Home > ปาเลสไตน์

เยรูซาเลม: สันติภาพบนระเบิดเวลาลูกใหม่

การประกาศยอมรับและรับรองนครเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล โดย Donald Trump ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เมื่อไม่นานมานี้ นอกจากจะส่งผลกระทบต่อเนื่องในวงการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกระบวนการสันติภาพในตะวันออกกลางแล้ว กรณีดังกล่าวดูเหมือนจะเป็นระเบิดเวลาครั้งใหม่ที่พร้อมรอการจุดชนวนและส่งผลสะเทือนในวงกว้างอย่างที่ไม่มีผู้ใดคาดการณ์ถึงผลที่จะติดตามมาได้ ท่วงทำนองของโดนัลด์ ทรัมป์ ในครั้งนี้ นับเป็นการปรับเปลี่ยนจุดยืนและแนวทางแห่งนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ ที่ดำเนินมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ ในกรณีว่าด้วยสันติภาพในตะวันออกกลาง ที่ดูจะมีจุดศูนย์กลางแห่งความขัดแย้งอยู่ที่กรณีพิพาท อิสราเอล-ปาเลสไตน์ ไปอย่างสิ้นเชิง หากแต่ในอีกมิติหนึ่ง การประกาศรับรองสถานะของนครเยรูซาเลม เป็นการดำเนินนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ ตามที่เคยประกาศไว้ระหว่างการหาเสียงว่าจะย้ายสถานทูตสหรัฐฯ จากกรุงเทล อาวีฟ ไปยังนครเยรูซาเลม ซึ่งเป็นสิ่งที่อิสราเอลปรารถนามาเป็นเวลานาน ภายใต้เหตุผลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ระบุว่าเขากำลังจะนำพาให้เกิด “ข้อตกลงสุดท้าย” ของสันติภาพขึ้น แต่ดูเหมือนว่าท่าทีและการตอบสนองจากทั่วทุกสารทิศกลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม และเต็มไปด้วยความรู้สึกกังวลไม่เห็นด้วยกับท่าทีล่าสุดของทรัมป์ในครั้งนี้ โดยวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีแห่งรัสเซีย ถึงกับระบุว่าการที่ทรัมป์ยอมรับให้เยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล เป็นการทำลายกระบวนการสันติภาพในตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีบริบทและปัจจัยทางการเมืองละเอียดอ่อนมากอยู่แล้ว ให้อยู่ในภาวะแหลมคมและสุ่มเสี่ยงยิ่งขึ้นไปอีก พร้อมกับระบุว่าสถานะของเยรูซาเลม ควรเป็นไปตาม “ฉันทามติ” ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ ภายใต้กระบวนการเจรจาบนพื้นฐานของมติสหประชาชาติ มากกว่าการประกาศยอมรับฝ่ายเดียวดังที่สหรัฐอเมริกาดำเนินการอยู่ นอกจากนี้ ปูตินยังเน้นย้ำด้วยว่าอิสราเอลและปาเลสไตน์ควรกลับเข้าสู่กระบวนการเจรจาโดยเร็วที่สุด เพื่อปรับความเข้าใจและคลี่คลายความขัดแย้งในทุกประเด็น ซึ่งรวมถึงสถานะของเยรูซาเลมด้วย มูลเหตุที่ทำให้การประกาศรับรองเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงของอิสราเอล กลายเป็นประเด็นร้อนในทางการเมืองระหว่างประเทศ และกำลังส่งผลกระทบต่อสันติภาพของโลกในวงกว้าง ในด้านหนึ่งเป็นผลสืบเนื่องทางประวัติศาสตร์ที่นครศักดิ์สิทธิ์ในนาม เยรูซาเลม แห่งนี้ถือเป็นหัวใจแห่งความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ที่ดำเนินยืดเยื้อต่อเนื่องยาวนาน ไม่เพียงเพราะเยรูซาเลมมีความสำคัญเกี่ยวข้องทางศาสนาและมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์หลายแห่งสำหรับชาวยิว

Read More

ชีวิตระหว่างและหลังสงครามที่ฉนวนกาซา

 Column: Women in wonderland เป็นเวลาหนึ่งปีแล้วหลังจากเกิดความขัดแย้งขึ้นที่ฉนวนกาซา หลายคนน่าจะยังจดจำความรุนแรงในครั้งนั้นได้ เมื่ออิสราเอลและกลุ่มฮามาสได้ยิงถล่มกันอย่างรุนแรง ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นจำนวนมาก หลังจากนั้นก็มีการเจรจาหยุดยิง และความรุนแรงในครั้งนั้นก็ยุติลง แต่สภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในบริเวณนั้นตั้งแต่ช่วงเวลาที่มีความรุนแรงจนกระทั่งเหตุการณ์ยุติ ก็ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือเท่าที่ควร  ความรุนแรงที่ฉนวนกาซาในปี 2557 เริ่มต้นในเดือนมิถุนายนเมื่อมีการลักพาตัวและฆาตกรรมวัยรุ่นชาวอิสราเอล 3 คน ซึ่งรัฐบาลอิสราเอลได้ออกมากล่าวโทษกลุ่มฮามาส แต่กลุ่มฮามาสออกมาปฏิเสธว่า พวกเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับการลักพาตัวและฆาตกรรมวัยรุ่นชาวอิสราเอล  ความขัดแย้งแย่ลงไปอีก เมื่อวัยรุ่นชาวปาเลสไตน์ถูกลักพาตัวและถูกเผาทั้งเป็น เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2557 ทำให้ชาวปาเลสไตน์จำนวนมากไม่พอใจ และออกมาประท้วงบนถนน เพราะพวกเขาเชื่อว่าวัยรุ่นชาวปาเลสไตน์คนนี้น่าจะถูกคนอิสราเอลฆ่าเพื่อแก้แค้นแทนวัยรุ่นชาวอิสราเอลที่ถูกฆ่าตายก่อนหน้านี้ วันที่ 7 กรกฎาคม 2557 กลุ่มฮามาสออกมายอมรับว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการยิงจรวดเข้าสู่พื้นที่ทางตอนใต้ของอิสราเอล นี่ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 20 เดือนที่ผ่านมาที่มีการยิงจรวดระหว่างกลุ่มฮามาสและอิสราเอล แล้วกลุ่มฮามาสออกมายอมรับว่าเป็นฝีมือของกลุ่มตัวเอง  หลังจากกลุ่มฮามาสออกมายอมรับ วันถัดมาอิสราเอลก็ประกาศ “ปฏิบัติการปกป้องชายแดน” โดยอิสราเอลให้เหตุผลการโจมตีกลุ่มฮามาสว่า อิสราเอลมีเป้าหมายเพื่อต้องการหยุดการยิงจรวดและทำลายความสามารถของกลุ่มฮามาสไม่ให้สามารถโจมตีอิสราเอลกลับได้ ดังนั้นอิสราเอลจึงโจมตีทางอากาศใส่กลุ่มฮามาสซึ่งอาศัยอยู่ในเขตกาซามากกว่าหนึ่งพันจุด และกลุ่มฮามาสเองก็มีการโจมตีกลับด้วยจรวดมากกว่าหนึ่งพันลูกเช่นกัน จากความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ทำให้ประเทศต่างๆ ออกมาเรียกร้องให้ยุติความขัดแย้งด้วยการดำเนินการทางการทูต เพื่อทำข้อตกลงหยุดยิง การเจรจาเพื่อทำการหยุดยิงระหว่างสองฝ่าย เป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากกลุ่มฮามาสมีความคิดว่าการหยุดยิงคือการยอมแพ้ จนในที่สุดกลุ่มฮามาสก็ยินยอมที่จะทำข้อตกลงหยุดยิงกับอิสราเอล หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก จากเหตุการณ์ความรุนแรงในครั้งนี้

Read More