ในยุคที่เทคโนโลยีกำลังพัฒนาก้าวล้ำไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง ไม่ว่าจะเป็นมุมใดของโลก สังคมโซเชียลเองก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตของผู้คนจำนวนมาก อุปกรณ์สื่อสารอิเล็กทรอนิกส์กลายเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิตประจำวันของคนหมู่มากไปแล้ว
หากแต่อีกซีกหนึ่งของโลกกว้างใหญ่ใบนี้ยังมีอีกหลายเมืองที่ผู้คนยังขาดปัจจัยสี่ซึ่งเป็นปัจจัยขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต ซึ่งส่งผลให้คุณภาพชีวิตด้อยกว่าหลายประเทศที่อยู่แวดล้อม
แม้ว่าสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวจะอุดมไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติอันเป็นเสน่ห์ที่สำคัญในการดึงดูดใจให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาสัมผัสวิถีแห่งความเป็นธรรมชาติและกลิ่นอายของเมืองที่เต็มไปด้วยประวัติและอารยธรรมที่น่าค้นหา
กระนั้นอีกหลายเมืองใน สปป.ลาว ยังขาดความพร้อมในเรื่องของระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต “น้ำ” หลายหมู่บ้านใน สปป. ลาว ประชาชนยังคงต้องใช้น้ำจากลำธาร หรือขุดเจาะนำน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ในการอุปโภคบริโภค ซึ่งจะประสบปัญหาเมื่อเข้าสู่หน้าแล้งที่ส่งผลให้แหล่งน้ำตามธรรมชาติแห้งเหือดลง
เมื่อสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่ยังไม่พร้อมสมบูรณ์นัก ไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่แล้ว ยังส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในท้องถิ่น ที่ทำให้ยากต่อการพัฒนาและต่อยอด ทั้งในมิติของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ที่น่าจะทำให้เกิดการลงทุนและการจ้างงานในอนาคต
แม้ว่าหลายเมืองใน สปป.ลาว เช่น เมืองหลา เมืองแบ่ง เมืองคอบ เมืองห้วยทราย เมืองไชบุลี เมืองยมมะลาด เมืองพะลานไช เมืองสาละวัน เมืองสุขุมา เมืองปากซอง เมืองโขง เมืองมูนละปาโมก และเมืองคีนาด จะยังต้องการการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน หากแต่สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) หรือ NEDA ที่มีพันธกิจสำคัญในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้าน
เมื่อมองว่าการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานนั้นนับเป็นเรื่องสำคัญซึ่งง่ายต่อการต่อยอดไปสู่การพัฒนาด้านอื่นๆ อย่างยั่งยืน และเพื่อให้ประเทศในกลุ่มอาเซียนได้พัฒนาก้าวหน้าไปพร้อมๆ กัน ทำให้ NEDA ตัดสินใจเลือกเมืองที่มีชายแดนติดต่อกับประเทศไทย 5 เมือง และมีบทบาทในเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจ สำหรับการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินและวิชาการ เพื่อพัฒนาระบบน้ำประปา
โดยโครงการพัฒนาระบบประปา 5 แห่งใน สปป. ลาว ได้แก่ 1. เมืองแบ่ง แขวงอุดมไช 2. เมืองคอบ แขวงไชยะบุลี 3. เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว 4. เมืองไชบุลี แขวงสะหวันนะเขต และ 5. เมืองโขง แขวงจำปาสัก
ทั้งนี้โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย และรัฐบาล สปป.ลาว ภายใต้วงเงินงบประมาณ 310 ล้านบาท โดยโครงการดังกล่าวมีการจำลองระบบประปาของไทยมาใช้ ซึ่งมีการก่อสร้างโรงกรองน้ำและท่อส่ง-จ่ายน้ำ โดยสูบน้ำมาจากแม่น้ำเซบั้งไฟมาทำน้ำประปา
หมุดหมายของโครงการดังกล่าวจะสร้างประโยชน์ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ 5 เมือง ได้มีคุณภาพชีวิตที่ได้มาตรฐาน มีน้ำสะอาดไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภค ปราศจากเชื้อโรคจากแหล่งน้ำดิบจากธรรมชาติ ลดค่าใช้จ่ายทางอ้อมในการรักษาพยาบาล การสูญเสียรายได้ รวมไปถึงระบบเศรษฐกิจของเมืองที่ฐานการรองรับการขยายตัวของการลงทุนในอนาคต การจ้างงาน การท่องเที่ยว รวมไปถึงภาคอุตสาหกรรม การค้าและการบริการ
สำหรับการพัฒนาระบบประปาซึ่งเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญต่อการดำรงชีวิตและเพิ่มมาตรฐานคุณภาพชีวิตของประชาชนใน สปป. ลาวให้หลุดพ้นจากความยากจน
อย่างไรก็ดี โครงการดังกล่าวยังสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2554-2558) ของ สปป. ลาว ที่มีเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาความยากจนและหลุดพ้นจากการเป็นประเทศด้อยพัฒนา
การขาดแคลนเงินทุนที่จะพัฒนาระบบประปาในหลายๆ เมือง จำเป็นที่ สปป.ลาวต้องขอรับความช่วยเหลือทางการเงินจากหน่วยงานอื่นๆ เพื่อการพัฒนาด้านต่างๆ กระนั้นก็ไม่สามารถพัฒนาระบบประปาได้ครบถ้วน ดังนั้น รัฐบาล สปป. ลาว จึงขอรับความช่วยเหลือเพิ่มเติมจากรัฐบาลไทยผ่าน NEDA โดยได้แจ้งความประสงค์อย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อมีการประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยความร่วมมือไทย-ลาว (Thailand-Laos Joint Commission for Bilateral Cooperation Meeting: JC) ครั้งที่ 16 ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2553
นอกเหนือไปจากความต้องการที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิต ขจัดความยากจนให้แก่ประชาชนของ สปป.ลาว ซึ่งหากปัญหาดังกล่าวได้รับการแก้ไขน่าจะส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวได้รับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และน่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวม และในระดับภูมิภาค ทั้งนี้การให้ความช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐบาลไทยแก่รัฐบาล สปป.ลาว ยังเป็นการช่วยสร้างความรู้สึกที่ดีของประชาชน สปป.ลาว ที่มีต่อประเทศไทย และยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศอีกด้วย
กระนั้นการให้ความช่วยเหลือทางการเงินต่อโครงการประปา 5 เมืองนั้น ภายในงบประมาณ 310 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินกู้ 305 ล้านบาท และเงินให้เปล่า (สำหรับค่าฝึกอบรม) 5 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขทางการเงินคือ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.5 ต่อปี อายุสัญญา 20 ปี (รวมระยะเวลาปลอดหนี้ 5 ปี) โดย NEDA ใช้เงินสะสมจำนวน 110 ล้านบาท เป็นแหล่งเงินทุนในลำดับแรก แล้วจึงขอรับการจัดสรรเงินงบประมาณจำนวน 100 ล้านบาท และกู้เงินจากสถาบันการเงินภายในประเทศนำไปให้รัฐบาล สปป.ลาว กู้ต่ออีก 100 ล้านบาท
นอกจากความช่วยเหลือด้านการเงินที่ NEDA มีให้แก่รัฐบาล สปป.ลาวในโครงการประปา 5 เมืองแล้ว ยังให้ความช่วยเหลือในการจัดอบรมบุคลากรให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการและดูแลรักษาระบบผลิตน้ำประปา ซึ่งเดิมทีรัฐบาล สปป.ลาว มีบุคลากรที่มีความรู้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ
ทั้งนี้โครงการพัฒนาระบบประปา 5 เมืองใน สปป.ลาว ยังเป็นโครงการที่สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทและภารกิจสำคัญของ NEDA ที่ต้องดำเนินการในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม ของประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้เกิดการจ้างงานและยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในท้องถิ่นนั้นๆ ให้ดีขึ้น สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยช่วยสนับสนุนให้ประชาชน สปป.ลาว มีมาตรฐานในการดำรงชีวิตสูงขึ้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจให้มีความเท่าเทียมกับประชาชนในกลุ่มประเทศอาเซียน
สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานใน สปป.ลาว ที่กำลังถูกพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ว่าจะมาจากความช่วยเหลือของประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย หรือประเทศอื่นที่รายล้อม หรือจากรัฐบาล สปป. ลาวเอง หากแต่ก็เป็นนิมิตหมายที่น่าจะทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในอนาคต
เพราะหากระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานได้รับการพัฒนาน่าจะส่งผลให้ สปป.ลาว ถูกจับตามองในฐานะประเทศกำลังพัฒนา ที่อุดมไปด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติ โดยเฉพาะเรื่องของการเป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นดีในภูมิภาคอาเซียน ที่แม้ว่าในปัจจุบันเมืองรอบนอกจะยังไม่ได้รับการพัฒนาไปมากเท่าใดนัก หากแต่ประเด็นที่น่าสนใจกลับอยู่ที่เมืองท่องเที่ยวของ สปป.ลาว ที่แม้ว่าจะได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั่วโลก แต่ยังสามารถคงรูปแบบวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมที่ผสมผสานกับวิถีชีวิตแบบใหม่ไว้ได้อย่างไม่ขัดแย้งกันมากนัก
เพราะรัฐบาล สปป.ลาวเอง มีข้อจำกัดสำหรับนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในด้านต่างๆ จะต้องเป็นไปตามกรอบและข้อกำหนดที่ไม่ทำลายความเป็นไปของท้องถิ่นจนวัฒนธรรมภายนอกเข้ามากลืนกินจนไม่เหลือเค้าโครงความงดงามเอาไว้ ทั้งวิถีชีวิตของผู้คน และธรรมชาติ
เมื่อใดก็ตามที่ สปป. ลาวพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานจนสามารถสร้างคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศให้ดีขึ้นแล้ว สิ่งที่ตามมาคือ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่น่าจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และอาจกลายเป็นเครื่องจักรสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต