“กลุ่มเซ็นทรัลเป็นผู้นำด้านการค้าปลีกในประเทศไทยตั้งแต่ยุคเปิดห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลสาขาแรก คือเซ็นทรัล วังบูรพา เมื่อ 70 ปีก่อน ภายใต้วิสัยทัศน์ตั้งแต่ยุคเตียงและสัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ ที่ต้องการสร้างศูนย์กลางของเมือง ชื่อ Central มีความหมายกว้างมาก เป็นทั้ง Center of the City และ Center of Life จากวันนั้นถึงวันนี้ Vision ความเป็น Central เป็น Vision เดียวกัน ไม่ล้าสมัยและอยู่ต่อไป โดยคนรุ่นที่ 3 กำลังสานต่อจากห้างเซ็นทรัลไม่กี่คูหา วันนี้ขยายสาขาทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ…”
ยุวดี จิราธิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจห้างสรรพสินค้า บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ตอกย้ำรากฐานแนวคิดและ Vision การดำเนินธุรกิจภายใต้กลยุทธ์ Centrality (เซ็นทรัลลิตี้) เพื่อเป็นศูนย์กลางของเมือง และการใช้ชีวิตในเมืองตั้งแต่ยุคก่อตั้งจนถึงล่าสุด
แน่นอนว่า สำหรับคนรุ่นที่ 3 อย่างยุวดี และโดยเฉพาะทศ จิราธิวัฒน์ ในฐานะประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทเซ็นทรัล รู้ดีว่าการช่วงชิงลูกค้าทั่วไปที่มีการแข่งขันสูงและได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศไม่ใช่เป้าหมายที่ยั่งยืน แต่กลุ่มลูกค้าระดับไฮเอนด์และตลาดต่างประเทศ คือกลุ่มเป้าหมายใหม่ที่สามารถสร้างรายได้เติบโตอย่างชัดเจน
ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทิศทางของกลุ่มเซ็นทรัลจึงพุ่งเป้าปักหมุดขยายฐานธุรกิจสู่ตลาดต่างประเทศอย่างหนักหน่วง ทั้งภูมิภาคยุโรปและอาเซียน โดยเฉพาะในยุโรป เพื่อสร้างเซกเมนต์ของห้างสรรพสินค้าระดับลักชัวรี่ (Central Luxury Collection) และเป็นลักชัวรี่เดสทิเนชั่นของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ที่เรียกว่า Central One World of Luxury หวังว่าจะสร้างความแข็งแกร่งของแบรนด์ “เซ็นทรัล” ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น
27 พฤษภาคม 2554 กลุ่มเซ็นทรัลโดยเซ็นทรัลรีเทล ประเดิมทุ่มเม็ดเงิน 260 ล้านยูโร หรือราว 11,000 ล้านบาท ซื้อกิจการ “ลา รีนาเชนเต (la Rinascente)” กลุ่มห้างหรูหราและมีชื่อเสียงมากที่สุดในประเทศอิตาลี เป็น 1 ใน 13 ห้างสรรพสินค้าของโลกที่ทุกคนต้องไปเยือน ซึ่งแต่ละปีมีลูกค้ามากกว่า 9.5 ล้านคน หรือประมาณ 25,000-35,000 คนต่อวัน ยอดขายเฉลี่ยต่อปีกว่า 400 ล้านยูโร
ลา รีนาเชนเตมีสาขารวม 11 สาขาในอิตาลี ได้แก่ สาขามิลาน โรมมี 2 สาขา ฟลอเรนซ์ กาตาเนีย กาลยารี ปาแลร์โม เจนัว ปาโดวา มอนซา ตูริน และจะเปิดสาขาที่ 12 กลางกรุงโรมในเดือนกันยายน 2560
จากห้างหรูในอิตาลี กลุ่มเซ็นทรัลลุยซื้อกิจการ “อิลลุม (IIIum)” ห้างสรรพสินค้าเก่าแก่ที่สุดในกรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์กในปี 2556 ซึ่งอิลลุมติดอันดับห้างสรรพสินค้าที่งดงามมากที่สุดในโลก มียอดขายเฉลี่ยต่อปี 200 ล้านยูโร
ถัดมาอีก 2 ปี ทศประกาศลงนามสัญญาเข้าร่วมลงทุนซื้อกิจการห้างสรรพสินค้าดังระดับพรีเมียมในประเทศเยอรมนี 3 แห่ง ได้แก่ ห้างคาเดเว (KaDeWe) ห้างโอเบอร์โพลลิงเกอร์ (Oberpollinger) และห้างอัลสแตร์เฮ้าส์ (Alsterhaus) โดยจับมือกับบริษัทอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ของยุโรป “ซิกน่า” (SIGNA) ในสัดส่วนการถือหุ้น คือกลุ่มบริษัทเซ็นทรัลถือครอง 50.1% ของกลุ่มคาเดเว (The KaDeWe Group) ซึ่งเป็นเจ้าของห้างสรรพสินค้าทั้ง 3 แห่งดังกล่าว และซิกน่าถือครองหุ้น 49.9%
ทั้ง 3 ห้างมียอดขายรวมต่อปีมากกว่า 600 ล้านยูโร ซึ่งทศระบุว่าจุดขายและจุดแข็งของห้างสรรพสินค้าทั้ง 3 แห่ง คือความเป็นแลนด์มาร์คระดับโลก มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 100 ปี มีชื่อเสียงมากที่สุดในเยอรมนี และตั้งอยู่ในเมืองที่มีความสำคัญทั้งด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ โดยคาเดเวเป็นห้างสรรพสินค้าที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในเยอรมนี ตั้งอยู่บนถนนโทเอนซีนสตราสเซอ (Tauentzienstrasse) ย่านชอปปิ้งสุดหรูกลางกรุงเบอร์ลิน มีพื้นที่ขายมากกว่า 60,000 ตารางเมตร และมีสินค้ามากกว่า 380,000 รายการ
ขณะที่โอเบอร์โพลลิงเกอร์ ตั้งอยู่บนถนนนอยเฮ้าเซอร์ (Neuhauser Strasse) ย่านชอปปิ้งที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงที่สุดในเมืองมิวนิก และอัลสแตร์เฮ้าส์ เป็นห้างหรูระดับพรีเมียม ตั้งอยู่ที่เมืองฮัมบูร์กติดกับทะเลสาบบินเนเอ้าสแต โดยกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นคนท้องถิ่น 50% นักท่องเที่ยว 50% ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสการทำตลาดและสร้างยอดขายเติบโตได้
ที่สำคัญ เมื่อรวมยอดขายทั้ง 5 ห้างหรูในยุโรป กลุ่มเซ็นทรัลจะมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 1,200 ล้านยูโร หรือประมาณ 60,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนรายได้ประมาณ 40% ทันที รวมทั้งขึ้นแท่น 1 ใน 3 ของผู้นำห้างสรรพสินค้าระดับพรีเมียมและลักชัวรี่ของยุโรป รองจากห้างกาเลอรีลาฟาแยต และห้างเซลฟริดจ์ส (Selfridges) แซงหน้าห้างแฮร์รอดส์ (Harrods)
ขณะเดียวกัน หากเทียบยอดขายในต่างประเทศของกลุ่มเซ็นทรัลตั้งแต่ปี 2554 มีอัตราเติบโตพุ่งพรวด 12 เท่า จาก 7,000 ล้านบาท เป็น 85,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ประเมินว่า จำนวนนักท่องเที่ยวกว่า 50% จากทั่วโลกต่างเดินทางมาท่องเที่ยวในยุโรป ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มเป็น 750 ล้านคนในปี 2573 และยุโรปถือเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อดี มีเศรษฐีใหม่เกิดขึ้นทุกปี
อย่างไรก็ตาม ทศไม่ได้ทิ้งตลาดประเทศไทย ในฐานะศูนย์กลางของประเทศและศูนย์กลางของอาเซียน แต่ใช้ยุทธศาสตร์เดียวกัน คือเจาะฐานใหม่ตลาดไฮเอนด์ ต่อยอดจาก “เซ็นทรัลชิดลม” ซึ่งถือเป็นหนึ่ง Central Luxury Collection และเป็นห้างที่มีกลุ่มลูกค้าต่างชาติจำนวนมาก
ปี 2557 กลุ่มเซ็นทรัลเปิดตัวโครงการ “เซ็นทรัล เอ็มบาสซี” ในกลุ่ม Central Luxury Collection บนที่ดินที่ชนะการประมูลบริเวณด้านหน้าของสถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย ณ จุดตัดระหว่างถนนเพลินจิตกับถนนวิทยุ เชื่อมต่อกับเซ็นทรัล ชิดลม โดยหวังจะให้เป็นศูนย์กลางระดับไฮเอนด์ใจกลางกรุงเทพฯ โดยช่วงระยะ 3 ปีจนถึงล่าสุด โครงการเซ็นทรัลเอ็มบาสซี ใช้เงินลงทุนมากกว่า 18,000 ล้านบาท ทั้งการก่อสร้าง การปรับรูปแบบพื้นที่เพื่อตอบโจทย์ลูกค้า และระดมแบรนด์ดังระดับโลกจนถือเป็นศูนย์การค้าแห่งแรกที่เปิดตัว 7 Facade Brands คือ Bottega Veneta, Chanel, Gucci, Hermes, Miu Miu, Prada, และ Ralph Lauren ในรูปแบบ Iconic Store ที่นำเสนอรูปแบบร้าน Duplex 2 ชั้น เต็มรูปแบบครั้งแรกในเมืองไทย
ล่าสุด เซ็นทรัลเอ็มบาสซีลงทุนเพิ่มแม็กเน็ตใหม่อีก 3 โซนใหม่ เพื่อดึงดูดกลุ่มลูกค้านิวเจนที่มีกำลังซื้อสูง ได้แก่ การเปิดโซนโอเพ่น เฮ้าส์ (Open House Co-living space) เพื่อเป็นโคเวิร์คกิ้งสเปซรูปแบบใหม่ ศิวิไล ซิตี้ คลับ โซเชียล คลับแห่งใหม่ และขยายโซนศูนย์อาหารระดับพรีเมียม อีทไทย รวมทั้งเปิดตัวโรงแรมหรูระดับ 5-6 ดาว “พาร์ค ไฮแอท กรุงเทพฯ” รองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวและลูกค้าระดับพรีเมียม อัตราค่าห้องพักเริ่มต้นเฉลี่ย 10,000 บาทต่อคืน
ยุวดีกล่าวว่า ทั้งเซ็นทรัลชิดลมและเซ็นทรัลเอ็มบาสซีถือเป็นแบรนด์ห้างในกลุ่ม Central Luxury Collection แต่เราไม่ได้หยุดเพียงแค่นั้น เพราะในปี 2561 ห้างเซ็นทรัลจะปลุกปั้นแบรนด์ใหม่ “แอสทรัล” ในโครงการเซ็นทรัลภูเก็ต ซึ่งเป็นมิกซ์ยูสโปรเจ็กต์ระดับลักชัวรี่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดบนเกาะภูเก็ตของกลุ่มเซ็นทรัล มีพื้นที่รวมกว่า 110 ไร่ มูลค่าการลงทุนเบื้องต้น 20,000 ล้านบาท
ประกอบด้วยอาคาร “เฟสติวัล” ซึ่งปรับจากศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล ภูเก็ตเดิม ภายใต้แนวคิดอาคารศูนย์การค้าที่มีรูปแบบชีวิตนานาชาติที่ดีที่สุดในภาคใต้ ทั้งการจับจ่าย สังสรรค์ ชมงานศิลปะ และออกกำลังกาย โดยต่อยอดแนวคิดจากศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล อีสต์วิลล์ และเชื่อมต่อกับอาคารที่ 2 “อีสต์” หรือเซ็นทรัลเฟสติวัล ภูเก็ต อีสต์ เดิม ซึ่งจะเพิ่มร้านค้าต่างๆ กว่า 100 ร้าน และพื้นที่จอดรถกว่า 1,000 คัน
ส่วนอาคารสุดท้าย “แอสทรัล” หรือลักชัวรี่วิง ซึ่งกลุ่มเซ็นทรัลวางโพสิชั่นนิ่งให้เป็นศูนย์ระดับลักชัวรี่ระดับเดียวกับศูนย์การค้าเซ็นทรัลเอ็มบาสซี และเป็นอาคารศูนย์การค้าที่ใหญ่ที่สุดของโครงการเซ็นทรัล ภูเก็ต โดยจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในเดือนกุมภาพันธ์ 2561 มีแม็กเน็ตสำคัญ ได้แก่ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ศูนย์อาหารอีทไทย เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ อควาเรีย ภูเก็ต ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับมาเลเซีย สร้างโลกใต้ทะเลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และสถานที่จัด Aqua Scape ที่ใหญ่ที่สุดในโลก รวมถึงสวนสนุก โรงภาพยนตร์ระดับพรีเมียม และโรงแรมระดับ 6 ดาว
เป้าหมายของเซ็นทรัลภูเก็ตและแอสทรัล คือการสร้างแลนด์มาร์คระดับลักชัวรี่แห่งใหม่ ที่ดึงดูดผู้คนทั่วโลกเช่นเดียวกับห้างหรูในยุโรป เนื่องจากภูเก็ตมีจุดแข็งติดอันดับเมืองท่องเที่ยวระดับโลก มีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปี 2560 จะสูงถึงประมาณ 20 ล้านคน เป็นจุดหมายปลายทางสำหรับ Luxury Lifestyle มีทั้งท่าเทียบเรือยอชต์ 5 ท่า รองรับเรือยอชต์ได้มากกว่า 1,190 ลำ และจะขยายอีก 3 ท่าเทียบเรือ มีเครื่องบินส่วนตัว (Private Jet) มากกว่า 600 ลำจอดขึ้น-ลงในภูเก็ต มีสนามกอล์ฟมากถึง 6 แห่ง ที่ใช้ในการแข่งขันระดับนานาชาติ มีจำนวนห้องพักของ Luxury Villa มากถึง 3,377 ห้อง และ Luxury Condominium มากถึง 6,200 ห้อง
นอกจากนี้ ภูเก็ตยังเป็น 1 ใน 9 จังหวัด Super Cluster ตามนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาล จะเป็น Smart city ศูนย์กลางเทคโนโลยีและการพัฒนาคุณภาพชีวิต (ICT Hub) และเป็น Marina Hub of Asean
ทว่า แผนปลุกแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของกลุ่มเซ็นทรัลไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อคู่แข่งยักษ์ใหญ่อย่างเดอะมอลล์ กรุ๊ป ประกาศทุ่มเม็ดเงิน 20,000 ล้านบาท ผุดโครงการ “บลูเพิร์ล” (BLÚ Pearl) หวังเป็นไข่มุกเลอค่าที่สุดแห่งเอเชียเช่นเดียวกัน
เพราะศึกนี้ไม่มีใครยอมใครแน่