วันพฤหัสบดี, ตุลาคม 31, 2024
Home > Cover Story > UOB Sustainability Compass บทบาทของสถาบันการเงินกับความยั่งยืน

UOB Sustainability Compass บทบาทของสถาบันการเงินกับความยั่งยืน

นาทีนี้ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจประเภทใดหรือขนาดไหนก็ตาม ต่างต้องเร่งปรับตัวเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นธุรกิจสีเขียวที่ดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์โลกที่บีบรัดเข้ามาเรื่อยๆ และเพื่อสร้างจุดแข็งสำหรับการแข่งขันในตลาด

แต่แน่นอนว่าการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจสีเขียวไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้ทั้งความมุ่งมั่น ข้อมูลที่เพียงพอ และการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐในฐานะผู้รับผิดชอบด้านกฎระเบียบและมาตรการสนับสนุนเชิงนโยบายต่างๆ และสถาบันการเงินที่ให้การสนับสนุนด้านสินเชื่อ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าการเปลี่ยนผ่านองค์กรสู่ความยั่งยืน จำเป็นต้องใช้งบประมาณเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง

ที่ผ่านมาสถาบันการเงินต่างออกมาเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนให้ภาคธุรกิจเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนกันมากขึ้น ที่เห็นกันบ่อยๆ คือ การปล่อยสินเชื่อสีเขียวสำหรับภาคธุรกิจที่ต้องการ Go Green อย่างธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กับสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนธุรกิจ (Sustainable financing for SME) สำหรับธุรกิจ SMEs ที่ต้องการสินเชื่อเพื่อพัฒนาในด้านการประหยัดพลังงาน รักษาสิ่งแวดล้อม และจัดการธุรกิจให้เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม วงเงินรวมสูงสุด 50 ล้านบาท

สินเชื่อเพื่อโลกเพื่อเรา (Green Forward) สินเชื่อสำหรับผู้ผลิต ผู้ขายและผู้ใช้ ที่ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน, ป้องกันและควบคุมมลพิษ, ธุรกิจจัดหาและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่สนับสนุนการผลิตหรือการบริโภคสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม วงเงินรวมสูงสุด 50 ล้านบาท

รวมถึงการผนึกกำลังกับ SCG ตั้งโมเดลให้บริการด้าน Green Finance แบบครบวงจร ตั้งแต่ออกแบบโครงการจนถึงการยื่นขอสินเชื่อ เจาะกลุ่มผู้ประกอบการที่ต้องการยกระดับอาคารสู่ Net Zero Building

ด้านธนาคารกสิกรไทยก็เดินหน้าสนับสนุนภาคธุรกิจในการเปลี่ยนผ่านทั้งในส่วนของสินเชื่อด้านสิ่งแวดล้อม (Green Loan) และสินเชื่อเพื่อการปรับปรุงกระบวนการทางธุรกิจในการเปลี่ยนผ่าน (Transition Finance) เจาะกลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยตั้งเป้าปี 2573 ปล่อยสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนที่ 2 แสนล้านบาท (รวมไทยและธุรกิจต่างประเทศ) คิดเป็น 10% ของพอร์ตสินเชื่อรวมทั้งหมดของธนาคารที่มีอยู่กว่า 1.7 ล้านล้านบาท

ในขณะที่ผลสำรวจจากรายงาน UOB Business Outlook Study 2024 โดยยูโอบีระบุว่า ร้อยละ 94 ของธุรกิจไทยตระหนักว่าประเด็นความยั่งยืนเป็นสิ่งสำคัญสำหรับธุรกิจ และร้อยละ 22 ของผู้ตอบแบบสำรวจมีแผนที่จะเปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ในอีก 3 ปีข้างหน้า อีกทั้งต้องการความช่วยเหลือจากธนาคารในด้านต่างๆ เช่น ต้องการเชื่อมต่อกับบริษัทที่อยู่ในระบบนิเวศอุตสาหกรรมเดียวกันเพื่อเรียนรู้แนวปฏิบัติ ต้องการบริการด้านการลงทุน รวมถึงคำแนะนำที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานด้าน ESG และต้องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

จากความต้องการดังกล่าวทำให้ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย ตัดสินใจจับมือกับ พีดับบลิวซี พัฒนา UOB Sustainability Compass เครื่องมือชิ้นแรกที่ออกแบบมาเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ในทุกอุตสาหกรรมในการเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่ความยั่งยืน ด้วยการทำแบบประเมินออนไลน์เพื่อรับรายงานที่ระบุแผนงานและขั้นตอนการดำเนินงานที่ชัดเจน รวมถึงคำแนะนำด้านโซลูชันทางการเงินจากยูโอบี ซึ่งเปิดตัวไปสดๆ ร้อนๆ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

อัมพร ทรัพย์จินดาวงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ Commercial Banking ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย เปิดเผยถึงที่มาของการจัดทำ UOB Sustainability Compass กับ “ผู้จัดการ 360 องศา” ว่า

“ผู้ประกอบการรับรู้รับทราบถึงความสำคัญ แต่มีปัจจัยหลายอย่างที่ยังเป็นอุปสรรคในการนำเรื่องความยั่งยืนมาใช้ปฏิบัติ อย่างแรกที่ทุกคนห่วงเหมือนกันหมดคือ ‘ค่าใช้จ่าย’ ถ้าจะทำเรื่องความยั่งยืน มันมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมเข้ามามากน้อยขนาดไหน มีผลกระทบต่อธุรกิจในระยะสั้นและกำไรของบริษัทอย่างไรบ้าง”

“เรื่องที่สองคือความพร้อมในแง่ของบุคลากร โครงสร้างภายในไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ สาธารณูปโภค infrastructure ของโรงงานต่างๆ พร้อมไหมกับการปรับเปลี่ยนเพื่อรองรับความยั่งยืน”

“เรื่องที่สาม เขาห่วงเรื่องภาครัฐหรือแม้แต่สถาบันการเงินจะเข้ามามีส่วนช่วยเหลือให้เขาสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนตรงนี้ได้อย่างไร รัฐมีมาตรการอะไรไหม ธนาคารสนับสนุนอย่างไรได้บ้าง และเขาจะเข้าถึงสินเชื่อทางการเงินเพื่อไปสู่การเปลี่ยนผ่านได้อย่างไร นี่คือโจทย์ใหญ่ที่ยูโอบีมองเห็นว่าเป็นสิ่งที่เราต้องตอบคำถามผู้ประกอบการ และสถาบันการเงินเองต้องเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งสำคัญมากในการผลักดันผู้ประกอบการ สนับสนุน และให้คำแนะนำว่าเขาจะเดินไปอย่างไรได้บ้าง”

โดย UOB Sustainability Compass เป็นเครื่องมือในรูปของแบบประเมินออนไลน์ ที่จะช่วยวัดระดับและประเมินความพร้อมด้านความยั่งยืนของบริษัทว่าอยู่ในระยะใด บริษัทสามารถลงทะเบียนเพื่อทำแบบสอบถาม และรับรายงานที่รวบรวมแนวทางที่ชัดเจนในการพัฒนาธุรกิจไปสู่ความยั่งยืนได้ ซึ่งในรายงานมีการรวบรวมข้อมูลจำเพาะของกฎระเบียบ บรรทัดฐาน และมาตรฐานที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านความยั่งยืนที่จะมีผลต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทของแต่ละอุตสาหกรรม พร้อมคำแนะนำเกี่ยวกับโซลูชันทางการเงินที่เหมาะสมให้แก่บริษัท

ด้าน พนิตตรา เวชชาชีวะ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ Financial Institution และ ESG Solutions อีกหนึ่งกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืนของยูโอบี เสริมว่า

UOB Sustainability Compass เป็นเครื่องมือออนไลน์ที่ช่วยประเมินระดับความพร้อมของธุรกิจ โดยเข้าไปตอบคำถาม 14 ข้อ ใช้เวลาเพียง 5 นาที ก็สามารถวัดความพร้อมได้ หรือดูว่าควรพัฒนาธุรกิจอย่างไร ควรเริ่มอย่างไร ตรงไหน ทำอย่างไร มีอะไรสำคัญที่ธุรกิจควรรู้ ทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องและระเบียบข้อบังคับต่างๆ”

สำหรับ UOB Sustainability Compass มีการเปิดตัวครั้งแรกในสิงคโปร์และมาเลเซีย เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 มีผู้ประกอบการมากกว่า 1,700 บริษัทที่เข้ามาทำแบบประเมินนี้ ส่วนไทยเป็นประเทศที่ 3 ที่มีการนำมาใช้ ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทจากหลากหลายอุตสาหกรรมได้ทดลองใช้เครื่องมือนี้กว่า 300 ราย ประกอบด้วย บริษัท มโนห์รา อุตสาหกรรมอาหาร จำกัด ผู้ผลิตข้าวเกรียบรายใหญ่ของประเทศ และ บริษัท ยูนิคอุตสาหกรรมพลาสติก จำกัด เป็นต้น และหลังจากนี้ยูโอบีมีแผนจะเปิดตัวเครื่องมือนี้ที่อินโดนีเซียเป็นลำดับต่อไป

ซึ่งยูโอบีคาดหวังว่าเครื่องมือนี้จะเป็นดั่งเข็มทิศที่ช่วยให้ธุรกิจเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจสีเขียวได้อย่างราบรื่นและรวดเร็ว แต่แน่นอนว่าตัวเลขการปล่อยสินเชื่อสีเขียวคืออีกหนึ่งผลลัพธ์ที่จะได้กลับมา โดยอัมพรกล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า “เวลาที่ไม่รู้ว่าตัวเราอยู่ตรงไหน เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าต้องทำอะไรต่อ เครื่องมือนี้จะเป็นตัวที่ตอบโจทย์ และทำให้เราเดินไปในทิศทางที่เหมาะกับธุรกิจได้ ที่สำคัญนี่เป็นสิ่งที่ทำให้ยูโอบีแตกต่างจากธนาคารอื่น”

นอกจาก UOB Sustainability Compass แล้ว ที่ผ่านมายูโอบี ประเทศไทย มีการนำเสนอโซลูชันด้านความยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง เช่น U Solar, U Energy และ U Drive 3 โซลูชันที่พัฒนามาเพื่อตอบโจทย์ผู้ประกอบการที่เกี่ยวกับการทำโซลาร์ พลังงานหมุนเวียน และอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า โดยตั้งแต่เปิดโครงการ U Solar ในไทยมา ยูโอบีปล่อยสินเชื่อไปแล้วประมาณ 3,800 ล้านบาท และตลอดระยะเวลาที่เริ่มทำสินเชื่อสีเขียว ตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปีที่ผ่านมา ยูโอบีมียอดการปล่อยสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนให้กับบริษัทที่เป็นลูกค้าของธนาคาร รวมแล้วมากกว่า 33,000 ล้านบาท.