วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > On Globalization > ไปทาน “ปู” กันไหม

ไปทาน “ปู” กันไหม

 
ช่วงนี้ผู้เขียนมีโอกาสได้ทานปูบ่อยเป็นพิเศษ แต่ก็นั่นล่ะคะ เรื่องของอาหารการกินบางครั้งถ้าซ้ำกันเกิน 2-3 มื้อ แม้ว่าจะอร่อยเพียงใด ก็อาจทำให้ต้องรีบมองหาวิธีการปรุงในรูปแบบอื่นๆ ได้เหมือนกัน 
 
และก็คงมีแต่คนไทยเท่านั้น ที่จะสรรหาวิธีการปรุงวัตถุดิบชนิดเดียวให้สามารถนำเสนอเป็นเมนูอาหารที่หลากหลายได้อย่างไม่เคอะเขินและลงตัว ทั้ง เผา ทอด ผัด ต้ม นึ่ง หลายครั้งยังมีเทศกาลอาหารเฉพาะทางให้ได้ลิ้มลองอีกด้วย 
 
ในญี่ปุ่นก็มีเทศกาลทานปูเหมือนกันนะคะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทศกาลปูยักษ์ฮอกไกโด ซึ่งที่จริงแล้วก็คือ King Crab ที่พบและสามารถจับได้ในแถบอะแลสกาตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนมกราคมในแต่ละปี ซึ่งสอดรับกับเทศกาลท่องเที่ยวฤดูหนาวของญี่ปุ่น ซึ่งมักถือโอกาสเดินทางขึ้นเหนือเพื่อสัมผัสอากาศหนาวเย็นและตระเวนเล่นสกีหิมะไปโดยปริยาย
 
Sapporo ดูจะเป็นจุดหมายปลายทางหลักในฤดูหนาวของญี่ปุ่น สำหรับนักเดินทางโดยทั่วไปที่นึกถึงฮอกไกโด หากแต่ถ้าประสงค์จะไปทานปูยักษ์กันอย่างจริงจัง และด้วยความสดใหม่ เมือง Kushiro เมืองท่าและหมู่บ้านชาวประมงด้านทิศตะวันออกของฮอกไกโดนี่ล่ะคะ ที่จะสามารถหาปูยักษ์สดๆ ทานกันได้ด้วยสนนราคาที่ยังไม่ผ่านการบวกเพิ่มจากค่าคนกลางและการขนส่ง
 
King Crab ที่ว่านี้มีอยู่สามสายพันธุ์ แยกเป็น Red King Crab, Blue King Crab และ Brown King Crab (Golden King Crab) แต่ที่ชาวญี่ปุ่นนิยมรับประทานกันก็เพียงสองสายพันธุ์คือ Red King Crab หรือที่ชาวญี่ปุ่นเรียก Taraba Gani และ Blue King Crab หรือ Abura Gani
 
ปูยักษ์สองสายพันธุ์ที่ชาวญี่ปุ่นนิยมกันนี้ ลักษณะภายนอกใกล้เคียงและคล้ายกันมาก ถ้าไม่สังเกตให้ดี ก็มีโอกาสตกเป็นเหยื่อให้โดนหลอกขายของถูกในราคาที่แพงได้ไม่ยาก เพราะราคาของ Taraba Gani สูงกว่า Abura Gani พอสมควรเลยทีเดียว
 
ความแตกต่างระหว่าง “ปูสีแดง” กับ “ปูสีน้ำเงิน” กลายเป็นเรื่องที่สร้างส่วนต่างให้กับผู้ขายผู้ซื้อได้ไม่ยากนะคะ แต่ก็สามารถจำแนกได้โดยไม่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญด้าน “ปู” มาบ่งชี้หรอกนะคะ หากเพียงแต่เราท่านจะเป็นคนที่ช่างสังเกตสักหน่อยก็สามารถจำแนกความเหมือนและความต่างได้ไม่ยาก
 
ข้อแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างปูสองชนิดนี้ เห็นได้ตั้งแต่เมื่อยังไม่ได้นำมาประกอบอาหาร โดย Taraba Gani จะมีสีของตัวปูออกเป็นสีน้ำตาลเข้มๆ ถึงเกือบดำ ขณะที่ Abura Gani จะมีกระดองและสีของขาออกเป็นสีน้ำทะเล สมกับฉายาแห่งชื่อที่ว่า Blue King Crab
 
จุดโดดเด่นที่เห็นได้ชัดหลังจากนำไปปรุงอาหารก็น่าจะอยู่ที่ Taraba Gani เมื่อต้มแล้วจะมีสีแดงชัดเจน สมชื่อ Red King Crab เช่นกัน ส่วน Abura Gani จะมีสีออกเป็นส้มๆ แดงอ่อนๆ ซึ่งจุดสังเกตที่ว่านี้ถึงที่สุดแล้ว คงจำแนกได้ยากสักหน่อย เพราะเรื่องของสีบางครั้งก็แปรผันควบคู่ไปกับเรื่องของแสง
 
การจำแนกความแตกต่างของปูสองชนิดด้วยสี เมื่อนั่งอยู่ในร้านอาหารที่มีการตกแต่งเรื่องแสง คงไม่ใช่เรื่องที่สนุกหรือทำได้ง่ายนักนะคะ
 
จุดสังเกตที่อาจจะง่ายและช่วยได้มากขึ้นอีกสักหน่อย น่าจะเป็นส่วนกลางของกระดองปูทั้งสองชนิด ที่ Taraba Gani มีจุดบนกระดอง 6 จุด ส่วน Abura Gani มีจุดบนกระดองเพียง 4 จุดเท่านั้น
 
แต่ขึ้นชื่อว่า ปู ซึ่งมีดีที่ขาปู จุดที่ใช้สังเกตเพื่อความชัดเจนแจ่มแจ้งว่าเป็นปูชนิดใด ต้องสังเกตที่ขานี่เอง ไม่ได้หมายความว่าปูบางตัวจะลดขาที่มี 8 ขา ลงเหลือ 6 ขาหรอกนะคะ แต่ปลายขาปู Taraba จะมีสีแดงชัดเจน ส่วน Abura จะมีสีขาว จุดสังเกตนี้น่าจะช่วยจำแนกปูสองชนิดได้ดีทีเดียว
 
ข้อสังเกตที่มีอยู่เหล่านี้ อาจจะช่วยให้เราไม่พลาดในการจ่ายราคาสำหรับ “ปูสีแดง” หรือ Taraba Gani เพื่อทาน “ปูสีน้ำเงิน” หรือ Abura Gani ที่มีราคาถูกกว่ากันเกือบเท่าตัว 
 
โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวที่กำลังวางแผนเดินทางไปพร้อมกับคณะในกรุ๊ปทัวร์ที่มักจะเขียนโปรแกรมการเดินทางเสียอย่างเลิศหรู ว่ามีโปรแกรมทาน “ปูยักษ์” ไว้ด้วย ควรสอบถามให้ชัดเจนเลยว่า “ปูยักษ์” ที่ว่านี้เป็นปูชนิดใด
 
เรื่องพวกนี้ไม่ควรมองข้ามนะคะ เพราะอุตส่าห์เดินทางไปเสียไกล แล้วกลับต้องมานั่งนึกเสียดายที่ไปทานปูแบบผิดฝาผิดตัวเสียได้ 
 
สำหรับท่านที่ต้องการเดินทางไปทานปูในช่วงปลายปีนี้ หวังว่าท่านทั้งหลายคงไม่ “โดนปูหลอก” ให้ต้องเสียดายและเจ็บกระดองใจกันนะคะ