วันพฤหัสบดี, ตุลาคม 31, 2024
Home > Cover Story > ฉายภาพแนวคิด อัญรัตน์ พรประกฤต ดีเอ็นเอ เจน 4 ของ ยูบิลลี่ ไดมอนด์

ฉายภาพแนวคิด อัญรัตน์ พรประกฤต ดีเอ็นเอ เจน 4 ของ ยูบิลลี่ ไดมอนด์

เป็นอีกครั้งที่ “ผู้จัดการ 360 องศา” ได้พูดคุยกับ ผู้บริหารของบริษัท ยูบิลลี่ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) อย่างคุณอัญรัตน์ พรประกฤต ทายาทรุ่นที่ 4 ของร้านเพชรที่ถือกำเนิดมาจากร้านเพชรเล็กๆ ย่านสะพานเหล็ก

แม้ไม่ได้วางตัวให้รับช่วงต่อธุรกิจของครอบครัว แต่การจับพลัดจับผลูในช่วงการค้นหาตัวเอง ทำให้อัญรัตน์เจอสิ่งที่ใช่ งานที่ชอบ จนก้าวเข้าสู่ปีที่ 22 ของการทำงานที่ ยูบิลลี่

“อัญไม่ได้ถูกวางแผนอนาคตว่าต้องเข้ามารับช่วงต่อ เพราะตอนที่คุณพ่อบริหารงานอยู่ ท่านคิดว่า สามารถที่จะลดความเป็นธุรกิจครอบครัว มองหาผู้บริหารมืออาชีพที่เหมาะสมเข้ามาทำงาน ท่านก็จะปล่อยให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไป ส่วนลูกๆ ใครอยากทำอาชีพอะไร เก่งด้านไหน มีความชอบอะไร ก็ไปทำในสิ่งที่ตัวเองชอบได้เลย” อัญรัตน์ พรประกฤต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ยูบิลลี่ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) ย้อนอดีตให้ฟัง

แต่ด้วยความที่เติบโตมาในบ้านที่ทำธุรกิจ การช่วยงานเล็กๆ น้อยๆ จึงเป็นเหมือนหน้าที่ ที่ไม่ต้องมีคนคอยบอก อัญรัตน์มักช่วยงานง่ายๆ ที่เด็กหญิงสักคนจะทำได้

“การช่วยงานหน้าร้าน เช่น เปิดประตูต้อนรับลูกค้า เสิร์ฟน้ำชา และสอบถามลูกค้าว่าต้องการจะล้างเครื่องประดับไหม หรือแม้แต่ก่อนจะเปิดร้าน เราต้องนำเครื่องเพชรออกจากเซฟมาจัดเรียงในตู้ และคอยช่วยเก็บเข้าเซฟในตอนปิดร้าน เราแค่รู้สึกว่านี่เป็นธุรกิจของที่บ้าน มีเวลาว่างก็ควรช่วย ถามว่าชอบไหม ตอนนั้นยังไม่เกิดความชอบ

ตอนเรียนจบปริญญาตรี อัญไปทำงานเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีที่ไพรซ์วอเทอร์เฮาส์คูเปอร์ส ทำงานได้ปีกว่าๆ ก็ถามตัวเองว่า อาชีพอะไรเหมาะกับเรา ในช่วงที่กำลังจะไปค้นหาตัวเอง กำลังจะไปเรียนต่อปริญญาโท ตอนนั้นเองที่บริษัทกำลังขาดเจ้าหน้าที่ฝ่ายต้นทุน ซึ่งอัญจบบัญชีมา คุณพ่อให้มาช่วยงานก่อน เพราะไม่มีคน ตั้งแต่ตอนนั้นจนถึงทุกวันนี้ก็เข้าสู่ปีที่ 22 ของการทำงานที่ยูบิลลี่ค่ะ”

แม้จะต่างจากวัฒนธรรมองค์กรของครอบครัวที่ประกอบธุรกิจตระกูลใหญ่ ที่มักจะถูกจับวางอนาคตไว้บ้าง แต่ต้องหลังจากออกไปหาประสบการณ์ด้วยตัวเองก่อนสักระยะ และสิ่งที่เกิดขึ้นกับอัญรัตน์บ่งบอกแนวคิดของผู้บริหารรุ่นก่อนหน้า คือ การทำงานในตำแหน่งล่างสุด ทำงานร่วมกับทีมงานคนอื่นๆ ไม่ได้ถูกปฏิบัติเฉกเช่นลูกเจ้าของธุรกิจ แต่จะถูกโปรโมตตำแหน่งก็ต่อเมื่อมีผลงานที่ดี แสดงความสามารถออกมาให้ทุกคนได้เห็น

“ตอนที่เข้ามาทำงาน ต้องเรียนเพิ่มเติมด้าน Gemologist คือ นักอัญมณีศาสตร์ เรียนการดูเพชร คัดเกรดเพชร การทำงานร่วมกับคุณพ่อ ต้องนำเสนองานเหมือนพนักงานคนอื่น ไม่มีสิทธิพิเศษ เช่น การคุยนอกรอบ ทุกอย่างจะต้องเป็นทางการ เวลานำเสนองานต้องทำพรีเซนเทชัน เล่าแผนงาน ที่มาที่ไป แนวคิด

ในช่วงแรกได้รับมอบหมายโปรเจกต์เพชรที่เป็นเม็ด คือเริ่มตั้งแต่ต้น สั่งเพชรจากเบลเยียม ทำสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ การดีลผ่อนชำระผ่านบัตรเครดิต เวลานั้นในทีมมี 3-4 คน แม้จะเป็นโปรเจกต์แรกแต่ประสบความสำเร็จมาก เพราะะสามารถเพิ่มยอดรายได้ปีนั้นมากถึง 25% ทำให้มั่นใจมากขึ้นว่า นี่น่าจะเป็นอาชีพที่เหมาะกับเรา”

สิ่งที่ถูกส่งต่อมายังมือของอัญรัตน์ไม่ใช่แค่ธุรกิจร้านเพชร แต่ยังมาพร้อมแนวคิดที่ไม่ใช่แค่การสั่งสอน แต่เป็นการทำให้เห็น ที่ผู้บริหารรุ่นที่ 4 รับรู้ได้ เสมือนดีเอ็นเอที่ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น

“ตั้งแต่เด็ก เราทันในรุ่นคุณปู่ หรืออากง ท่านเป็นคนกว้างขวาง เป็นนายกสมาคมเพชรพลอยหลายสมัย มีคนรักเยอะ เพราะชอบช่วยเหลือคน เราได้เรียนรู้ว่ามิตรภาพเป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินธุรกิจ ส่วนคุณพ่อจะแอ็กทีฟตลอดเวลา ไม่หยุดนิ่ง ไม่ยึดติดกับกรอบเดิม ไม่ยึดติดกับเจเนอเรชัน แม้ว่าปัจจุบันจะอายุ 70 แล้วก็ตาม

เรื่องพวกนี้ถูกถ่ายทอดมาที่เรา การคิดอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้หมายความว่าทำงานตลอดเวลา แต่การคิดตลอดเวลา คือเรื่องสนุก กับที่บ้านเราคุยเรื่องส่วนตัวกันน้อยมาก ส่วนใหญ่คุยกันเรื่องงาน แต่กลายเป็นบรรทัดฐานของบ้านเราไปแล้ว ไม่ได้แบ่งว่านี่คือ work นี่คือ life แต่เราเบลนด์ให้มันเป็นเรื่องเดียวกัน เรื่องเหล่านี้จึงกลายเป็น culture ของบ้านเรา

วันนี้ยูบิลลี่เติบโตขึ้นมาได้ เพราะเรามีความตั้งใจมุ่งมั่น และคิดต่าง ไม่หยุดนิ่ง นี่คือ ดีเอ็นเอ ที่ถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น และผู้ใหญ่ก็ทำให้เราเห็น พอมาถึงเจเนอเรชันเรา เราสามารถต่อยอดหรือเบรนด์จากความเป็นคนรุ่นใหม่กว่าอย่างไรได้บ้าง หลายคนมักจะบอกว่าอัญนิสัยคล้ายคุณพ่อที่เป็นคนแอ็กทีฟ ไม่หยุดนิ่ง”

นอกจากดีเอ็นเอแล้ว วัฒนธรรมองค์กร ค่านิยมที่ถูกส่งต่อมา และอัญรัตน์นำมาสานต่อคือ การดูแลพนักงานให้เหมือนคนในครอบครัว “พนักงานบางคนมาเริ่มงานที่ยูบิลลี่ที่แรก และทำจนถึงทุกวันนี้ เขามีความรักในองค์กร มาถึงรุ่นเรา นอกจากการดูแลแล้ว เรายังต้องเติมความรู้ให้เขาด้วย เพราะบุคลากรเป็นหัวใจของทุกองค์กร”

การรับช่วงต่อของทายาทรุ่นที่ 4 ในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงทางสังคมหลายมิติ เศรษฐกิจไทยชะลอตัว กำลังซื้อลดลง ปัจจัยลบรอบด้านที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญ อัญรัตน์บอกว่า ไม่ว่ายุคไหนต้องเผชิญกับความท้าทายที่แตกต่างกัน ในอดีตมีเรื่องความไม่สะดวก โดยเฉพาะการติดต่อสื่อสาร แต่ปัจจุบันในยุคที่ทุกอย่างเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว พฤติกรรมของลูกค้าไม่เหมือนเดิม คนทำธุรกิจต้องพบกับความท้าทายหลายรูปแบบ มีโจทย์ให้แก้ ต้องมองเป็นเรื่องสนุก

แต่สิ่งที่ดูจะเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด เมื่อธุรกิจเพชรอยู่ในมือของอัญรัตน์ คือ การใช้เทคโนโลยี AI ใส่เข้ามาในผลิตภัณฑ์ นั่นคือ แอปพลิเคชัน iMOMENT

“หลายคนอาจมองว่าธุรกิจจิวเวลรีกับเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกันได้ยาก แต่ในการบริหารงาน อัญจะทำงานไม่ได้เลยถ้าไม่มี Data และ AI ที่ช่วยให้การประมวลผลดีขึ้น เร็วขึ้น เราใช้สิ่งเหล่านี้ในการบริหารจัดการ สร้างกลยุทธ์ ดูแลลูกค้าได้

นอกจากนี้ เรายังพัฒนาแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า Jubilee iMOMENT ทุกวันนี้คนใช้โทรศัพท์มือถือกันอยู่ตลอด ซึ่งเราไม่ต้องการให้ลูกค้าเปลี่ยนพฤติกรรม แต่เราเปลี่ยนแอปนี้ให้กลายเป็นกล้องที่เมื่อนำมาส่องที่เพชร จะสามารถย้อนดูภาพที่เคยบันทึกไว้ในช่วงเวลาพิเศษ เช่น การขอแต่งงาน การถ่ายภาพพรีเวดดิ้ง หรือในพิธีแต่งงาน

แม้ว่าลูกค้าอาจจะมีภาพเก็บไว้ในมือถือ ในคอมพิวเตอร์ แต่พอนานวันอาจจะลืมเลือนไป ลืมว่าเก็บไว้ที่ไหน แอปนี้ทำให้ลูกค้าสามารถย้อนดูโมเมนต์ที่มีความสุขร่วมกันได้ตลอดเวลา แต่เรื่องนี้ไม่จำกัดแค่เฉพาะคู่รักเท่านั้น ลูกค้าอาจบันทึกช่วงเวลาสำคัญให้คุณพ่อคุณแม่ ซึ่งเรื่องนี้เกิดจากคติพจน์ของเราคือ  เราต้องการสร้างคุณค่าในการสวมใส่เครื่องประดับเพชรให้กับบุคคลทุกกลุ่ม”

แนวคิดและการทำงานของอัญรัตน์ในฐานะผู้บริหารของยูบิลลี่ นอกจากการนำพาธุรกิจของครอบครัวให้ขึ้นมายืนบนแถวหน้าได้อย่างแข็งแกร่ง ทายาทเจน 4 ยังคว้ารางวัลนักการตลาดดีเด่นระดับเอเชียจากเวที MARKETING EXCELLENCE AWARDS 2024  อัญรัตน์เล่าว่า รางวัลนี้ไม่ใช่แค่การมอบให้เฉยๆ แต่ต้องแข่งขันเหมือนนำเสนอกลยุทธ์ทางธุรกิจ ซึ่งมีนักการตลาดมากกว่า 10 ประเทศร่วมแข่งขัน

“ยูบิลลี่เกิดขึ้นมาจากกระดาษเปล่า เราไม่มีเชน หรือ Protocol เราก็นำเสนอกลยุทธ์การตลาดที่เราได้ทำกับยูบิลลี่ พูดง่ายๆ คือ เรานำเสนอความเป็นตัวตนของยูบิลลี่ ที่เราคิดถึงความต้องการของลูกค้า และเพิ่มมูลค่าในสินค้าได้อย่างไรให้เหนือกว่าความต้องการของลูกค้า

สิ่งที่ทำให้ได้รางวัลก็น่าจะเป็นวิธีคิดของเรา ที่ทำให้คณะกรรมการมองว่าตอบโจทย์ในฐานะนักการตลาด เราไม่ได้นำสิ่งที่เรามีไปบอกลูกค้าว่า “มันดี” แต่เรามองว่าลูกค้าต้องการอะไร และเราทำอะไรให้ได้เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้สินค้าที่ลูกค้าต้องการ”

ตลอดเส้นทาง 95 ปีของยูบิลลี่ ไดมอนด์ อาจบอกได้ว่า นี่เป็นแบรนด์ร้านเพชรที่คิดนอกกรอบ ซึ่งแน่นอนว่าแนวคิดการบริหารและทิศทางของธุรกิจขึ้นอยู่กับบุคลิกของผู้นำในแต่ละรุ่น แม้จะมีปลายทางอยู่ที่การเป็นผู้นำตลาด แต่สิ่งสำคัญที่ผู้บริหารทุกรุ่นจะยึดเป็นแนวทางไว้เสมอคือ การพัฒนาเครื่องประดับในระดับเวิลด์คลาส ทั้งการดีลกับซัปพลายเออร์ระดับโลกอย่างเหมืองเพชร De Beers และส่งเพชรไปเจียระไนที่ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นครอบครัวที่ทำธุรกิจเจียระไนเพชรมายาวนานกว่า 200 ปี

ยูบิลลี่ ไดมอนด์ ในมือของอัญรัตน์ ทายาทรุ่นที่ 4 ทิ้งท้ายไว้ว่า “การบริหารยูบิลลี่ให้เป็นมืออาชีพ Meet Internation Standard เป้าหมายคือการนำยูบิลลี่ไปบุกตลาดต่างประเทศ เพราะเพชรเรามีใบ Certificate และน้ำร้อย แม้ในอดีตเราจะเป็นผู้บุกเบิกในหลายๆ เรื่อง ยูบิลลี่อายุ 95 ปี เป็นมรดกตกทอด แต่เรายังต้องเป็นแบรนด์ที่ Fresh อยู่เสมอ เพราะไม่มีแบรนด์ไหนที่มีประสบการณ์เท่าเรา”.