ข่าวคราวว่าด้วยการคาดการณ์เหตุภัยภิบัติที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ในด้านหนึ่งได้ส่งผลย้ำเตือนและกระตุ้นสติให้กับสังคมไม่ให้ดำเนินชีวิตท่ามกลางความประมาท แต่ในอีกมิติหนึ่งของสังคมไทยข่าวในลักษณะเช่นนี้ดูจะมีค่าเพียงกระแสให้หยิบยกมาพูดคุย และตื่นตระหนกก่อนที่จะมลายหายไปพร้อมกับสายลมยามบ่ายอย่างง่ายดาย โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สังคมไทยได้เผชิญกับปัญหาและวิกฤตการณ์จากทั้งฝีมือมนุษย์และจากธรรมชาติ อยู่ไม่น้อย แต่ทุกครั้งและทุกเหตุการณ์กลับปรากฏการผลิตซ้ำ โดยปราศจากมาตรการป้องกันแก้ไขอย่างจริงจัง ปรากฏการณ์ที่เผชิญอยู่เบื้องหน้า อาจส่งผลให้เกิดคำวิพากษ์วิจารณ์มากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งกระแสวิจารณ์ต่อกลไกที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการป้องกันและแก้ไขปัญหาโดยตรง แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่าก็คือในฐานะที่มีโอกาสจะเป็นผู้ประสบภัย เราจะเตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์เลวร้ายนี้อย่างไรกันดี การเตรียมความพร้อมในลักษณะของการซ้อมหนีภัย หรือการจำลองเหตุการณ์ที่มีความจำเป็นต้องอพยพคน ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นภายหลังจากที่เราประสบกับเหตุการณ์สึนามิที่ชายฝั่งทะเลอันดามันเมื่อปลายปี 2547 เท่านั้น และแม้เวลาจะล่วงเลยไปเกือบจะ 10 ปีในปัจจุบันก็ยังไม่มีการจัดสรรพื้นที่เพื่อจัดเตรียมสำหรับการรองรับการอพยพผู้ประสบภัยอย่างจริงจัง แต่ลำพังการป้องกันและการเตรียมความพร้อมอย่างเดียวคงไม่เพียงพอสำหรับการหลีกหนีจากเหตุเภทภัยหรอกนะคะ ดังจะเห็นได้จากกรณีดินโคลนถล่มที่เมืองฮิโรชิมา เมื่อไม่นานมานี้ หากเราศึกษาความเป็นไปจากญี่ปุ่นสักหน่อย ก็จะพบว่าญี่ปุ่นในฐานะประเทศที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับพิบัติภัยสูงชาติหนึ่งเขาเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับเรื่องเช่นนี้ไว้ค่อนข้างดีทีเดียว เรียกได้ว่าเป็นการเตรียมตัวอย่างมีระบบในทุกระดับกันเลยละ เพราะสถานที่ราชการของญี่ปุ่นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียน และศาลาประชาคมของแต่ละพื้นที่ได้รับการออกแบบให้มีความแข็งแรงและอยู่ในชัยภูมิที่พร้อมแปลงสภาพเป็นศูนย์อพยพ ศูนย์พักพิงสำหรับผู้ประสบภัยทันทีที่เกิดเหตุไม่พึงประสงค์หรือเหตุไม่คาดฝัน ซึ่งสถานที่เหล่านี้จะมีชุดเครื่องยังชีพทั้งอุปโภคและบริโภคที่จำเป็นจัดเตรียมไว้ให้กับผู้ประสบภัยในเบื้องต้น ก่อนที่จะมีการระดมความช่วยเหลือเข้ามาเพิ่มเติมในเวลาต่อมา ถนนสายหลักของญี่ปุ่นหลายสายได้รับการออกแบบให้มีความกว้างและปลอดสายไฟ เพราะถูกกำหนดให้เป็นเส้นทางฉุกเฉินสำหรับการลำเลียงอุปกรณ์ เครื่องมือยังชีพและหน่วยแพทย์ ซึ่งคงไม่มีชาวญี่ปุ่นคนใดกล้าแม้แต่จะคิดที่จะนำพาหนะไปจอดบนเส้นทางสัญจรที่มีความสำคัญโดยเฉพาะในยามฉุกเฉินหรอกนะคะ ขณะเดียวกัน กิจกรรมการฝึกซ้อมอพยพหนีภัย เป็นกิจกรรมสำคัญของสังคมญี่ปุ่น ที่ถือปฏิบัติตั้งแต่ระดับนักเรียนโรงเรียนอนุบาล ไล่เรียงไปจนถึงชั้นมัธยม และติดตามต่อเนื่องไปจนถึงเมื่อเข้าทำงานในหน่วยงานน้อยใหญ่ทั้งภาครัฐและเอกชน ขณะที่การเตรียมอุปกรณ์ยังชีพฉุกเฉินเป็นเรื่องราวปกติที่แทบทุกครัวเรือนของญี่ปุ่นจะต้องมีการตระเตรียมให้สมดุลกับจำนวนสมาชิกในครอบครัวอีกด้วย การเตรียมเครื่องยังชีพของแต่ละครัวเรือนสำหรับกรณีภัยพิบัติฉุกเฉินนี่ล่ะคะ ที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการคิดและค้นคว้าวิจัย เพื่อพัฒนานวัตกรรมในการผลิตอาหารพร้อมปรุง หรือแม้กระทั่งไม่ต้องปรุงแต่พร้อมบริโภคอย่างหลากหลาย ซึ่งทำให้ครอบครัวชาวญี่ปุ่นพร้อมเผชิญหน้ากับเหตุภัยพิบัติได้นานกว่า 3-5 วันได้เป็นอย่างดี ยังไม่นับรวมหน่วยงานที่พร้อมจะให้และกระจายข้อมูลเกี่ยวกับการป้องกันและแจ้งเตือนอุบัติภัย ที่ดำเนินการอย่างเป็นระบบ ในฐานะที่เป็นมาตรการป้องกันผลกระทบไม่พึงประสงค์ ที่มีนัยความหมายมากกว่าการติดตามสถานการณ์กันไปแบบการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งย่อมเสี่ยงต่อการตกอยู่ในสภาพ “ไม่ทันการณ์” หรือแม้แต่ “หลังสถานการณ์” ได้อย่างง่ายดายดังที่มีประจักษ์พยานให้ได้เห็น เรื่องที่น่าสนใจก็คือภายใต้นิยามของคำว่า
DisasterJapan Read More