จากชุมชนสู่การท่องเที่ยว วิถีคนลุ่มน้ำและเมืองชายแดนไทย-มาเลย์
เพราะการท่องเที่ยวเป็นกลยุทธ์สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งกระตุ้นการใช้จ่ายภายในและดูดเม็ดเงินจากต่างประเทศ การให้ความสำคัญในการพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพและสร้างความแข็งแกร่งให้กับการท่องเที่ยวจึงเป็นสิ่งที่ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างให้ความสำคัญ ทรัพยากรธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม และวิถีชีวิต คือทรัพยากรสำคัญที่มีผลต่อการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการท่องเที่ยว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จึงได้ดำเนินการผ่านสำนักประสานงานโครงการวิจัยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ ให้การสนับสนุนทุนวิจัยในโครงการ “การพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวภายใต้อัตลักษณ์และวิถีท้องถิ่นลุ่มน้ำทะเลสาบ” และ “การจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) และ 4 รัฐ ของประเทศมาเลเซีย (กลันตัน เปรัค เคดาห์ เปอร์ลิส) ภายใต้มาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชนสู่อาเซียน” เพื่อมุ่งพัฒนาศักยภาพและเพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวระหว่างพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาเชื่อมต่อไปยังเมืองชายแดนไทย-มาเลเซีย พร้อมผลักดันผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม จากการวิจัยพบว่าพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาที่ครอบคลุมจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา มีทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวที่หลากหลาย ทั้งธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตของผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “วิถีโหนด-นา-เล” วิถีชีวิตดั้งเดิมของคนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาที่ผูกพันกับการทำตาลโตนด การทำนา และการประมง ซึ่งถือเป็น 3 อาชีพหลักของคนในพื้นที่ ต.ท่าหิน อ.สทิงพระ จ.สงขลา นับเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกตาลโตนดมากที่สุดในประเทศไทย
Read More