จากสงครามการค้า สู่สงครามไวรัส-ข้อมูล คนไทยควรรู้เท่าทัน
ไทยต้องเผชิญกับผลกระทบจากสงครามการค้าที่ห้ำหั่นกันระหว่างสองมหาอำนาจจากสองซีกโลกอย่างจีนกับสหรัฐอเมริกาที่อุบัติขึ้นนับตั้งแต่ที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นรับตำแหน่งประธานาธิบดีในช่วงต้นปี 2560 ผลพวงจากความพยายามที่จะดำเนินตามนโยบายที่นายทรัมป์หาเสียงไว้ นั่นคือ อเมริกันเฟิร์ส ส่งผลให้การค้ากับต่างประเทศต้องชะงัก แน่นอนว่าประเทศที่กลายเป็นเป้าหมายสำคัญในครั้งนั้นคือ จีน เมื่อจีนกอบโกยเงินจำนวนมหาศาลกลับประเทศจากการส่งสินค้าจำนวนมากมาขายยังสหรัฐฯ สหรัฐฯ เก็บภาษีเพิ่มจากสินค้านำเข้าจากจีน 25% ในระยะแรกเริ่มที่เครื่องจักร อุปกรณ์และชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมพลังงาน ต่อมาพิจารณาเก็บภาษีเพิ่มจากสินค้าประเภทเหล็ก เครื่องจักรไฟฟ้า ชิ้นส่วนรถไฟ และ สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน สินค้าเกษตร สิ่งทอ อุปกรณ์ก่อสร้าง ชิ้นส่วนรถยนต์ เรียกว่าหมัดแลกหมัด เมื่อจีนตอบโต้ด้วยการเก็บภาษี 25% จากสินค้าที่มาจากสหรัฐฯ จำนวน 545 ราย เช่น ผลิตภัณฑ์เกษตร รถยนต์ ผลิตภัณฑ์จากทะเล รวมมูลค่ากว่า 34,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สงครามการค้าระหว่างสองประเทศนี้ไม่มีใครยอมใคร และยังคงยืดเยื้อยาวนาน แม้จะมีความพยายามที่จะพูดคุยตกลงกันเพื่อพักการทำสงครามการค้าลงชั่วคราว แต่แน่นอนว่าผลกระทบได้เกิดขึ้นไปแล้วต่อประเทศคู่ค้าที่ต้องพึ่งพาการส่งออกไปยังสองประเทศนี้ ในเวลานั้นรัฐบาลไทย โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการค้าระหว่างประเทศ พยายามมองหาโอกาสที่เกิดขึ้นระหว่างสงคราม ทั้งการเล็งที่จะจูงใจนักลงทุนในกรณีที่นักลงทุนเตรียมย้ายฐานการผลิตออกจากสหรัฐฯ เพื่อหลีกหนีฐานภาษีสินค้านำเข้าที่ค่อยๆ เพิ่มเพดานสูงขึ้น และมองหาฐานการผลิตใหม่โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียน ในขณะที่ไทยกำลังเริ่มต้นการเจรจาโดยเฉพาะกับนักลงทุนชาวจีนที่เตรียมจะยึดหัวหาดและลงเม็ดเงินสร้างฐานการผลิตในไทย ทว่า การเปลี่ยนผ่านขั้วการเมืองทำให้หลายเรื่องที่กำลังถูกต่อยอดและน่าจะสร้างแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก กระทั่งสงครามไวรัสเริ่มอุบัติขึ้นเป็นครั้งแรกบนแผ่นดินจีนในช่วงปลายปี 2562 และเริ่มแพร่ระบาดไปในอีกหลายประเทศทั่วโลก
Read More