เศรษฐกิจไทยไร้แรงดึงดูด ต่างชาติปิดโรงงาน-ย้ายฐาน
ข่าวการปิดโรงงานของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมจำนวนมากในประเทศไทย แม้ว่าในด้านหนึ่งจะเป็นผลจากพิษการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ COVID-19 ซึ่งส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งในมิติของกิจการด้านสาธารณสุข และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ส่งผลให้เกิดการชะลอตัว ขณะที่ห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ของกระบวนการผลิตในหลากหลายอุตสาหกรรมต้องตกอยู่ในภาวะชะงักงัน การประเมินของกลไกรัฐว่าด้วยการปิดโรงงานของผู้ประกอบการแต่ละรายดูจะยึดโยงและผูกพันอยู่กับฐานคิดที่ว่าการปิดโรงงานของผู้ประกอบการเป็นผลจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้กำลังซื้อลดลงและมีความจำเป็นต้องลดต้นทุนค่าใช้จ่าย โดยที่ละเลยหรือมองข้ามผลกระทบที่เกิดขึ้นกับแรงงานจำนวนมากที่ต้องพ้นจากสภาพการจ้างงานและมีแนวโน้มที่ต้องเสี่ยงกับการตกงานและว่างงานยาวนานนับจากนี้ ข้อมูลที่น่าสนใจจากสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งปรากฏเป็นรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสหนึ่งปี 2563 ระบุว่าอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 1.03 มีผู้ว่างงานเกือบ 4 แสนคน และคาดว่าในปีนี้มีแรงงานที่เสี่ยงถูกเลิกจ้าง 8.4 ล้านคน ขณะที่แรงงานจบใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน 5.2 แสนคนอาจไม่มีงานทำ รายงานภาวะสังคมไทยฉบับดังกล่าวซึ่งเผยแพร่สู่สาธารณะ เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ยังระบุว่าแม้อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ แต่การจ้างงานลดลงอย่างต่อเนื่องและค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง การประเมินว่าการแพร่ระบาดของ COVID-19 จะส่งผลให้แรงงานมีความเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้าง 8.4 ล้านคน ตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ว่าแรงงานในภาคการท่องเที่ยวซึ่งมีประมาณ 3.9 ล้านคน ไม่รวมสาขาการค้าส่งและการค้าปลีก จะได้รับผลกระทบจากการลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติและการท่องเที่ยวในประเทศ ประมาณ 2.5 ล้านคน แรงงานในภาคอุตสาหกรรมซึ่งได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าตั้งแต่ก่อน COVID-19 ระบาดและต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน จากการลดลงของอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ แรงงานในภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด 5.9 ล้านคน คาดว่ามีผู้ได้รับผลกระทบ 1.5 ล้านคน ขณะที่การจ้างงานในภาคบริการอื่นที่ไม่ใช่การท่องเที่ยวจะได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ที่ประกอบด้วยการปิดสถานที่ต่างๆ
Read More