COVID-19: คนไทยเผชิญวิกฤต ภาวะเครียดแทรกซ้อนซ้ำเติม
สถานการณ์ COVID-19 ที่แพร่ระบาดอีกครั้ง และดูเหมือนจะทวีความรุนแรงมากกว่าครั้งก่อนนอกจากจะมีประเด็นว่าด้วยการควบคุมโรคและการทำงานหนักของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งที่คนไทยต้องเผชิญกับวิกฤตโรคระบาดยังอยู่ที่ความเครียด และการรับมือกับสภาพจิตใจของตัวเอง ซึ่งเป็นปัญหาที่มองข้ามไม่ได้โดยเด็ดขาด วิกฤต COVID-19 นำไปสู่ความเครียดของคนเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นความเครียดจากความกังวลใจสงสัยว่าตัวเองติดเชื้อหรือยัง หรือความเครียดจากการที่ค้าขายไม่ได้ นายจ้างลดการจ้างงาน เครียดเพราะเดินทางไม่ได้ รวมถึงการที่ครอบครัวมีลูกอยู่บ้าน หรือทำงานที่บ้าน จนเป็นเหตุให้เกิดการกระทบกระทั่งและทะเลาะกันมากยิ่งขึ้น ปัญหาเหล่านี้ทำให้ผู้คนมีความเครียดเพิ่มขึ้น และถูกทับถมให้หนักขึ้นเมื่อต้องเผชิญกับการระบาดของ COVID-19 ในแต่ละระลอกให้หนักขึ้นไปอีก จากสถิตินับตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมาพบว่าแนวโน้มที่คนไทยมีความเครียดจนนำไปสู่การฆ่าตัวตายมีอัตราที่สูงมาก คำแนะนำสำคัญสำหรับคนที่เครียดจาก COVID-19 จึงอยู่ที่การรับฟังเพื่อพยายามหาว่าปัญหาคืออะไร และพิจารณาปัญหาที่สำคัญสุดที่เผชิญอยู่คืออะไรกันแน่ สิ่งต่อมาคือการประเมินว่าปัญหาที่แต่ละคนเผชิญอยู่เป็นปัญหาที่แก้ได้หรือไม่ได้ เช่น เรื่องหนี้สิน ก็ต้องประสานหาข้อมูลเพื่อบรรเทาผลกระทบ หากเป็นเรื่องทะเลาะกับคนในบ้านหลังจากต้องล็อกดาวน์ตัวเองกับคนในครอบครัว ทำให้มีปากเสียงกันบ่อย ก็ต้องระงับจิตใจให้ผ่อนคลายลง ส่วนปัญหาที่แก้ไขไม่ได้ เช่น ภาวะซึมเศร้าจากผลของการที่บางคนได้รับรู้หรือประสบเจอเจอเหตุจากคนรู้จักเสียชีวิตจาก COVID-19 อาจต้องพิจารณาว่ามีแนวโน้มขอบเขตความเครียดอยู่ระดับไหน ถึงขั้นต้องไปพบแพทย์หรือไม่ ซึ่งทุกครั้งที่สังคมเจอวิกฤต เช่น วิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ซึ่งมีคนก่อเหตุฆ่าตัวตายสูงถึงร้อยละ 25% จากปีก่อนหน้า และอัตรานี้จะคงอยู่ไป 3-4 ปี กว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติ ข้อสังเกตประการหนึ่งจากวิกฤตที่เกิดขึ้นในสังคมทุกครั้งนั้น จะเห็นได้ว่าแต่ละวิกฤตส่งผลเป็นความเปลี่ยนแปลงต่อผู้คนจำนวนมาก
Read More