ค่าครองชีพพุ่งรับปีเสือ ภาระที่คนไทยต้องแบก
นับเป็นอีกหนึ่งปีที่คนไทยต้องเผชิญกับฝันร้ายในความเป็นจริง ที่ไม่ใช่เพียงแค่โรคระบาดอย่างไวรัสโควิดที่ดูจะพัฒนาเชื้อและกลายพันธุ์ได้อย่างต่อเนื่อง จนในที่สุดสายพันธุ์โอมิครอนกลายเป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์ที่หลายประเทศต้องเฝ้าระวัง เมื่อมีผู้ติดเชื้อเพิ่มจำนวนสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้ว่าอาการเบื้องต้นจะไม่รุนแรงเท่าสายพันธุ์เดลตา ทั้งนี้ นักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์จำนวนหนึ่งวิเคราะห์ไปในทิศทางเดียวกันว่า นี่อาจเป็นปลายทางของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทว่า คนไทยยังต้องพบกับฝันร้ายที่เริ่มเห็นชัดเจนขึ้น แม้จะเริ่มเห็นสัญญาณมาตั้งแต่ปีก่อน นั่นคือราคาสินค้าอุปโภค บริโภค ที่ค่อยๆ ปรับตัวสูงขึ้นจากหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยภายในประเทศและภายนอกประเทศ ซึ่งส่งผลให้ค่าครองชีพของคนไทยในปีเสือมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ นอกเหนือไปจากอัตราค่าไฟฟ้าที่เตรียมปรับเพิ่มขึ้นอีกเกือบ 5 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ โดยจะเป็นการปรับแบบขั้นบันได ซึ่งจะทำให้ค่าเอฟทีประจำงวดเดือนมกราคมถึงเมษายน 2565 อยู่ที่ 16.71 สตางค์ เป็นผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.78 บาทต่อหน่วย หลังจากที่ตรึงราคาค่าเอฟทีมานานกว่า 2 ปี ขณะที่ราคาน้ำมันที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นนับตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา แม้จะมีการเรียกร้องจากผู้ประกอบการรถบรรทุกให้รัฐบาลช่วยพยุงราคาน้ำมันดีเซลให้อยู่ที่ 25 บาทต่อลิตร แต่ยังไม่เป็นผล ราคาขายปลีกน้ำมันต่อลิตรที่ปรับตัวสูงขึ้นย่อมส่งผลต่อราคาต้นทุนสินค้าไปโดยปริยาย นั่นไม่ใช่เพียงแต่ผู้ประกอบการที่ต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น หากแต่ผู้บริโภคย่อมต้องได้รับผลกระทบเพราะเป็นผู้ที่อยู่ปลายน้ำ เมื่อราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคค่อยๆ ปรับตัวสูงขึ้นแม้จะยังไม่เห็นความแตกต่างที่ชัดเจน กระทั่งล่าสุด การปรับราคาของเนื้อหมูที่เริ่มสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 160-200 บาทต่อกิโลกรัม ปัจจุบันหมูเนื้อแดงราคาอยู่ที่ 200-250 บาทต่อกิโลกรัม สาเหตุที่ทำให้ราคาเนื้อหมูในปัจจุบันสูงขึ้นมีด้วยกันหลายสาเหตุ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ทำให้ความต้องการของผู้บริโภค บริโภคเนื้อหมูลดลง
Read More