วันอาทิตย์, กันยายน 8, 2024
Home > Cover Story > เปิดความคิดกรุ่นกลิ่นกาแฟ ของ ณัฏฐ์รดา คุณะวิวัฒนานนท์

เปิดความคิดกรุ่นกลิ่นกาแฟ ของ ณัฏฐ์รดา คุณะวิวัฒนานนท์

ในแวดวงอุตสาหกรรมกาแฟไทย คงไม่มีใครไม่รู้จัก นุ่น ณัฏฐ์รดา คุณะวิวัฒนานนท์ นายกสมาคมกาแฟพิเศษไทย จากความสงสัยในรสชาติขมๆ ของกาแฟที่รู้จักตั้งแต่วัยเด็ก สู่ผู้ชำนาญด้านกาแฟในปัจจุบัน จนนิยามความเป็นตัวตนว่า “ชีวิตที่มีกาแฟนำทาง”

หากจะนับเวลาตั้งแต่เริ่มทำความรู้จักกาแฟในช่วงวัยเด็กจนถึงปัจจุบัน นุ่น ณัฏฐ์รดา เรียนรู้เกี่ยวกับกาแฟมาตั้งแต่ประถมศึกษาปีที่ 6 จนเข้าสู่วัยทำงาน ณัฏฐ์รดาได้ทำงานในต่างประเทศอย่างที่ตั้งใจ แต่ทุกคนย่อมค้นหาความหมายของชีวิต ความสุข กระทั่งตัดสินใจย้ายสายงานที่เกี่ยวกับชิ้นส่วนเครื่องบินมาสู่โลกของกาแฟที่มีความขมชูใจ กรุ่นกลิ่นกาแฟปลุกให้สมองตื่นตัว

ณัฏฐ์รดาฉายภาพมุมมองที่มีต่ออุตสาหกรรมกาแฟในปัจจุบันว่า “ทิศทางการบริโภคกาแฟของไทยมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นทุกปี อัตราการเติบโตไม่น้อยกว่า 25% และปัจจัยที่ส่งผลให้เติบโต คือผู้บริโภคที่มีเพิ่มมากขึ้น มีธุรกิจอื่นที่เข้ามาในอุตสาหกรรมกาแฟมากขึ้น เช่น ธุรกิจบิวตี้ รวมถึงอุปกรณ์ เครื่องมือที่ใช้ในการบริโภคกาแฟ”

อุตสาหกรรมกาแฟเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีมูลค่ามากกว่า 3 หมื่นล้านบาทในปีที่ผ่านมา และหากจะมองถึงผลผลิตกาแฟที่ประเทศไทยทำได้ คือ 16,575 ตัน แบ่งเป็นพันธุ์อาราบิก้า 48.2% และโรบัสต้า 51.8% แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอต่อการบริโภคกาแฟของคนไทยที่ 300 แก้วต่อคนต่อปี ทำให้ไทยจำเป็นต้องนำเข้ากาแฟจากต่างประเทศ โดยในปี 2566 มีการนำเข้ากาแฟรวมมูลค่าประมาณ 338.42 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 12.90% เมื่อเทียบกับปี 2565

แบ่งเป็นการนำเข้ากาแฟดิบ 62,171.01 ตัน มูลค่า 184.76 ล้านดอลลาร์ กาแฟคั่ว 1,647.14 ตัน มูลค่า 27.55 ล้านดอลลาร์ กาแฟสำเร็จรูป 15,947 ตัน มูลค่า 126.11 ล้านดอลลาร์ และในช่วง 3 เดือนแรก (มกราคม – มีนาคม) ของปีนี้ ไทยมีมูลค่านำเข้ากาแฟ 76.3 ล้านดอลลาร์ และส่งออกกาแฟ 34.18 ล้านดอลลาร์

จากข้อมูลแสดงให้เห็นว่าไทยนำเข้ากาแฟดิบในปริมาณมาก เพื่อบริโภคในประเทศและแปรรูปส่งออกเป็นกาแฟสำเร็จรูป โดยตลาดส่งออกที่สำคัญคือ กัมพูชา สปป.ลาว และฟิลิปปินส์ ขณะที่การนำเข้าเมล็ดกาแฟดิบ ไทยนำเข้าจากเวียดนามมากที่สุด รองลงมาคือ อินโดนีเซีย และ สปป.ลาว

นอกจากนี้ ในโลกอุตสาหกรรมกาแฟขนาดใหญ่ยังมีหน่วยย่อยของกาแฟที่มีมูลค่าสูงและน่าสนใจ นอกเหนือไปจากมูลค่าที่สูงถึง 2,000 ล้านบาท ยังมีรสชาติที่ซ่อนความพิเศษ ที่บ่งบอกความใส่ใจ พิถีพิถันตั้งแต่การปลูกจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ

สิ่งที่น่าสนใจคือ การได้รับตำแหน่งนายกสมาคมกาแฟพิเศษ และภารกิจที่จะนำพาให้กาแฟพิเศษมีความยั่งยืน คงไม่ใช่แค่การเข้ามาทำการตลาดเพื่อโปรโมตกาแฟพิเศษไทยให้เป็นที่รู้จัก หรือเปลี่ยนความยากจนของเกษตรกรชาวไร่กาแฟให้มีกินมีใช้มากขึ้น

บทบาทของสมาคมกาแฟพิเศษไทย การทำงานทั้งหมดคือการยกระดับอุตสาหกรรมกาแฟในประเทศไทยให้เป็นกาแฟพิเศษ เริ่มพัฒนามาตั้งแต่ยังไม่มีกาแฟพิเศษ นอกจากนี้ สมาคมยังโฟกัสกาแฟพิเศษโดยเริ่มจากต้นน้ำ โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มมูลค่าและคุณภาพให้กาแฟพิเศษ ซึ่งนั่นจะส่งผลต่อค่าตอบแทนที่จะย้อนกลับไปยังเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ รวมถึงผู้คนที่อยู่ในแวดวงกาแฟพิเศษไทย

“ทุกชีวิตที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานกาแฟพิเศษจะต้องดีขึ้น นี่เป็นความพยายามของสมาคมกาแฟพิเศษไทย ปัจจุบันกาแฟพิเศษมีการเติบโตเร็วภายในช่วงเวลา 5 ปี ทั้งในมิติของผู้ปลูกกาแฟและนักดื่มกาแฟที่เริ่มต้นด้วยอายุที่น้อยลง สิ่งที่ตามมาคือนวัตกรรมที่สอดรับกับการเติบโตของอุตสาหกรรมกาแฟพิเศษ”

หากเทียบกับกาแฟต่างประเทศ เช่น โคลัมเบีย บราซิล และเคนยา ต่างประเทศได้เปรียบเรื่องพื้นที่ปลูก เช่น อาราบิก้าต้องปลูกในพื้นที่ที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 1,000เมตร แต่กาแฟไทยหากพิจารณาที่ผลลัพธ์เมื่ออยู่ในแก้วกาแฟ เกษตรกรไทยมีความเชี่ยวชาญแม้จะใช้เวลาในการเพาะปลูกกาแฟไม่นาน เรียกง่ายๆ ว่าเก่งในด้านกระบวนการเพาะปลูก แม้ว่ารสชาติของกาแฟไทยจะมีความหลากหลาย แต่ยังไม่ใช่รสชาติของสายพันธุ์ที่ชัดเจน

ณัฎฐ์รดาในฐานะนายกสมาคมกาแฟพิเศษไทย วางเป้าหมายและบอกความตั้งใจต่อกาแฟพิเศษไทยนับจากนี้ว่า “กาแฟถือเป็นสินค้าที่มีการเทรดเป็นอันดับสองรองจากน้ำมัน หมายความว่ากาแฟมีมูลค่าในตัวเองที่สูงอยู่แล้ว ในฐานะนายกสมาคมกาแฟพิเศษไทย มีความตั้งใจว่า จะต้องช่วยให้เกษตรกรปลูกกาแฟพิเศษมีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดกาแฟพิเศษ เกษตรกรไม่เปลี่ยนใจไปปลูกพืชชนิดอื่น หากจะบอกว่ากาแฟเป็นทางออกของ Climate Change ของไทยและของโลก

“ขณะที่ประเด็นสำคัญ คือ กาแฟพิเศษเป็นสินค้าที่ไม่มีเพดานราคา ซึ่งตรงกับเป้าหมายสำคัญของเรา คือ เราไม่ต้องการขายความน่าสงสารเกษตรกรที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ แต่เราต้องการขายคุณภาพของกาแฟที่ดี ต่างชาติให้การยอมรับ แม้ว่าปัจจุบันกาแฟพิเศษไทยจะเป็นที่รับรู้ในตลาดต่างชาติแต่ยังอยู่ในระดับน้อย เรามีความต้องการที่จะไปไกลกว่านี้

“แน่นอนว่า เราพร้อมที่จะแบ่งปันความรู้ ความเข้าใจให้แก่เกษตรกรหน้าใหม่ ผู้ประกอบการ และผู้ที่ชื่นชอบการดื่มกาแฟ เพราะกาแฟพิเศษคือ อนาคตของโลก อนาคตของป่า ของคนต้นน้ำ” ณัฏฐ์รดา คุณะวิวัฒนานนท์ ทิ้งท้าย.