“MK ยุคต่อไปต้องมาจาก New Generation เรากำลังพัฒนาคนรุ่นใหม่ หัวคิดใหม่และมีพลัง…”
ฤทธิ์ ธีระโกเมน ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ย้ำโรดแมพที่วางไว้หลังจากลุยสร้างอาณาจักรธุรกิจร้านอาหารมาอย่างยาวนาน ติด 1 ใน 20 มหาเศรษฐีไทย และตั้งเป้าต้องการเป็นผู้นำในฐานะ Restaurant Food Chain Expert เป็น Multi Brand Company ที่มีแบรนด์ร้านอาหารครอบคลุมทุกไลฟ์สไตล์ รองรับทุกตลาดและทุกกลุ่มเป้าหมาย
“เราเป็น Creative Founder ตอนนี้ยังไม่มีโอกาสเกษียณ 100% แต่ต้องเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ เพื่อเรียนรู้และก้าวข้ามไปให้ได้ ซึ่งไม่ใช่ง่าย ประสบการณ์มากมาย บางครั้งต้องใช้เวลาเรียนรู้นานถึง 10 ปี”
ทั้งนี้ เส้นทางของฤทธิ์ ธีระโกเมน เริ่มต้นชัดเจนหลังเปิดร้านสุกี้เอ็มเคสาขาแรกในศูนย์การค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว เมื่อ 30 กว่าปีก่อน โดยฉีกแนวคู่แข่งในเวลานั้น เปลี่ยนจากหม้อสุกี้เตาแก๊สเป็นเตาไฟฟ้า และใช้เวลาไม่กี่ปีปลุกปั้นแบรนด์ “เอ็มเคสุกี้” เป็นเจ้าตลาด “สุกี้หม้อไฟ” ลุยขยายสาขาอย่างต่อเนื่อง
ปี 2549 เอ็มเคคว้าสิทธิ์แฟรนไชส์ในการดำเนินกิจการร้านอาหารญี่ปุ่น “ยาโยอิ” จาก Plenus Co.,Ltd. ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่น และเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจร้านอาหารของประเทศญี่ปุ่น เปิดร้านอาหารยาโยอิสาขาแรกในประเทศไทย โดยเน้นแนวคิดการให้บริการรวดเร็ว มีคุณภาพ ปรุงใหม่ทุกจาน และราคาสมเหตุสมผล
จาก “ยาโยอิ” ขยายสู่ร้านอาหารญี่ปุ่นฮากาตะ ราเมน ในปี 2555 พร้อมๆ กับเปิดร้านอาหารญี่ปุ่นมิยาซากิ เทปปันยากิ นำเสนอเมนูกระทะร้อน และชิมลางพัฒนารูปแบบร้านกาแฟและเบเกอรี่ภายใต้ชื่อและเครื่องหมายการค้า “เลอ เพอทิท”
ปี 2556 ฤทธิ์และยุพิน ธีระโกเมน ตัดสินใจเปิดร้านอาหารไทย ณ สยาม ในศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา บางนา บริการอาหารไทยเต็มรูปแบบ เพื่อสะท้อนภาพร้านอาหารไทยที่เป็นจุดเริ่มต้นแบรนด์ MK สาขาแรกที่สยามสแควร์ ซอย 3 ของป้าทองคำ เมฆโต โดยเน้นเจาะกลุ่มลูกค้ารายได้ระดับกลางถึงสูง รวมทั้งเปิดร้านอาหาร เลอ สยาม บริการอาหารไทยเต็มรูปแบบเช่นกัน แต่จับกลุ่มลูกค้าระดับพรีเมียม เช่น ชาวต่างชาติ กลุ่มลูกค้ารายได้สูงและต้องการใช้ร้านเป็นสถานที่เลี้ยงรับรอง
ขณะเดียวกัน เร่งสร้างเซกเมนต์ใหม่ให้ร้านเอ็มเคสุกี้ เพื่อขยายฐานลูกค้าโดยวาง “เอ็มเคสุกี้” เป็นร้านสำหรับลูกค้ากลุ่มครอบครัว กลุ่มเพื่อน คนทำงาน รายได้ระดับปานกลางถึงสูง ส่วน “เอ็มเค โกลด์” จับกลุ่มรายได้ค่อนข้างสูง เน้นอาหารเกรดพรีเมียมและต้องการใช้ร้านเอ็มเค โกลด์ เป็นสถานที่เลี้ยงรับรอง เน้นความหรูหรา
ปัจจุบัน เอ็มเคกรุ๊ปมีร้านอาหารในเครือรวมมากกว่า 600 สาขา แยกเป็นแบรนด์เอ็มเค 425 สาขา ยาโยอิ 158 สาขา ฮากาตะ 3 สาขา มิยาซากิ 26 สาขา เลอ สยาม 4 สาขา ณ สยาม 1 สาขา และ เลอ เพอทิท 3 สาขา นอกจากนี้ มีสาขาในต่างประเทศ ซึ่งเป็นรูปแบบการขายสิทธิ์แฟรนไชส์ แบรนด์เอ็มเคและยาโยอิอีกราว 46 สาขา ได้แก่ ญี่ปุ่น 32 สาขา เวียดนาม 5 สาขา ลาว 2 สาขา สิงคโปร์ 7 สาขา
เบื้องต้น ในปี 2560 บริษัทวางแผนขยายสาขาใหม่อย่างน้อยอีก 40 สาขา แบ่งเป็น ร้านเอ็มเค สุกี้ 15 สาขา ร้านยาโยอิ 20 สาขา และร้านมิยาซากิ 5 สาขา เงินลงทุนนรวม 400-500 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้มีสาขาทั้งหมดภายในสิ้นปี 60 เกือบ 700 สาขา
ขณะเดียวกัน เร่งรุกเปิดสาขาในกลุ่ม CLMV มากขึ้น เช่น พม่า กัมพูชา อินโดนีเซีย ซึ่งอยู่ระหว่างการหาพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญและเข้าใจในธุรกิจอาหารอย่างแท้จริง
“ผมตั้งเป้าหมายระยะยาวภายใน 7 ปีข้างหน้าจะมีจำนวนสาขาทั้งหมด 1,000 สาขา เพื่อกระจายสาขาให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศ และเพื่อการเติบโตของบริษัท รวมทั้งยังหาโอกาสซื้อกิจการร้านอาหาร (M&A) ของต่างประเทศเข้ามา เพื่อเพิ่มความหลากหลายของธุรกิจและขยายตลาดในต่างประเทศให้รวดเร็วมากขึ้น ซึ่งตอนนี้มีดีลเจรจาหลายสิบราย ทั้งฟาสต์ฟู้ด ร้านเบเกอรี่ ร้านกาแฟ และเน้นแบรนด์อินเตอร์ เพราะหวังผล 2 ต่อ ได้ทั้งเชนและภาพลักษณ์อินเตอร์แบรนด์ เพื่อรุกต่างประเทศเร็วขึ้นด้วย”
อย่างไรก็ตาม โรดแมพระยะยาวทั้งหมดกำลังเดินไปพร้อมๆ กับการจัดทัพองค์กรและผลักดันทายาทรุ่นที่ 3 ซึ่งถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญ โดยเฉพาะการเขย่าองค์กรผสมผสานแนวคิดและการทำงานระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ให้กลืนเป็นเนื้อเดียวกัน
การเข้ามาของกลุ่มเจนเนอเรชั่นที่ 3 ไม่ว่าจะเป็นทายาททางฝั่งของฤทธิ์ อย่างทานตะวัน ธีระโกเมน ซึ่งล่าสุดเข้ามารับตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด ธีร์ ธีระโกเมน ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายสาขา แคทลียา ธีระโกเมน ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ และพิฑูรย์ มณีไพโรจน์ ผู้จัดการสถาบันฝึกอบรมเอ็มเค
หรือฟากของสมชาย หาญจิตต์เกษม น้องชายของยุพิน ซึ่งเป็นทั้งภรรยาของฤทธิ์และลูกสาวป้าทองคำ ได้แก่ สมาชิก หาญจิตต์เกษม ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายสาขา และวรากร หาญจิตต์เกษม ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่าย Research and Development
ทุกคนต้องเรียนรู้งานอย่างหนักตั้งแต่เริ่มต้นก่อนจะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บริหาร เพื่อพิสูจน์ฝีไม้ลายมือและกลยุทธ์ต่างๆ ซึ่งใช่ว่าทุกโครงการจะผ่านไฟเขียวทั้งหมด แต่ต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองที่เรียกว่า “Strategic Group” ซึ่งประกอบด้วยผู้บริหารหลัก 8-10 คน มีฤทธิ์ สมชาย และยุพิน นั่งเป็นที่ปรึกษาร่วมอยู่ด้วย เพื่อถกเถียงและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นต่างๆ ก่อนสรุปผล
ไม่เว้นแม้กระทั่ง แฟลกชิปสโตร์ “MK Live” สาขาแรกในศูนย์การค้า ดิ เอ็ม ควอเทียร์ โปรเจ็กต์ใหญ่ของทานตะวันและกลุ่มเจน 3 ซึ่งใช้เงินลงทุนสูงถึง 20 ล้านบาท มากกว่าการเปิดร้านเอ็มเคสุกี้เดิมถึงเท่าตัว เพราะตั้งแต่การวางคอนเซ็ปต์จนถึงเปิดร้าน ทีมเจน 3 ต้องเสนอและผ่าน Strategic Group ซึ่งทานตะวันกล่าวว่า สิ่งที่สะท้อนออกมาของเอ็มเคไลฟ์ นอกจากกลยุทธ์การตลาดใหม่ๆ ของกลุ่มเจน 3 ความสมบูรณ์แบบขององค์ประกอบต่างๆ เหนือสิ่งอื่นใด คือ ความร่วมมือของฝ่ายต่างๆ ทำให้กระบวนการทำงานทั้งหมดใช้เวลาไม่ถึง 1 ปี
ขณะที่ฤทธิ์ยืนยันว่า เอ็มเคไลฟ์เป็นภาพลักษณ์ใหม่ของเอ็มเค และเป็นโมเดลธุรกิจที่สร้างจุดแข็งใหม่ ทำให้เอ็มเคกรุ๊ปเติบโตต่อไปได้
จาก Creative Founder สู่ New Generation เอ็มเคยุคใหม่จาก “เจน 2” สู่ “เจน 3” ได้ฤกษ์พร้อมสู้ศึกธุรกิจแล้ว