ปลดล็อก COVID-19 ดึงดัชนีเศรษฐกิจฟื้นตัว
การประกาศผ่อนคลายมาตรการป้องกัน COVID-19 ที่ได้สร้างความเสียหายและตื่นตระหนกในวงกว้างมาก่อนหน้า กำลังช่วยผลักดันให้ดัชนีทางเศรษฐกิจที่ทรุดตัวต่ำลงอย่างหนักจากผลของการหยุดชะงักในกิจกรรมทางเศรษฐกิจนับตั้งแต่การประกาศปิดเมืองในเดือนมีนาคม 2563 ก่อนที่จะนำมาสู่มาตรการผ่อนปรนในระยะต่างๆ ที่รัฐกำลังดำเนินการอยู่ เพื่อให้ผู้คนในสังคมและกลไกทางเศรษฐกิจกลับมามีชีวิตและสภาพปกติท่ามกลางความเสียหายที่รอการเยียวยา ซึ่งตั้งอยู่บนความสำเร็จในการป้องกันโรคที่ทำให้ประเทศไทยเป็นเพียงไม่กี่ประเทศบนโลกที่มีความเสี่ยงต่ำในการแพร่ระบาดของ COVID-19 นี้ ความเป็นไปของภาวะเศรษฐกิจไทย ที่สะท้อนผ่านดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาชี้ให้เห็นถึงผลกระทบจากมาตรการปิดเมืองในช่วงก่อนหน้า ที่ทำให้เกิดความกังวลของครัวเรือนในประเด็นว่าด้วยเรื่องรายได้และการมีงานทำ ซึ่งเมื่อรัฐดำเนินมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 1 และ 2 กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบบางกลุ่มเริ่มคลายความกังวล และสามารถกลับเข้าไปทำงานหรือประกอบการทางเศรษฐกิจได้อีกครั้ง แม้ว่าจะไม่ใช่ในระดับปกติเหมือนที่เคยดำเนินมาก็ตาม ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยอีก 3 เดือนข้างหน้ามีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้นสอดรับกับข้อเท็จจริงทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยครัวเรือนประเมินว่า มาตรการผ่อนปรนที่รัฐบาลทยอยออกมาอย่างต่อเนื่องประกอบกับจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 ใหม่รายวันที่อยู่ในระดับต่ำน่าจะเป็นสัญญาณเชิงบวกต่อเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า ภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 จึงดูเหมือนว่าจะอยู่ในสภาพที่พร้อมจะทยอยฟื้นตัวขึ้นอย่างช้าๆ แต่ยังมีความเปราะบางอยู่มาก ภายใต้สมมุติฐานที่ไม่มีการแพร่ระบาดซ้ำรอบ 2 จนนำไปสู่การบังคับใช้มาตรการปิดเมืองอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งภาครัฐจำเป็นต้องเร่งให้ความสำคัญกับมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจและมาตรการสร้างงานเพื่อช่วยประคับประคองกำลังซื้อของครัวเรือนไทยที่อ่อนแอลงจากผลกระทบของ COVID-19 หลังมาตรการเยียวยาสิ้นสุดลง สถานการณ์ทางเศรษฐกิจในสังคมไทยดูจะดำเนินไปควบคู่กับการฟื้นตัวขึ้นของเศรษฐกิจโลกที่หลายฝ่ายประเมินว่าได้เคลื่อนผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และกำลังฟื้นตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2563 ที่เหลืออยู่นี้ โดยมีมาตรการทางการคลังและการเงินคอยช่วยประคับประคองเศรษฐกิจและลดความผันผวนในตลาดเงิน ซึ่งทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนและมูลค่าสินทรัพย์ทางการเงินปรับตัวดีขึ้น แต่ในระยะข้างหน้า ต้องจับตามองหนี้ภาคเอกชนและหนี้ภาครัฐที่อาจปรับสูงขึ้นเร็วด้วย การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีลักษณะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป และมีความแตกต่างในแต่ละภาคส่วน (U-shaped and Uneven recovery) ทำให้ผู้บริโภคจะยังระมัดระวังในการใช้จ่ายและมีพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป รวมถึงการลงทุนภาคเอกชนที่จะถูกกดดันจากยอดขายที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ งบดุลที่เปราะบางมากขึ้น
Read More