มูลนิธิ SOS กับภารกิจ กอบกู้ “อาหารส่วนเกิน” เติมเต็มความหิว
ทุกวันนี้โลกของเราผลิตอาหารที่มากพอจะเลี้ยงคนได้ถึงหมื่นล้านคน ในขณะที่ประชากรบนโลกมีเพียง 7.8 พันล้านคน แต่กระนั้นยังมีกลุ่มคนอีกกว่า 1 พันล้านคนที่ยังขาดแคลนและไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่มีประโยชน์ได้ ในขณะที่เราผลิตอาหารได้จำนวนมาก แต่ทำไมยังมีผู้คนที่ขาดแคลนและหิวโหยอยู่จำนวนไม่น้อย? “อาหารส่วนเกิน” ที่ถูกผลิตขึ้นมาเหล่านั้นถูกส่งไปที่ใด? รายงานจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เปิดเผยว่า ในแต่ละปีทั่วโลกมีอาหารที่ถูกทิ้งราวๆ 1.3 ล้านตัน หรือ 1 ใน 3 ของอาหารที่ถูกผลิตขึ้นทั้งปี ที่กลายเป็น “ขยะอาหาร” ทั้งที่ยังใช้ประโยชน์ได้ ถูกนำไปทิ้งในบ่อฝังกลบ หมักหมมจนก่อให้เกิดก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจก สาเหตุของภาวะโลกร้อน และถ้าขยะพลาสติกเป็นหนึ่งในปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สังคมให้ความสำคัญ ขยะอาหารที่ส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารและสิ่งแวดล้อมก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน จะดีกว่าไหม ถ้าเราสามารถนำอาหารส่วนเกินเหล่านี้ไปส่งต่อให้กับผู้ที่ขาดแคลน เพื่อทำให้อาหารที่ผลิตออกมามีประโยชน์อย่างสูงสุด แทนที่จะกลายเป็นขยะอาหารที่สูญเปล่าและก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา “สาเหตุหลักของอาหารเหลือทิ้งหรือขยะอาหารคือการจัดการอาหารที่ไม่เป็นระบบ การซื้อกักตุนไว้เกินความจำเป็น มาตรฐานการบริโภค การคัดมาตรฐานสินค้าเกษตรที่ต้องดูดีสวยงาม ทำให้บ่อยครั้งอาหารที่ยังบริโภคได้ ผัก ผลไม้ ที่รูปร่างไม่สวยต้องถูกทิ้งเป็นขยะอย่างน่าเสียดาย ซึ่งการจะแก้ปัญหาอาหารเหลือทิ้งอย่างยั่งยืนนั้น คือการสร้างทัศนคติที่ดี ตระหนักรู้ และรับผิดชอบในการบริโภค รวมถึงสร้างระบบการจัดการอาหารเหลือที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งมูลนิธิ SOS มองเห็นถึงความสำคัญตรงนี้ จึงเข้ามาเป็นตัวกลางในการส่งต่ออาหารส่วนเกินเหล่านี้ไปยังผู้ที่ขาดแคลน โดยใช้ระบบโลจิสติกส์ที่เรามีความชำนาญ
Read More