ภาพของผู้คนที่ยืนเรียงแถวรอคอยที่จะได้มีโอกาสเข้าไปเลือกซื้อสินค้าจากร้านเสื้อผ้าแบรนด์ดังจากญี่ปุ่น เมื่อคราวเปิดตัวในประเทศไทยแต่ละครั้งถือเป็นความเคลื่อนไหวของผู้ประกอบการธุรกิจจากญี่ปุ่นที่กำลังรุกเข้ามาสร้างสีสันให้กับแวดวงธุรกิจไทยไม่น้อยเลยนะคะ แม้ว่าความคุ้นเคยของคนไทยที่มีต่อสินค้าและบริการภายใต้แบรนด์จากญี่ปุ่น อาจทำให้ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นเพียงเรื่องราวสามัญธรรมดา ขณะเดียวกันก็อาจประเมินได้ว่านี่คือกระแสธารของโลกทุนนิยมและความเป็นไปในยุคโลกาภิวัตน์ ที่ดำเนินอยู่ไม่แตกต่างจากกรณีอื่นๆ หากแต่ในอีกมิติหนึ่งยังปรากฏข้อเท็จจริงที่ว่า การขยายบริบททางธุรกิจของผู้ประกอบการญี่ปุ่นออกสู่ตลาดภายนอกประเทศอาจเป็นหนึ่งในหนทางรอดทางธุรกิจของผู้ประกอบการเหล่านี้ ท่ามกลางความชะลอตัวทางเศรษฐกิจภายในญี่ปุ่นเองด้วย การจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่องในช่วงทศวรรษ 1960 ถึง1980 และได้รับการเรียกขานว่าเป็น “ความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจ” กลายเป็นกับดักที่ส่งผลให้เกิดภาวะชะลอตัวทางเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง ก่อนที่ฟองสบู่จะแตกออกและทำให้ระบบเศรษฐกิจญี่ปุ่นได้รับผลกระเทือนอย่างหนักหน่วงในระยะเวลาหลังจากนั้น ถ้าจะถามว่าความเสื่อมถอยทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ช่วงปี 1990 จนถึงปัจจุบันมีความรุนแรง หนักหนาเพียงใด ก็คงพิจารณาได้จากการประเมินและเรียกขานช่วงเวลาดังกล่าวของนักเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศที่ระบุว่าเป็น ทศวรรษที่หายไป หรือ เดอะ ลอสต์ เดเคด (the Lost Decade) ขณะที่บางรายเรียกช่วงเวลาดังกล่าวว่าเป็น ปีที่สูญเปล่า (the Lost Years) ของญี่ปุ่นกันเลยทีเดียว แต่ภายใต้ซากปรักหักพังของเศรษฐกิจมหภาค ซึ่งมีบริษัทใหญ่ๆ ตกเป็นเหยื่อที่มีสภาพไม่ต่างจากผีดิบที่ไม่สามารถเติบโตและสร้างผลกำไร เพื่อมาหล่อเลี้ยงองคาพยพทางธุรกิจได้มากนัก กลับเปิดโอกาสให้บริษัทเล็กๆ ที่ค่อยๆ สะสมทุนจากระดับท้องถิ่น ก้าวขึ้นมาเติมเต็มช่องว่างของการขับเคลื่อนกลไกทางเศรษฐกิจที่หายไปทีละน้อย และมีผลต่อการปรับเปลี่ยนรูปแบบการบริโภคของญี่ปุ่นที่ทำให้เกิดเป็นเทรนด์ใหม่ในเวลาต่อมา การเกิดขึ้นของทั้ง MUJI และ Uniqlo เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจไม่น้อยในกรณีที่ว่านี้ เพราะหากย้อนหลังกลับไปในช่วงเวลาไม่กี่ปีมานี้ ทั้งสองบริษัทยังมีสถานะเป็นเพียงผู้ประกอบการในระดับท้องถิ่น หรือหากกล่าวให้เข้าใจได้ง่ายก็ต้องบอกว่าเป็นเพียงเอสเอ็มอี ที่คงไม่มีใครให้ความสนใจเป็นแน่ ทั้งสองบริษัทมีจุดเปลี่ยนผ่านทางประวัติศาสตร์จากห้วงเวลาที่ใกล้เคียงกันในช่วงต้นของทศวรรษ 1980 ซึ่งสังคมญี่ปุ่นโดยรวมกำลังเริงร่าอยู่กับตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ไต่ระดับพุ่งทะยาน
JapanMUJIUniqlo Read More