ร้านค้า-อาหารระส่ำหนัก หลัง COVID-19 ระบาดใหม่
การระบาดระลอกใหม่ของ COVID-19 ที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมาและมีแนวโน้มที่จะทวีความหนักหน่วงเพิ่มขึ้น หลังจากที่พบว่ากลไกรัฐมีความบกพร่องในการป้องปรามและป้องกันการแพร่ระบาดครั้งใหม่ ซึ่งนอกจากจะมีต้นทางมาจากการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายของทั้งแรงงานไทยที่เดินทางกลับเข้าประเทศหลังไปทำงานอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน และแรงงานต่างชาติที่กลับเข้ามาหนุนนำกลไกเศรษฐกิจแล้ว ล่าสุดยังพบว่าการแพร่ระบาดในลักษณะของการติดเชื้ออย่างเป็นกลุ่มก้อนระลอกใหม่เกิดขึ้นจากการลักลอบเล่นการพนันในบ่อนการพนันผิดกฎหมายในหลายพื้นที่อีกด้วย ข้อน่าสังเกตว่าด้วยความฉ้อฉลของเจ้าหน้าที่ที่มีสังกัดอยู่ในกลไกรัฐ กลายเป็นคำถามที่รอคอยคำตอบต่อสาธารณชน และก่อให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยถึงความโปร่งใสและความจริงจังในการนำพาประเทศออกจากวิกฤตโรคระบาดที่กำลังกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจและสังคมอย่างกว้างขวางในห้วงเวลาปัจจุบัน เทศกาลแห่งความสุขในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมากลายเป็นช่วงเวลาแห่งความประหวั่นวิตกของคนไทย ที่ติดตามมาด้วยการชะลอการท่องเที่ยวเดินทางและชะลอกิจกรรมทางเศรษฐกิจสังคมหลากหลาย ที่ส่งผลลบต่อภาวะฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่เคยคาดว่าจะกระเตื้องขึ้นจากการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่ให้หดตัวลดลงอย่างไม่อาจเลี่ยง ควบคู่กับการติดตามมาตรการของของรัฐว่าจะดำเนินไปในทิศทางแบบใด นอกจากนี้ การระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ยังได้รับการประเมินว่าจะทำให้ภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมไทย ได้รับความสูญเสีย คิดเป็นมูลค่าประมาณ 45,000 ล้านบาท และความสูญเสียเกี่ยวเนื่องกับสินค้าประมงและอาหารทะเล อาจมีมูลค่ารวมกัน 13,000 ล้านบาท จากการชะลอการบริโภคสินค้าประมงและอาหารทะเลในระยะสั้น โดย สมุทรสาคร ซึ่งเป็นแหล่งวัตถุดิบหลักในธุรกิจการประมงและการแปรรูปสัตว์น้ำ โดยปริมาณสัตว์น้ำสดที่ใช้ในธุรกิจการประมงและการแปรรูปสัตว์น้ำเค็ม มีสัดส่วนเกือบร้อยละ 40 ของทั้งประเทศ ไม่รวมวัตถุดิบนำเข้า การปิดเมืองตั้งแต่ 19 ธันวาคม 2563 ถึง 3 มกราคม 2564 จึงส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการค้าและการผลิตหมวดนี้ไม่น้อย ความพยายามของกลไกรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 : ศบค. ที่จะเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่กระจายของโรคด้วยการจำแนกพื้นที่การแพร่ระบาดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด พื้นที่ควบคุมและพื้นที่เฝ้าระวังสูงสุด ตามระดับความรุนแรงของการแพร่ระบาดและจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อในแต่ละพื้นที่มาเป็นเกณฑ์ในการจัดการ ควบคู่กับการหลีกเลี่ยงที่จะใช้คำว่ามาตรการ lockdown ที่เชื่อมโยงกับมาตรการเยียวยา
Read More