฐมากขึ้น โดยเฉพาะงบประมาณการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีความพยายามที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจอยู่เป็นระยะ ซึ่งอาจได้ผลระยะสั้นและเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
รวมถึงปัจจัยว่าด้วยการส่งออกที่มีตัวเลขในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาบ่งชี้แนวโน้มเชิงบวกในหลายกลุ่มอุตสาหกรรม และมีการนำเข้าวัตถุดิบมาผลิตเพื่อส่งออกเพิ่มขึ้น ขณะที่ภาพรวมของการค้าชายแดนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยเมียนมา กัมพูชา สปป.ลาว มีการนำเข้าสินค้าจากไทยมากขึ้น
ก่อนหน้านี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2560 อยู่ที่ 3.4% จากการส่งออกและการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่หนุนเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรกให้โตกว่าที่คาด ในขณะที่เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังยังมีความท้าทาย จากแนวโน้มราคาน้ำมันที่โน้มอ่อนลง ส่งผลต่อการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกที่คาดว่าจะช้าลงกว่าในช่วงครึ่งปีแรก รายได้เกษตรกรที่เริ่มชะลอลงจากผลผลิตที่ออกมาสู่ตลาดมาก โดยการใช้จ่ายภาครัฐและการท่องเที่ยวยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2560
พร้อมกับระบุว่าการประกาศใช้ พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ในช่วงที่ผ่านมา น่าจะส่งผลกระทบในปี 2560 ในขอบเขตจำกัด หรือคิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจประมาณ 12,400 ล้านบาท จากการที่ยืดระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมายให้ทอดยาวออกไปอีก 6 เดือน ซึ่งน่าจะเพียงพอให้แรงงานต่างด้าวหมุนเวียนกันไปจัดการเรื่องเอกสารใบอนุญาตทำงานได้ โดยไม่ทำให้ธุรกิจต้องหยุดชะงักยาวนาน โดยเบื้องต้นประเมินผลกระทบที่จะส่งผ่านไปที่ตัวเลข GDP ราว 0.03%
แต่ข้อเท็จจริงสำหรับผู้ประกอบการอีกด้านหนึ่ง พบว่า การเปิดให้แรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียนถูกกฎหมายระหว่าง 24 กรกฎาคม-7 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา สรุปยอดรวมมี 7.72 แสนคน น้อยกว่าการคาดการณ์ของกระทรวงแรงงานที่คาดว่าจะมี 8 แสน-1 ล้านคน
โดยวงการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ประเมินว่ามีแรงงานต่างด้าวนอกระบบตกค้างไม่ได้มาขึ้นทะเบียน 1 ล้านคน ทำให้มีประเด็นต่อเนื่องในหลายด้าน โดยเฉพาะปัญหาขาดแคลนแรงงานในอนาคต และนำไปสู่ต้นทุนทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้น แม้จะยังพอมีเวลาอีก 3-4 เดือน ก่อนที่ พ.ร.ก.ใหม่จะมีผลบังคับใช้ 1 มกราคม 2561
ประเด็นว่าด้วยปัญหาแรงงานต่างด้าวมีความซับซ้อนและหลากหลายพอสมควร เพราะแรงงานต่างด้าวไม่ได้จำกัดเฉพาะในส่วนของโรงงานอุตสาหกรรมเท่านั้น หากยังมีแรงงานในภาคประมง เกษตร และก่อสร้างที่มีปัญหาว่าด้วยแรงงานข้ามเขต ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาความล่าช้าในการส่งมอบโครงการ
สิ่งที่หลายฝ่ายให้ความสนใจในการบริหารนโยบายเศรษฐกิจอยู่ที่การให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายของรัฐบาลและการดำเนินโครงการลงทุนภาครัฐให้ได้ตามเป้าหมาย ควบคู่ไปกับการดำเนินโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญให้เป็นไปตามกำหนดระยะเวลาที่วางไว้ พร้อมกับการสนับสนุนการส่งออกให้สามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ร้อยละ 5.0 โดยการสนับสนุนให้การส่งออกสินค้าขยายตัวเป็นวงกว้างมากขึ้น ควบคู่กับการติดตามและแก้ปัญหาการใช้นโยบายและมาตรการกีดกันทางการค้าในต่างประเทศ การขยายตลาดส่งออกเชิงรุก และการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนการส่งออก
ขณะเดียวกันต้องสนับสนุนการขยายตัวของรายได้เกษตรกร และการดูแลผู้มีรายได้น้อย โดยการเตรียมมาตรการรองรับผลผลิตทางการเกษตรที่จะออกสู่ตลาดในฤดูการผลิต 2560/2561 การเพิ่มส่วนแบ่งรายได้ของเกษตรกรจากการจำหน่ายผลผลิตควบคู่ไปกับการส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่เพื่อลดต้นทุนการผลิตและการจัดจำหน่ายผลผลิตสู่ผู้บริโภคโดยตรงมากขึ้น
การปลูกพืชและการใช้วิธีการผลิตที่มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่และการผลิตพืชที่มีมูลค่าสูง การจัดทำฐานข้อมูลเกษตรกรยากจนและผู้มีรายได้น้อยเพื่อให้มาตรการช่วยเหลือทางตรงสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ประเด็นที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันอีกส่วนหนึ่งก็คือ การสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดยให้ความสำคัญกับการเพิ่มปริมาณการส่งออกเพื่อลดกำลังการผลิตส่วนเกินในภาคอุตสาหกรรม การดำเนินการตามแผนการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะโครงการที่ร่วมลงทุนกับภาคเอกชน การกระตุ้นให้โครงการลงทุนที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในปี 2557-2559 มีการลงทุนโดยเร็ว และการดำเนินมาตรการเชิงรุกเพื่อชักจูงนักลงทุนในสาขาเป้าหมาย
นอกจากนี้ การสนับสนุนการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นกลไกหลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ให้มีการดูแลรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญ การส่งเสริมการขายในตลาดกลุ่มนักท่องเที่ยวรายได้สูงและนักท่องเที่ยวระยะไกล การสนับสนุนการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจากจีนโดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีรายได้สูง การสนับสนุนการขยายตัวของนักท่องเที่ยวจากกลุ่มอาเซียน และการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศควบคู่ไปกับการกระจายรายได้ไปสู่แหล่งท่องเที่ยวในระดับชุมชนและชนบท
ข้อพึงสังเกตประการสำคัญอีกประหนึ่งอยู่ที่ แม้ปัจจุบันเสถียรภาพของระบบการเงินไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่มีความเสี่ยงบางประการให้ต้องติดตาม โดยเฉพาะความสามารถในการชำระหนี้ของ SMEs บางภาคธุรกิจที่ยังไม่ปรับดีขึ้น ส่วนหนึ่งสะท้อนปัญหาความสามารถในการแข่งขัน และอาจเป็นปัจจัยฉุดรั้งภาพรวมทางเศรษฐกิจในระยะยาว และอาจทำให้เป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจในยุคไทยแลนด์ 4.0 ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
ขณะที่การคงภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ไว้ที่อัตราร้อยละ 7 ต่อไปอีก 1 ปี ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2560 ถึง 30 กันยายน 2561 แทนการปรับขึ้นเป็นร้อยละ 10 ภายใต้เหตุผลของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ระบุว่าเป็นเพราะคนในประเทศยังไม่พร้อม เนื่องจากรายได้ยังแย่อยู่ ในด้านหนึ่งเป็นภาพสะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังไม่ได้กระเตื้องขึ้นหรืออยู่ในระดับที่ดี ตามที่กลไกภาครัฐพยายามให้ข้อมูลและเน้นย้ำว่าดีขึ้นแล้วอย่างต่อเนื่อง
ข้อเท็จจริงตามที่กระทรวงการคลังเสนอเลื่อนการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มในด้านหนึ่งเกิดจากการประเมินภาระค่าครองชีพของประชาชน และความพยายามที่จะกระตุ้นการบริโภค เพราะการปรับภาษีมูลค่าเพิ่มไปที่ระดับร้อยละ 10 จะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าและค่าบริการเพิ่มสูงขึ้น ทำให้มีผลต่อการบริโภค การผลิต การนำเข้า และการลงทุนภาคเอกชนลดลง ทำให้ระบบเศรษฐกิจชะลอตัว แม้ว่ากรณีดังกล่าวจะมีการประมาณการว่าจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้รวม 232,600 ล้านบาท แต่เชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบต่อการประมาณการรายได้ในปีงบประมาณ 2561
สิ่งที่กลไกรัฐคาดหวังจะได้รับจากการคงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ที่ร้อยละ 7 ประการสำคัญก็คือ การกระตุ้นให้ภาคธุรกิจมีการขยายการลงทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศขยายตัวดีขึ้น โดยความชัดเจนในเรื่องของอัตราภาษี จะมีส่วนช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการประกอบธุรกิจให้แก่ภาคเอกชน และสามารถวางแผนการบริหารธุรกิจได้อย่างถูกต้อง
การนำพากลไกเศรษฐกิจให้กลับมาฟื้นตัวในทิศทางบวก อาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับสัญญาณทางเศรษฐกิจแต่เพียงลำพัง หากยังต้องอาศัยความสามารถในการบริหารจัดการประกอบส่วนด้วย หวังเพียงแต่ว่าสัญญาณที่กำลังกล่าวถึงอยู่นี้ จะไม่ได้เป็น false signal ที่กลไกรัฐพยายามเน้นย้ำ ไม่ต่างจากยากล่อมประสาทและคำพูดปลอบใจคนไข้ที่อยู่ในอาการป่วยทรุดหนักแล้วเท่านั้น