โค้งสุดท้ายเศรษฐกิจไทย ลุ้นไตรมาสสี่ส่งสัญญาณพุ่งหรือฟุบ
เศรษฐกิจไทยในปี 2559 กำลังเดินทางเข้าสู่ช่วงโค้งสรุปสุดท้ายของปี หลังจากที่ตลอดระยะเวลา 9 เดือนที่ผ่านมา หลายฝ่ายจะประเมินว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้นอย่างช้าๆ แม้ในบริบทแห่งข้อเท็จจริงดูจะสวนทางทั้งกับอารมณ์ความรู้สึกและสภาพการณ์ที่สัมผัสได้ก็ตาม จริงอยู่ที่ว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยจะปรากฏสัญญาณบวก แต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงรุมเร้าอยู่ด้วยไม่น้อย ไม่นับรวมในประเด็นที่ว่าปัจจัยบวกดังกล่าวเกิดขึ้นจากผลของความพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการระยะสั้นเป็นครั้งคราวของรัฐบาล ขณะที่ปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจไม่ได้รับการแก้ไขเท่าที่ควร ท่ามกลางความคาดหวังของประชาชนว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลตั้งแต่รากหญ้าไปถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐและการลงทุนเอกชนจะเริ่มเห็นผล แต่ดูเหมือนสิ่งเหล่านี้จะยังปรากฏผลสัมฤทธิ์ที่จริงจังเท่าใดนัก ความน่าเป็นห่วงของสถานการณ์ด้านการส่งออก ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะตัวเลขการส่งออกที่ติดลบต่อเนื่องมาตลอด 3 ปีที่มีผลต่อตัวเลขจีดีพีเท่านั้น หากกรณีดังกล่าวยังสะท้อนความเป็นไปในภาคเรียลเซ็กเตอร์ที่พร้อมจะนำไปสู่การปิดโรงงานและอุตสาหกรรมต่อเนื่องในวงกว้าง ไม่เว้นแม้แต่ภาคธุรกิจเทรดดิ้ง ความกังวลใจของภาคธุรกิจในมิติที่ว่านี้สะท้อนออกมาเป็นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลเป็นผู้นำในกระบวนการสร้างดีมานด์กระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ควบคู่กับการสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนด้วยเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเฉพาะการไปสู่เทคโนโลยีใหม่ๆ ประเด็นที่ว่านี้ ดูเหมือนภาครัฐก็มีความเข้าใจในระดับหนึ่ง ดังจะเห็นได้จากความพยายามของรัฐไทยในการกระตุ้นธุรกิจสตาร์ทอัพ หรือแม้กระทั่งการสร้างวาทกรรม ประเทศไทย 4.0 ในช่วงที่ผ่านมา แม้จะยังไม่สามารถกำหนดแนวทางการพัฒนาประเทศที่มีรูปธรรมแข็งแรงให้จับต้องได้มากนัก และทำให้กรอบนโยบายที่ว่านี้กลายเป็นเพียงวาทกรรมที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามสื่อสารประชาสัมพันธ์และกระตุ้นการรับรู้แต่ขาดผลสัมฤทธิ์ไปโดยปริยาย ความคาดหวังทางเศรษฐกิจของผู้คนจำนวนไม่น้อยถูกผูกเข้ากับประเด็นว่าด้วยการลงทุนภาครัฐหรือนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะต้องเร่งระดมใช้เงินงบประมาณให้หมดไปแทนที่จะพิจารณาที่ประเด็นปัจจัยความจำเป็นในเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ที่จะมีผลต่อการกระตุ้นให้เกิดการสร้างงานและรายได้ของประชาชนในระยะยาว หากกล่าวอย่างถึงที่สุด ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยมิได้เปลี่ยนแปลงมากนักจากผลของการบริโภคภาคเอกชนในประเทศ (Private Consumption) ชะลอตัวจากภาระหนี้สินภาคประชาชน โดยเห็นได้ชัดจากการชะลอตัวของการบริโภคสินค้าคงทนที่ดัชนีการบริโภคสินค้าคงทน (Durable Index) ขยายตัวในอัตราติดลบต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี ขณะที่ภาคการส่งออกชะลอตัวจากภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะจากประเทศคู่ค้าหลักคือประเทศจีน ทำให้อัตราการขยายตัวเฉลี่ยของสินค้าส่งออกซึ่งเคยเป็นปัจจัยหนุนนำทางเศรษฐกิจของไทยมาอย่างยาวนาน มีแนวโน้มที่จะอัตราขยายตัวติดลบต่อเนื่องตลอดทั้งปี แม้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง อย่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจะประเมินและกำหนดเป้าหมายการทำงานไว้ว่า จะผลักดันการส่งออกให้ขยายตัวที่ร้อยละ 5 หรือเฉลี่ย 19,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือนก็ตาม แต่แผนการปฏิบัติงานดังกล่าวอาจไม่ได้ผลงดงามสวยหรูอย่างที่คาด แม้โดยภาพรวมอาจจะมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นบ้าง กรณีที่ว่านี้ส่งผลสืบเนื่องไปสู่การผลิตที่ลดลง
Read More