วันอาทิตย์, กันยายน 8, 2024
Home > Cover Story > สุวิตา จรัญวงศ์ ลุยภารกิจ ดัน “เทลสกอร์” เบอร์ 1 อินฟลูเอนเซอร์

สุวิตา จรัญวงศ์ ลุยภารกิจ ดัน “เทลสกอร์” เบอร์ 1 อินฟลูเอนเซอร์

สุวิตา จรัญวงศ์ นักการตลาดสาวลูกครึ่ง ไทย-เยอรมัน อยู่ในวงการ Digital Marketing มานานมากกว่า 20 ปี เห็นการเปลี่ยนแปลงและโอกาสทองตั้งแต่ยังไม่มีใครเรียก Influencer Marketing  รีบจับมาเป็นธุรกิจ เขียนซอฟต์แวร์ตั้งแต่ปี 2548 เพราะมองกลยุทธ์การใช้ดารา นางแบบ นักกีฬา มาเป็นพรีเซนเตอร์สินค้า ไม่รู้ได้อะไรชัดเจน นอกจากภาพข่าวสวยๆ ลงหน้าข่าว

อย่างไรก็ตาม Passion การบุกเบิกและปลุกปั้นแพลตฟอร์มใหม่ต้องใช้เวลาหลายปี พิสูจน์ซอฟต์แวร์ที่เขียนขึ้นเองกับมือ กว่าจะได้ผลลัพธ์ชัดเจนและเห็นช่องทางทำรายได้ จนตัดสินใจจับมือกับเพื่อนเปิดบริษัท เทลสกอร์ จำกัด (Tellscore) ผู้พัฒนาเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มบริหารจัดการอินฟลูเอนเซอร์รายแรกของไทย

“สื่อโซเชียลมีเดียมาแรงตั้งแต่บริษัท แอปเปิล เปิดตัวไอโฟนรุ่นแรกเมื่อปี 2550 เกิดกระแสการใช้งานโซเชียลอย่างแพร่หลาย Facebook บูมในประเทศไทยแล้ว เกิดเน็ตไอดอลในวงการตลาด ก่อนมาถึงยุคบล็อกเกอร์ อินฟลูเอนเซอร์และครีเอเตอร์ แต่เน็ตไอดอลมักมีภาพลักษณ์ วับๆ แวมๆ จึงไม่ใช่คำที่นักการตลาดปลื้มมากนัก จนเกิดอินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งมาพร้อมกับคำว่า อินฟลูเอนเซอร์ มาร์เก็ตติ้ง ไม่ใช่ผู้ทรงอิทธิพล แต่เป็นผู้ส่งอิทธิพลทางความคิด”

นั่นคือจุดเริ่มต้นของตลาดอินฟลูเอนเซอร์ พร้อมๆ กับการวางภารกิจแจ้งเกิด “เทลสกอร์” ในวงการอินฟลูเอนเซอร์ มาร์เก็ตติ้ง ซึ่งหลายเอเจนซีไม่คาดคิดว่าจะขยายตัวอย่างรวดเร็วและสร้างเม็ดเงินมากมายมหาศาล โดยมีการคาดการณ์ตัวเลขตลาดอินฟลูเอนเซอร์ทั่วโลกมีมูลค่ามากกว่า 7 แสนล้านบาท ส่วนประเทศไทยล่าสุดมีมูลค่ารวมมากกว่า 40,000 ล้านบาท

จริงๆ แล้ว สุวิตาโลดแล่นอยู่ในวงการดิจิทัลมาร์เก็ตตั้งแต่เป็นนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพราะชอบงานคอมพิวเตอร์ออกแบบกราฟิก พอจบ ม. มหิดล เดินทางไปต่อปริญญาตรีด้านการออกแบบที่นิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้ทำงานกับบริษัทด้านเว็บดีไซน์ที่นั่น เก็บเกี่ยวประสบการณ์ UX associate หรือโปรแกรมการทำงานระหว่างโปรแกรมเมอร์กับดีไซเนอร์ แต่ทำได้ 1 ปี ครอบครัวเรียกกลับมาช่วยงานที่บ้าน หลังอยู่นิวยอร์กนาน 5 ปี

กลับมาเมืองไทย สุวิตาเริ่มทำงานในหน้าที่ UX specialist อีกครั้งในตำแหน่ง Art Director ที่บริษัทออกแบบเว็บ (web design) Cyber Image แต่ทำได้ปีเดียว ตัดสินใจลาออกมาเปิดบริษัทเองในปี 2543 ชื่อ Redlab เพราะความอยากโชว์ฝีมือ ออกไอเดียความคิดอย่างเต็มที่ และตลาด ณ เวลานั้น มีความต้องการด้าน Web Design อย่างมาก ขณะที่ยังไม่มีใครให้บริการด้าน UX มากนัก

แน่นอนว่า Redlab ให้บริการออกแบบเว็บที่มีจุดขายด้าน UX กิจการเติบโตดีมาก แต่ความเป็นคนเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลาและพบว่า ปัญหาของการให้บริการออกแบบเว็บ คือ ขาดตัววัดผลลัพธ์ด้านการตลาดระหว่างผู้ให้บริการกับลูกค้า หลายคนมองแค่ความสวยงามของเว็บเท่านั้น

เธอเกิด Passion อยากออกแบบซอฟต์แวร์ที่ตอบโจทย์ผู้ประกอบการได้อย่างตรงจุดและมั่นใจว่า นี่คือ โอกาสใหม่ท่ามกลางกระแสดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งที่กำลังมาแรง

ปี 2559 สุวิตาตัดสินใจปิดบริษัท Redlab และเปิดบริษัท Tellscore บุกเบิกแพลตฟอร์มใหม่ที่ช่วยการทำงานด้านการตลาดดิจิทัลแบบอัตโนมัติให้สามารถสร้างแคมเปญการตลาดด้วยอินฟลูเอนเซอร์ พลิกกระบวนการการตลาดด้วยบล็อกเกอร์เดิมในอดีตมาเป็นระบบซอฟต์แวร์ที่สามารถบริหารต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพแคมเปญตลาดได้มากขึ้น

“ตอนเปิด Redlab ทำดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง เป็นบริษัทดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งเอเยนซี และค่อยๆเขียนซอฟต์แวร์ครั้งแล้วครั้งเล่า เขียนมา 5 ปี จนตัดสินใจเปลี่ยนแบรนดิ้งให้เป็นแพลตฟอร์มใหม่ เปิด Tellscore บอกคอนเซ็ปต์ตรงๆ คือ การให้คะแนนในทุกๆ การบอกต่อ แพลตฟอร์มที่วัดผลได้เป็นรูปธรรม ปรับโมเดลและปรับฐานลูกค้าใหม่ทั้งหมด”

ปัจจุบัน Tellscore คือ Influencer Hiring Automation Platform เชื่อมต่อนักการตลาดเข้ากับเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ในโซเชียลมีเดีย ทั้งให้คำปรึกษา สร้างกลยุทธ์ต่างๆ ออกแบบแคมเปญ บริการเอเจนซีด้านอินฟลูเอนเซอร์ครบวงจร และแพลตฟอร์มอินฟลูเอนเซอร์ โดยล่าสุดมีเครือข่ายอินฟลูเอนเซอร์ในระบบประมาณ 85,000 คน ใน 12 หมวดหลัก ครอบคลุมทุกไลฟ์สไตล์และกำลังแยกหมวดย่อยรับเทรนด์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้น

ได้แก่ 1. Women, Beauty, Fashion 2. Food, Restaurants, Café 3. Tech, Gadget, Game 4. Design, Art, Decor 5. Investment, Finance, Real Estate 6. Entertainment, Movies, Celebs 7. Motorsports, Cars 8. Health, Sports, Mom & Baby 9. Social News, Variety 10. Travel 11. Lifestyle, Hobby, Cooking, Pets, etc. 12. Gurus, Specialists

ขณะเดียวกันมีบริษัทผู้ประกอบการและแบรนด์ต่างๆ เข้ามาเป็นลูกค้ามากขึ้น เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย เลย์ เนสท์เล่ ยูนิชาร์ม ดัชมิลล์ อิชิตัน ฟู้ดแพนด้า ช้อปปี้ ลาซาด้า ไทยประกันชีวิต ไอคอนสยาม สยามพารากอน คิงเพาเวอร์ เอไอเอส ทรูคอร์ปอเรชั่น เถ้าแก่น้อย วาโก้ ฟาร์มเฮ้าส์ ห้าดาว บ้านปู และอีกหลายบริษัท

“ตลาดอินฟลูเอนเซอร์เติบโตกว่าที่คาด เพราะไม่ได้คิดว่าจะบูมขนาดนี้ โดยช่วงสิบปีแรกตั้งแต่เกิดไอโฟน ปี 2551-2560 ผ่านไปแล้ว มาถึงช่วงสิบปีที่สอง ปี 2561-2570 โลกดิจิทัลน่าจะเปลี่ยนรูปเปลี่ยนนาม เพราะ AI เข้ามา ครีเอเตอร์เกิดขึ้นมาก ผู้เล่นอย่าง TikTok มีบทบาทสร้างอะไรข้ามคืนได้เลย และอีคอมเมิร์ซมีการทำครีเอเตอร์คอมเมิร์ซ ทั้งช้อปปี้ ลาซาด้า ต้องมีครีเอเตอร์ไลฟ์อยู่ในนั้น อีคอมเมิร์ซจะมีอิมแพ็กในวงการนี้มาก”

ส่วนบริษัทที่จับอินฟลูเอนเซอร์มาร์เก็ตติ้งแบบเดียวกับเทลสกอร์เกิดมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งรวมถึงทุกๆ เอเยนซี มีการขายแพ็กเกจอินฟลูเอนเซอร์และแยกงบอินฟลูเอนเซอร์ออกจากงบโฆษณา ซึ่งสะท้อนให้เห็นแนวโน้มตลาดจะเติบโตและแข่งขันรุนแรงต่อเนื่อง ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทำให้เธอพยายามสร้างมาตรฐานอินฟลูเอนเซอร์ โดยจัด Ranking ประกวด The Best Influencer Award เป็นบริษัทแรก ตั้งแต่ปี 2562 ไม่ใช่แค่ผลทางธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการสร้างเกราะให้สังคมด้วย

“เรารู้สึกว่า โซเชียลมีเดีย ถ้าอยู่ในมือของคนไม่ดี อันตรายมาก สำคัญมาก ผู้ที่มีส่วนได้เสีย อุตสาหกรรม ต้องเป็นคนให้ ไม่ใช่หวังสร้างรายได้ทางเดียว เพราะมีสินค้าผิดกฎหมายรอรีวิวเยอะมาก เพราะฉะนั้นต้องไม่โลภ โพสต์วันเดียวแล้วลบ ไม่มีหลักฐาน มันเร็วมาก เรายืนกรานมาก ต้องระวังไม่ให้เกิดขึ้น การส่งสารไปเป็นเยาวชนทั้งสิ้น”

ถามว่า วาดฝันกับเทลสกอร์ไปไกลแค่ไหน

ซีอีโอสาวย้ำกับ “ผู้จัดการ360 องศา” ว่า อาชีพนี้เป็นอาชีพในฝัน ตื่นเช้า อายุขนาดนี้ยังตื่นเต้นในการทำงานทุกวัน เหนื่อย เครียด มี ไม่ใช่แค่มือก่ายหน้าผาก เอาเท้าก่ายหน้าผากด้วย แต่คุ้มที่จะเครียด คุ้มที่จะเหนื่อย เพราะเป็นสิ่งที่เราชอบ หายเครียด หายเหนื่อยเร็ว เราชอบงานด้านการสื่อสารมานานแล้วและยิ่งทำงานกับสื่อใหม่ ไม่ใช่แค่คนรุ่นใหม่ แต่เป็นสื่อใหม่ที่ไปกับเขานานแล้ว ปรับตัว ช่วยกันดูแล

ที่สำคัญมีภารกิจสำคัญ คือ การผลักดันเทลสกอร์เป็นเบอร์ต้นๆ ในตลาดแพลตฟอร์มนี้ด้วย.