สินค้าขึ้นราคาสวนทางรายได้ เพิ่มความเปราะบางต่อครัวเรือน
ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์ของเศรษฐกิจไทยในห้วงเวลาปัจจุบันอยู่ในภาวะยากลำบาก บางครอบครัวอาจมองว่านี่เป็นยุคข้าวยากหมากแพงก็ว่าได้ โดยก่อนหน้าที่สินค้าอุปโภคบริโภคบางรายการถูกปรับราคาให้สูงขึ้นในช่วงหนึ่ง เช่น ค่าไฟฟ้า ไข่ไก่ เนื้อหมู ซึ่งเกิดจากภาวะโรคระบาดในสุกรที่ส่งผลต่อกลไกตลาดโดยตรง ปัจจุบันจะเห็นได้ว่าราคาเนื้อหมูและไข่ไก่เริ่มมีการปรับตัวลงและเข้าสู่ภาวะปกติ ทว่า ยังคงมีความกังวลจากภาคประชาชนอยู่ไม่น้อย เมื่อยังมีสินค้าอีกหลายรายการที่ปรับตัวไปแล้ว และบางรายการอาจจะทยอยปรับขึ้นในอนาคต โดยมีสาเหตุมาจากต้นทุนค่าขนส่งที่สูงขึ้น นั่นทำให้ค่าใช้จ่ายต่อภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นซึ่งสวนทางกับรายได้ของประชาชนในสถานการณ์ปัจจุบัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แม้การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนช่วงหลังปีใหม่ จะไม่ได้ส่งผลให้เกิดการยกระดับมาตรการคุมเข้มการระบาด ผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจจึงมีจำกัด แต่อย่างไรก็ตามระดับราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้นทั้งอาหารสด เช่น เนื้อหมู รวมถึงราคาพลังงานที่ยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องได้กดดันกำลังซื้อของภาคครัวเรือน ส่งผลให้ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในปัจจุบันลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 อยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 30.9 ขณะที่ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 33.2 บ่งชี้ว่าครัวเรือนยังมีมุมมองว่าค่าครองชีพจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้จัดผลสำรวจเพิ่มเติมเกี่ยวกับมุมมองด้านระยะเวลาของระดับราคาสินค้าที่สูงขึ้นกับวิธีรับมือของครัวเรือน ผลสำรวจบ่งชี้ว่าหากครัวเรือนมีมุมมองว่าระยะเวลาที่ระดับราคาสินค้าจะอยู่ในระดับสูงยิ่งนานจะยิ่งส่งผลให้ครัวเรือนลดค่าใช้จ่ายรายการที่ไม่จำเป็นออกไปเพิ่มมากขึ้น แต่หากมีมุมมองว่าระดับราคาสินค้าที่สูงจะเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ เช่น 1 เดือน ครัวเรือนจะนำเงินออมที่มีออกมาใช้ทดแทนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น บ่งชี้ว่าสถานการณ์ราคาสินค้าที่ปรับสูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของครัวเรือนทั้งในปัจจุบันที่สะท้อนผ่านการนำเงินออมออกมาใช้และในระยะข้างหน้าที่จะมีการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง และในระยะข้างหน้าระดับราคาสินค้ามีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องหรืออย่างน้อยจนถึงสิ้นไตรมาสแรกของปี สาเหตุหลักมาจากการปรับเพิ่มขึ้นราคาพลังงานที่เป็นทั้งต้นทุนทางอ้อมของราคาสินค้าผ่านต้นทุนค่าขนส่ง การผลิต และทางตรงที่ส่งผลกระทบต่อครัวเรือนผ่านค่าโดยสารและสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานในชีวิตประจำวันต่างๆ ขณะที่ภาพรวมกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ จะยังไม่สามารถกลับไปอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ดังนั้นมาตรการช่วยเหลือเยียวยาและแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายที่จำเป็นจากภาครัฐยังมีความจำเป็นต่อเนื่องในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนยังมีความเปราะบางสูง นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยเมื่อไม่นานมานี้ว่า ทางกรมฯ ได้วิเคราะห์ถึงผลกระทบต้นทุนน้ำมันดีเซลต่อต้นทุนการผลิตสินค้า ตามคำสั่งของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
Read More