“ข้าวสาร” 128 ปี ถนนแห่งแสงสีและการเปลี่ยนผ่าน
พื้นที่เขตพระนคร มีถนนหลายสายที่ล้วนแต่มีเรื่องราวเล่าขานจากรุ่นสู่รุ่น ทั้งในเชิงประวัติศาสตร์ ความเป็นมาหรือตำนานมากมาย นั่นรวมไปถึงถนนสายเล็กๆ ที่อยู่คู่ขนานกับถนนราชดำเนิน ที่มีระยะทางสั้นโดยประมาณ 400 เมตรอย่าง ถนนข้าวสาร ที่เพียงแค่ชื่อก็สามารถเล่าขานสตอรี่ได้อย่างมีนัย การเดินทางของถนนข้าวสาร จากที่เคยเป็นหมุดหมายสำคัญทางการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ข้าวสาร” เมื่อร้อยกว่าปีก่อน ถนนแห่งนี้เคยเป็นแหล่งค้าข้าวสารที่ถูกขนส่งมาทางเรือและขึ้นเทียบท่าบางลำพู ก่อนจะนำมาขายที่นี่ 128 ปี ถนนข้าวสารจากยุครุ่งเรืองทางการค้า แหล่งจำหน่ายสินค้าที่เป็นปัจจัยสำคัญของคนไทย กระทั่งวัฒนธรรมตะวันตกค่อยๆ คืบคลานเข้ามาอย่างช้าๆ แต่ค่อยๆ กลืนกินวิถีชีวิตผู้คนที่อาศัยอยู่บนถนนแห่งนี้จนเหลือไว้เพียงภาพความทรงจำที่แตกต่างกันของคนแต่ละรุ่น ภาพจำของถนนข้าวสารในรุ่นปู่ย่าตาทวด คงมีแต่เรื่องเล่าขานเกี่ยวกับเส้นทางการค้า ย่านธุรกิจที่ขายข้าวสารอาหารแห้งที่ใหญ่ที่สุดในเขตพระนคร พ่อค้าแม่ขายทั้งคนไทยและคนจีนจากโพ้นทะเล เรื่องเก่าที่ยังเล่าขานกันอย่างสนุก กาลเวลายังคงหมุนเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคง และส่งภาพจำใหม่ๆ มาสู่เด็กรุ่นหลัง ยุคที่โทรศัพท์มือถือคืออวัยวะชิ้นที่ 33 แม้ถนนข้าวสารจะยังคงเป็นถนนสายเดิม ระยะทางไม่ต่างจากเดิม แต่ร้านรวงที่ครั้งหนึ่งเคยจำหน่ายข้าวสาร ถูกเปลี่ยนมือไปเรื่อยๆ กระทั่งปัจจุบันถนนเส้นนี้กลายเป็นถนนที่อัดแน่นไปด้วยสถานบันเทิงยามราตรี ผับ บาร์ จุดนัดพบทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ และเป็นถนนที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประเพณีสงกรานต์ในยุคดิจิทัล แต่ละช่วงวัยของผู้คน ล้วนแต่มีภาพจำที่แตกต่างกันไป ทว่า ห้วงยามนี้ ศักราชนี้ ภาพจำที่คล้ายสร้างความเจ็บช้ำให้แก่ผู้ประกอบการย่านถนนข้าวสารคือ ความทุกข์ระทม ความเปลี่ยวเหงา ซบเซา ที่เกิดขึ้นกับธุรกิจ
Read More