วันจันทร์, ตุลาคม 7, 2024
Home > Cover Story > VERTIER เฟอร์นิเจอร์สัญชาติไทย ที่เกิดจากความหลงใหลในการออกแบบ

VERTIER เฟอร์นิเจอร์สัญชาติไทย ที่เกิดจากความหลงใหลในการออกแบบ

เรียกว่าน่าสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ เลยทีเดียว สำหรับแบรนด์เฟอร์นิเจอร์สัญชาติไทย ที่โดดเด่นด้วยคุณภาพและดีไซน์ที่เรียบหรูมีเอกลักษณ์ไม่แพ้แบรนด์ชั้นนำจากต่างประเทศ อย่าง “VERTIER” (เวอร์เทียร์) แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ที่เกิดจากความหลงใหลในงานออกแบบของ “วรวุฒิ จันทวี” ที่เพิ่งเปิดแฟล็กชิพ แกลอรี บนทำเลทองอย่างถนนราชดำริ ด้วยพื้นที่โชว์รูมที่มากถึง 800 ตารางเมตร ไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

วรวุฒิ จันทวี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วี เดคคอร์ จำกัด (Vie Décor) และผู้ก่อตั้งแบรนด์  VERTIER เล่าถึงที่มาของแบรนด์เฟอร์นิเจอร์สัญชาติไทยว่า จุดเริ่มต้นของ VERTIER มาจากความหลงใหลในงานออกแบบที่ผนวกกับความรู้เรื่องเฟอร์นิเจอร์เป็นทุนเดิม

“ผมมีโอกาสได้ไปเรียนและทำงานที่สหรัฐอเมริกา พบรุ่นพี่คนหนึ่งเขาทำงานตกแต่งร้านอาหารที่นิวยอร์ก เป็นการนำเอาความชอบมาทำเป็นอาชีพ พอกลับมาเมืองไทยก็เลยลองทำ โดยใช้ความชอบในเรื่องการออกแบบและชอบทำงานประดิดประดอยมาใช้ พอดีมีเพื่อนทำร้านเสื้อผ้า เราก็อาสาทำเป็นชั้นวางเครื่องประดับ ราวแขวนเสื้อผ้าให้เขา เป็นงานดิสเพลย์สินค้า เริ่มจากงานเล็กๆ ในร้านเสื้อผ้าเล็กๆ”

ชิ้นงานดิสเพลย์สินค้าของวรวุฒิได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากทั้งร้านเสื้อผ้าและร้านอาหาร ขนาดที่ว่าต้องเข้าห้างสรรพสินค้าเกือบทุกคืนเพื่อนำผลงานไปวาง ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก แต่จากงานดิสเพลย์สินค้าชิ้นเล็กๆ ปรากฏว่าทำไปทำมา ผลงานของวรวุฒิได้ไปเข้าตาดีไซเนอร์จากร้านเสื้อผ้าแห่งหนึ่ง และนั่นทำให้งานออกแบบของเขาขยายสเกลจากร้านเล็กๆ ไปสู่ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่

“เวลาดีไซเนอร์เขามาสั่งงานเรา เขาไม่ได้บอกว่าจะเอาไปตั้งที่ร้านไหน หรือแบรนด์ไหน แต่มันมีจุดหนึ่งที่เราไปเห็นงานของเราในร้านแบรนด์หรูในห้างดัง นั่นเป็นจุดที่ทำให้เรารู้สึกว่างานเรามีคุณภาพพอที่จะเอามาขึ้นเป็นงานเฟอร์นิเจอร์ได้”

นั่นทำให้วรวุฒิตัดสินใจเริ่มทำเฟอร์นิเจอร์โดยเริ่มจากงานชิ้นเล็กๆ อย่างโต๊ะหินอ่อน และเอาไปฝากขาย ซึ่งเมื่อ 5-6 ปีที่แล้วงานเฟอร์นิเจอร์หินอ่อนยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก เขาจึงถือเป็นผู้บุกเบิกในการทำเฟอร์นิเจอร์จากหินอ่อนเบอร์แรกๆ ของเมืองไทย

“แรกๆ เราทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นเล็กๆ ก่อน ปรากฏว่าผลตอบรับดีมาก ลูกค้าถามว่านอกจากโต๊ะแล้วผลิตอย่างอื่นอีกไหม ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีชื่อแบรนด์ด้วยซ้ำ เลยคิดว่าถ้ามีลูกค้าสนใจเยอะขนาดนี้ลองสร้างเป็นแบรนด์เล็กๆ ดูไหม จึงเป็นที่มาของชื่อแบรนด์ VERTIER และขายแบบออนไลน์มาเรื่อยๆ”

VERTIER คือความสนุก

สำหรับชื่อแบรนด์ VERTIER วรวุฒิเปิดเผยว่า จริงๆ แล้วเป็นคำที่สร้างขึ้นมาเอง แต่บังเอิญไปพ้องกับภาษาดัตช์ ที่แปลว่า amusement ที่หมายถึงความสนุก ซึ่งตรงกับคาแรกเตอร์ของแบรนด์ที่เน้นการออกแบบให้ดูสนุก มีลูกเล่น เวลาคุยกับลูกค้าจะเน้นความสนุก เหมือนเป็นการสร้างผลงานร่วมกัน

VERTIER ออกสตาร์ทด้วยการออกแบบเฟอร์นิเจอร์โต๊ะอาหารที่ผสมผสานหินอ่อนธรรมชาติกับสเตนเลสเข้าไว้ด้วยกัน ก่อนจะค่อยๆ พัฒนาไปสู่การดีไซน์ที่หลากหลายมากขึ้น เช่น งานไม้สไตล์คอนเทมโพรารี หรืองานสไตล์อาร์ตพีซที่ยูนิคไม่เหมือนใคร รวมถึงเฟอร์นิเจอร์ประเภทอื่นๆ ทั้งเก้าอี้ โซฟา ตามคำเรียกร้องของลูกค้า โดยระยะแรกยังไม่มีหน้าร้านและเน้นขายเฉพาะในงาน Exhibition อย่างในงานบ้านและสวน รวมถึงช่องทางออนไลน์เป็นหลัก ซึ่งได้รับผลตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี จนทำให้วรวุฒิตัดสินใจเปิดโชว์รูมที่ Crystal Design Center (CDC) ย่านรามอินทรา เป็นที่แรก

“จากโต๊ะเล็กๆ ลูกค้าก็ถามมาเรื่อยๆ ว่าเราผลิตอย่างอื่นไหมเพราะเขาอยากซื้อแบรนด์เราไปเลยทีเดียว เพราะเราออกแบบให้มีวัสดุให้เลือกเยอะ และมีการทำแบบ 3D ให้ลูกค้าดูก่อน เขามั่นใจและทำให้เราต่อยอดมาเป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นอื่นๆ ซึ่งตอนแรกที่เริ่มทำเราขายตามงานและออนไลน์เป็นหลัก ลูกค้าพิมพ์ข้อความมาในอินสตาแกรม และซื้อโดยที่ไม่เห็นของ เพราะเราให้ข้อมูลครบ อาจจะมีงานตัวอย่างที่ลองทำขึ้นมาและถ่ายรูปนำเสนอเขาในออนไลน์ หลังๆ ลูกค้าเริ่มถามว่ามีโชว์รูมไหม นั่นทำให้เราตัดสินใจเปิดโชว์รูมที่ CDC เป็นที่แรก”

หลังจากเปิดโชว์รูมที่ CDC ได้ 3-4 ปี กลุ่มลูกค้าเริ่มขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ พื้นที่เดิมเริ่มเล็กเกินไป ลูกค้ามาแล้วเห็นสินค้าได้ไม่ครบ วรวุฒิจึงตัดสินใจขยายธุรกิจของเขาอีกครั้งด้วยการเปิดแฟล็กชิพ แกลอรี แห่งใหม่ในย่านราชดำริ บนพื้นที่กว่า 800 ตารางเมตร ภายใต้คอนเซ็ปต์ “The Museum for Eternal Living & Admiration” ที่จัดแสดงโซนต่างๆ ในบรรยากาศเหมือนอยู่ในอาร์ตแกลอรีระดับโลก เพื่อถ่ายทอดดีเอ็นเอของ VERTIER ผ่านงานดีไซน์ ตั้งเป้าเจาะกลุ่มลักชัวรีเรสซิเดนท์ใจกลางเมือง

ในการปักหมุดแฟล็กชิพ แกลอรี บนถนนราชดำรินั้น ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เพราะรายล้อมไปด้วยไพรเวตเรสซิเดนท์ โครงการอสังหาริมทรัพย์ โรงแรม ร้านอาหาร ร้านค้า สถานเสริมความงามและโรงพยาบาลชั้นนำ ที่เป็นกลุ่มลูกค้าที่สำคัญของทางแบรนด์

โดยเฟอร์นิเจอร์หลักๆ ของแบรนด์ VERTIER ประกอบด้วย โต๊ะอาหาร (Dining Table) เก้าอี้ โซฟา นอกจากนี้ ในอนาคตยังมีแผนทำเฟอร์นิเจอร์อื่นๆ เช่น ชุดครัว เตียงนอน ด้วยการจับมือกับพาร์ตเนอร์ต่างๆ เพิ่มเติม

สำหรับเอกลักษณ์ของเฟอร์นิเจอร์จาก VERTIER นั้น โดดเด่นเรื่องดีไซน์แบบ Contemporary Modern ที่ร่วมสมัยและมีส่วนประกอบของหินอ่อนที่มีการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นวัสดุเดียวที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ นอกนั้นวรวุฒิใช้วัสดุภายในประเทศทั้งสิ้น

“หินอ่อน มันเป็นเหมือนภาพจำของลูกค้าว่าแบรนด์ VERTIER ต้องเป็นเฟอร์นิเจอร์หินอ่อน แต่จริงๆ เราอยากให้ลูกค้าจำเราในลักษณะที่เป็นแบรนด์เฟอร์นิเจอร์โลคอลที่มีคุณภาพเทียบเท่าแบรนด์ต่างประเทศหรือแบรนด์นำเข้า ทั้งในแง่ของดีไซน์และคุณภาพ”

ส่วนสาเหตุที่วรวุฒิเลือกใช้หินอ่อนในงานเฟอร์นิเจอร์นั้น เขาให้เหตุผลว่า เพราะหินอ่อนมีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร เป็น “one of a kind” สีและลายในหินแต่ละแผ่นต่างกัน ลูกค้าได้โต๊ะอาหารไปนั่นหมายความว่าเป็นโต๊ะที่มีตัวเดียวในโลก โดยทีมงานจะส่งรูปหินอ่อนที่จะนำมาตัดทำเป็นโต๊ะให้ลูกค้าดูทุกตัว

สำหรับหินอ่อนนั้นทางแบรนด์เป็นพาร์ตเนอร์กับผู้นำเข้าหินอ่อนทั่วประเทศที่นำเข้าหินอ่อนมาจากทั่วโลก ทั้งฝั่งอเมริกาใต้ ตะวันออกกลาง รวมถึงจีน โดยวรวุฒิจะเป็นผู้ไปเลือกหินแต่ละแผ่นด้วยตัวเอง ล่าสุดยังจับมือกับผู้จำหน่ายหินหายาก หรือหิน Exotic เพื่อนำมาวางที่โชว์รูมให้ลูกค้าได้เลือกหินเองอีกด้วย

“หิน Exotic คือหินที่หายาก ในภูเขาหนึ่งลูกจะมีอยู่แค่ก้อนสองก้อน ราคาอาจจะแพงถึงตารางเมตรละ 1 แสนบาท ลูกค้าเคยซื้อไปแค่หน้าทอปโต๊ะอย่างเดียวคือ 1 ล้านบาท ส่วนใหญ่ลูกค้าของเราจะบอกว่าซื้อโต๊ะที่ VERTIER จะได้หินที่สวย ก็อาจจะมีส่วนจากที่เราไปเลือกหินเอง”

Fully Customized ลูกค้าอยากได้อะไร เขาต้องได้อย่างนั้น

คำถามที่น่าสนใจคือ อะไรคือสิ่งที่ทำให้แบรนด์ VERTIER ได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า จนเป็นที่รู้จักอย่างในปัจจุบัน

“ผลิตภัณฑ์ของ VERTIER เป็น made to order 100% เรา Fully Customized ทำตามที่ลูกค้าต้องการ เขาเดินเข้ามาหาเราแล้วอยากได้อะไร เขาต้องได้อย่างนั้น เราไม่ได้ทำ แต่ถ้าลูกค้าอยากได้เราทำให้ ซึ่งผมบอกได้เลยว่าเฟอร์นิเจอร์ 100 ตัวที่ขายไม่ซ้ำกันเลยสักตัวเดียว บางทีเก้าอี้ลูกค้าก็มีความต้องการที่แตกต่างกัน บางคนอาจจะขอสูงนิดนึง ขอกว้างขึ้นอีกหน่อยเพราะสรีระต่างกัน นี่คือจุดเด่นของแบรนด์ VERTIER”

โดยเฟอร์นิเจอร์ของ VERTIER เป็นแบบสั่งทำทั้งหมด ใช้เวลาประมาณ 3 สัปดาห์ – 1 เดือน ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบเมื่อเทียบกับการที่ลูกค้าสั่งซื้อจากแบรนด์นำเข้าซึ่งอาจจะต้องรอนานถึง 9 เดือน กว่าที่ทางแบรนด์นั้นๆ จะออกแบบและขนส่ง แต่ของ VERTIER มีโชว์รูมที่มีวัสดุให้ลูกค้าเลือก และมีโรงงานที่บางปู สมุทรปราการ เป็นสถานที่ผลิตชิ้นงาน สำหรับราคาของเฟอร์นิเจอร์เริ่มต้นที่ประมาณ 90,000 บาท สำหรับโต๊ะอาหารขนาด 2 เมตร จำนวน 6 ที่นั่ง

นอกจากคุณภาพและดีไซน์ที่มีเอกลักษณ์ของสินค้าแล้ว ราคาคืออีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ลูกค้าตัดสินใจเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์ของแบรนด์ VERTIER เมื่อเทียบกับการนำเข้าจากต่างประเทศที่ต้องใช้ระยะเวลาที่นานและมีค่าใช้จ่ายในการขนส่งที่สูงกว่า สำหรับลูกค้าปัจจุบัน 60-70% เป็นกลุ่มเจ้าของที่อยู่อาศัยระดับ A-A+ ที่เหลือเป็นดีไซเนอร์และสถาปนิกในโครงการต่างๆ เช่น คอนโดมิเนียม โรงแรม ร้านอาหาร เป็นต้น

ไม่เพียงเท่านั้น VERTIER ยังมีการผลิตเฟอร์นิเจอร์รักษ์โลก เพื่อทดแทนการใช้หินอ่อนซึ่งมีวันหมดไป โดยได้ร่วมมือกับ SCG นำวัสดุเหลือใช้อย่างเศษหินนำกลับมาเข้ากระบวนการใหม่ เพื่อใช้เป็นวัสดุในการผลิตเฟอร์นิเจอร์ต่อไป ที่ผ่านมาได้ผลิตเป็นโต๊ะอาหารรุ่น Asteriod ซึ่งนำไปจัดแสดงในงาน บางกอก ดีไซน์ วีค 2024 ที่เพิ่งจัดไป ก่อนจะเวียนไปจัดแสดงที่ “137 พิลลาร์ สวีท แอนด์ เรสซิเดนท์ กรุงเทพฯ” เพื่อสื่อให้ต่างชาติเห็นงานดีไซน์ที่มีคุณภาพของคนไทยอีกด้วย

โดยในแต่ละปี VERTIER จะออกคอลเลกชันใหม่ทุกๆ 3 เดือน ซึ่งทางทีมงานจะเน้นหนักเรื่องการดีไซน์ เพราะดีไซน์ของเฟอร์นิเจอร์เปลี่ยนแปลงเร็ว ต้องมีการอัปเดตเทรนด์ต่างๆ อยู่เสมอ

วรวุฒิเสริมทิ้งท้ายไว้ว่า “VERTIER เองก็หยุดไม่ได้ เพราะเราเป็นเหมือน trend setter ของเฟอร์นิเจอร์ในเมืองไทย ในทุกๆ ปี ผมจะไปมิลาน เพื่อไปดูว่าเขามีอะไร และนำไอเดียนั้นกลับมา พยายามดูแทรนด์ในตลาดอยู่เสมอ และปรับให้เฟอร์นิเจอร์ให้เป็นไปตามเทรนด์”

เรียกว่าเข้ามาสร้างความแปลกใหม่ให้กับวงการเฟอร์นิเจอร์ของไทยได้ไม่น้อยเลยทีเดียว สำหรับ VERTIER แบรนด์เฟอร์นิเจอร์สัญชาติไทยที่ทั้งคุณภาพและดีไซน์ไม่แพ้แบรนด์จากต่างประเทศ และที่สำคัญในอนาคตน่าจะมีเฟอร์นิเจอร์ดีไซน์ใหม่ๆ จาก VERTIER ออกมาให้เราเห็นอีกแน่นอน.