วิกฤตภัยแล้ง 2563 บททดสอบการบริหารภาครัฐ
ท่ามกลางสถานการณ์และปัจจัยลบหลากหลายที่แวดล้อมและรุมเร้ารัฐนาวาประยุทธ์ 2 ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะความเป็นไปของภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำลงอย่างต่อเนื่องและยังไม่มีบทสรุปว่าจะหยุดที่ห้วงเหวลึกระดับใด ประกอบกับสถานการณ์ระดับนานาชาติที่เพิ่มน้ำหนักเป็นปัจจัยลบคุกคามหนักหน่วงขึ้นไปอีก หรือแม้กระทั่งกรณีว่าด้วยเสถียรภาพทางการเมืองที่กำลังสั่นคลอนจากเหตุของการพิจารณาและลงมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่เนิ่นช้ายาวนานกว่าที่ควรจะเป็นแล้ว ภาวะภัยแล้งที่ดูจะมาถึงเร็วกว่าทุกปีและมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบหนักหน่วงไปทั่วทุกภูมิภาคกำลังเป็นอีกหนึ่งในปัจจัยลบที่คุกคามเศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างกว้างขวาง เพราะวิกฤตภัยแล้งในครั้งนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบจำกัดเฉพาะต่อเกษตรกรผู้ประกอบการในภาคเกษตรกรรมที่เป็นฐานรากของสังคมไทยและมีภาพลักษณ์เป็นกลุ่มประชากรที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลเช่นในอดีตที่ผ่านมาซ้ำแล้วซ้ำเล่าเท่านั้น หากแต่วิกฤตภัยแล้งที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2563 นี้ ยังส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนในเขตชุมชนเมืองหรือแม้กระทั่งในเขตกรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของประเทศด้วย การขาดแคลนน้ำดิบเพื่อนำมาผลิตน้ำประปาของการประปานครหลวง (กปน.) จนเป็นเหตุให้ต้องร้องขออนุญาตเจาะบ่อบาดาลเพื่อนำน้ำบาดาลไปใช้ผลิตน้ำประปาใน 4 พื้นที่ ประกอบด้วยพื้นที่ บางเขน มีนบุรี ลาดกระบัง และสมุทรปราการ โดยเป็นบ่อขนาด 10 นิ้ว จำนวน 4 บ่อ ความลึกของบ่อตั้งแต่ 350-600 เมตร ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้อนุญาตในเบื้องต้นแล้วจำนวน 3 บ่อ คือที่บางเขน มีนบุรี ลาดกระบัง ส่วนสมุทรปราการยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจจากกรณีดังกล่าวก็คือ แม้การเจาะน้ำบาดาลแต่ละบ่อจะสามารถนำน้ำบาดาลไปผลิตเป็นน้ำประปาได้เดือนละ 53,760 ลบ.ม. มีประชาชนได้รับประโยชน์กว่า 5 พันครัวเรือน แต่การที่การประปานครหลวงขออนุญาตเจาะบ่อบาดาลในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่มีการขอใช้น้ำใต้ดินหรือน้ำบาดาลไปใช้ผลิตเป็นน้ำประปา ซึ่งสะท้อนภาพการขาดแคลนทรัพยากรน้ำบนดินได้ชัดเจนที่สุด ก่อนหน้านี้ คุณภาพของน้ำประปาที่การประปานครหลวงผลิตและแจกจ่ายไปยังครัวเรือนในเขตพื้นที่บริการ ได้รับการตั้งคำถามอย่างหนักเมื่อพบว่าน้ำประปามีค่าความเค็มเกินมาตรฐานจากผลของการขาดแคลนน้ำจากภาวะภัยแล้งและเผชิญกับปัญหาน้ำทะเลหนุนสูง โดยนํ้าประปาของ กปน.
Read More