แม้กำไรสุทธิในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2556 ของ บมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ ซีพีเอฟ (CPF) จะสูงถึง 5,311 ล้านบาท ขณะที่ยอดขายรวมอยู่ที่ 285,886 ล้านบาท แต่ถึงอย่างนั้น “อดิเรก ศรีประทักษ์” กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหารแห่ง CPF ออกมายอมรับว่า รายได้ปีนี้ของบริษัทน่าจะไต่ไม่ถึงเป้า 4 แสนล้านบาท
โดยมีสาเหตุหลักมาจากผลกระทบของโรคตายด่วนในกุ้ง หรือ EMS (Early Mortality Syndrome) ซึ่งสร้างผลกระทบรุนแรงต่ออุตสาหกรรมและธุรกิจกุ้งของ CPF มากกว่าที่บริษัทคาดไว้ ซึ่งส่งผลให้การผลิตกุ้งของ CPF ในปีนี้หายไปเกือบครึ่งคือ จาก 6-7.5 หมื่นตัน เหลือเพียงกว่า 3 หมื่นตัน
ใกล้เคียงกับภาพรวมผลผลิตกุ้งของประเทศปี 2556 ซึ่งลดลงถึง 54% คือจาก 5.4 แสนตัน ในปี 2555 มาอยู่ที่ 2.5 แสนตัน นายกสมาคมกุ้งไทยคาดว่า ณ สิ้นปีนี้ มูลค่าการส่งออกกุ้งไทยน่าจะลดลงจากรายได้ปกติที่สูงกว่าแสนล้านบาท เหลือเพียง 6-7 หมื่นล้านบาท ซึ่งนับเป็นความเสียหายสูงเป็นประวัติการณ์ของอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งของไทย
สำหรับ CPF ผลกระทบจากโรค EMS ไม่เพียงทำให้รายได้ส่งออกกุ้งของบริษัทลดลง และทำให้การผลิตกุ้งแปรรูปน้อยลง อีกทั้งยังทำให้ต้นทุนในการผลิตกุ้งของโรงงานแปรรูปเพิ่มขึ้น ผลกระทบของโรค EMS ยังกระเทือนกับอีกแหล่งรายได้สำคัญของ CPF คือรายได้จากการขายลูกกุ้งและอาหารกุ้งให้กับเกษตรกร เนื่องจากช่วงที่ผ่านมามีฟาร์มกุ้งจำนวนมากที่พักบ่อ รอดูผลลัพธ์ในการแก้ปัญหาโรค EMS
ข้อมูลจากสมาคมกุ้ง ระบุว่า CPF น่าจะถือเป็นบริษัทที่ใหญ่ในธุรกิจขายลูกพันธุ์กุ้งของไทย และธุรกิจอาหารกุ้ง ซึ่งน่าจะครองส่วนแบ่งตลาดราว 50% ของทั้งหมด
“รายได้จากการขายลูกพันธุ์กุ้ง ปกติปีหนึ่งๆ เราขายลูกพันธุ์กุ้งได้ราว 2.5 หมื่นล้านตัว เป็นเงินประมาณ 2.5 พันล้านบาท ส่วนรายได้จากการขายอาหารกุ้ง ปีก่อนที่จะมีโรคระบาด เราน่าจะขายได้ราว 450-500 ล้านเหรียญสหรัฐ 1.35-1.5 หมื่นล้านบาท”
นายสัตวแพทย์ สุจินต์ ธรรมศาสตร์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร สายงานอาหารสัตว์น้ำ และสายงานวิจัยและพัฒนาพันธุ์สัตว์ และเทคโนโลยีการเลี้ยงสัตว์น้ำ แห่ง CPF ยอมรับว่า โรค EMS ส่งผลกระทบให้ธุรกิจการขายลูกกุ้งและอาหารกุ้ง รวมถึงเวชภัณฑ์สำหรับเลี้ยงกุ้ง กระทบอยู่ไม่น้อยในช่วงที่ผ่านมา
จึงไม่น่าแปลกใจที่ CPF จะเป็นบริษัทเอกชนที่มีความตื่นตัวที่สุดในการหาแนวทางแก้ปัญหาโรค EMS โดยเมื่อไม่นานมานี้ CPF ได้เปิดฟาร์มกุ้งระบบโรงเรือนปิดครบวงจรร้อยเพชร เพื่อโชว์เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย และระบบการจัดการสุขาภิบาลฟาร์มเพื่อป้องกันโรค เพื่อเพิ่มผลผลิตของบริษัทไปให้ถึง 5 หมื่นตัน ในปีหน้า
สำหรับฟาร์มร้อยเพชรเป็นฟาร์มเลี้ยงกุ้งหนาแน่นสูงในโรงเรือนปิดด้วยระบบน้ำหมุนเวียนแห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งเป็นฟาร์มต้นแบบเพื่อใช้เป็นสถานที่วิจัยและพัฒนาการเลี้ยงกุ้งด้วยเทคโนโลยีทั้งระบบ และเป็นฟาร์มสาธิตการเลี้ยงระบบโรงเรือนปิด เพื่อป้องกันความสูญเสียจากโรค EMS และเพิ่มศักยภาพการผลิตให้สูงขึ้น
“โครงการเลี้ยงกุ้งในระบบปิดต้องลงทุนสูง แค่ที่เรากล้าลงทุนเพราะจริงๆ แล้วนี่ถือเป็นโครงการกึ่งวิจัยขนาดใหญ่ เพื่อหาระบบที่เหมาะสมมาเลี้ยงกุ้ง เพราะการจะเป็นครัวโลกที่มีแบรนด์ เราต้องการันตี “supply chain” ให้ดี นั่นหมายความว่าเราต้องทำระบบการผลิตที่ควบคุมได้ ซึ่งต้องลงทุนสูงมาก แต่ถ้านึกถึงปลายน้ำที่บริษัทลงทุนสร้างโรงงานแปรรูป สร้างแบรนด์ สร้างช่องทางตลาดไว้แล้ว ตรงนี้มันคุ้มกับเรา” น.สพ.สุจินต์กล่าว
ฟาร์มร้อยเพชรเริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2549 ด้วยวิสัยทัศน์ของ “เจ้าสัวธนินท์” สร้างขึ้นบนเนื้อที่ 3 พันไร่ใน จ.ตราด โดยตั้งอยู่ห่างจากโรงงานแปรรูปของ CPF เพียง 2 ชั่วโมง
ฟาร์มแห่งนี้แบ่งเป็น 2 เฟส เฟสแรกครอบคลุมพื้นที่ 1.4 พันไร่ ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์เป็นระบบโรงเรือนปิดครบวงจร กำลังการผลิตกุ้งราว 4.8 พันตัน ส่วนเฟสที่สองมีเนื้อที่ 1.5 พันไร่ ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2558 โดยพื้นที่ในเฟสสองจะถูกใช้เป็นพื้นที่ทดลองหารูปแบบฟาร์มระบบปิดที่มีราคาถูกลง เพื่อให้เกษตรกรเกิดแรงจูงใจที่จะนำไปใช้จริง
“เราพยายามสร้างต้นแบบของโรงเรือนระบบปิดของกุ้งขึ้นมา เพราะเราเชื่อว่าสุดท้ายแล้วการเลี้ยงกุ้งอาจจะต้องพัฒนาไปสู่ระบบปิดหรือระบบที่เราสามารถควบคุมได้มากขึ้น เหมือนฟาร์มไก่ ฟาร์มหมู”
ควบคู่กับการพัฒนาระบบการเลี้ยง คือการพัฒนาระบบสายพันธุ์เป็นอีกแนวทางแก้ไขปัญหาโรคระบาด EMS ที่ CPF ให้ความสำคัญอย่างมาก โดยสายพันธุ์กุ้งในความปรารถนาของ CPF คือ สายพันธุ์ที่เติบโตเร็ว ต้านทานโรคสูง และสามารถเลี้ยงในความหนาแน่นสูงขึ้น หรือการเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่มากขึ้น
น.สพ.สุจินต์ ระบุว่า ในประเทศไทย ไม่ค่อยมีบริษัทใดอยากพัฒนาเรื่องพันธุ์กุ้ง เนื่องจากการพัฒนาพันธุ์มีต้นทุนสูง ใช้เวลาและบุคลากรมาก แต่ไม่มีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property)
แรงจูงใจสำคัญที่ทำให้ CPF ยินดีลงทุนในเรื่องพันธุ์กุ้ง เป็นเพราะผลิตภัณฑ์จากกุ้งทะเลเป็นอุตสาหกรรมอาหารที่มีมูลค่าสูงและเป็นที่ต้องการอย่างมากของตลาดโลก อีกเหตุผลสำคัญคือ บริษัทมีตลาดรับซื้อลูกพันธุ์รองรับ ทั้งภายในและภายนอกประเทศไทย และมี End User รายใหญ่อยู่ในมือ ซึ่งรวมถึงธุรกิจแปรรูปผลิตภัณฑ์กุ้งของบริษัทเอง
ยังไม่นับรวมแรงหนุนที่ถือเป็นต้นทุนความได้เปรียบของ CPF อาทิ ความจัดเจนในธุรกิจการเกษตรอุตสาหกรรมของบริษัทแม่ ความพร้อมในด้านเงินทุนและเทคโนโลยี ประสิทธิภาพของกำลังคน และที่สำคัญคือ CPF ยังได้เปรียบในแง่การมีบทเรียนจากธุรกิจไก่และหมูมาปรับใช้
พร้อมกับการเดินหน้ารุกสู่ธุรกิจอาหาร ด้วยการสร้างและพัฒนาแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลก อันเป็นโจทย์ใหญ่ที่ CPF ทำมาในช่วงหลายปีมานี้ แต่ในอีกด้าน CPF ได้ให้ความสำคัญอย่างมากในการลงทุนเรื่องการพัฒนาพันธุ์
“สุดท้ายเราก็ต้องมุ่งมาสู่การพัฒนาพันธุ์ เพราะในเมื่อเราทำธุรกิจครบวงจรทั้งระบบ แต่ถ้า “ต้นทาง” สะดุด มันไม่มีทางที่ธุรกิจเราจะยั่งยืน ดังนั้นเรื่องพันธุ์จึงถือเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจเกี่ยวกับสัตว์ ส่วนตัวผมเชื่อว่า ใครที่มีพันธุ์ดีจะกุมความสำเร็จแล้วอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง”
น.สพ. สุจินต์ ระบุว่า ทุกวันนี้ งบประมาณในการวิจัยและพัฒนาสำหรับธุรกิจกุ้งกว่า 500 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะถูกนำไปใช้ใน 2 เรื่องคือการพัฒนาพันธุ์กับระบบการเลี้ยงแบบใหม่ โดยผู้บริหารแห่ง CPF ท่านนี้ เชื่อว่าการวิจัยใน 2 สิ่งนี้ จะเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาโรค EMS และการเพิ่มผลผลิตกุ้งได้อย่างยั่งยืน
ด้วยแนวทางแก้ปัญหาโรค EMS ของ CPF น.สพ.สุจินต์ เชื่อว่า ในปีหน้าผลผลิตกุ้งของ CPF น่าจะกลับมาอยู่ที่ 5 หมื่นตัน โดยจะเริ่มเห็นปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปี 2557 ขณะที่ยอดขายลูกพันธุ์กุ้งและอาหารจะกลับมาดีขึ้นอย่างมากในปีหน้าเช่นกัน
“ในช่วงที่เกิดโรค เกษตรกรเขาหยุดและรอดู หลายคนดูฟาร์มกุ้งของ CPF เป็นโมเดลในการแก้ปัญหา คือถ้าเราทำแนวทางนี้แล้วกุ้งรอด ได้ผลผลิตดี เขาก็จะมั่นใจและกล้าที่จะกลับมาลงทุนใหม่”
นั่นหมายความว่า CPF จะกลับมาขายพันธุ์ลูกกุ้ง ขายอาหารกุ้ง และขายเวชภัณฑ์การเลี้ยงกุ้ง ได้ดีเหมือนเก่า และที่สำคัญ เมื่อผลผลิตกุ้งในประเทศเยอะก็จะทำให้ CPF สามารถผลิตผลิตภัณฑ์แปรรูปกุ้งได้มากขึ้น
สำหรับเงื่อนไขสำคัญของผลผลิตกุ้งที่ CPF จะรับซื้อ คือต้องเป็นผลผลิตที่เกิดจากพันธุ์ลูกกุ้ง เลี้ยงด้วยอาหารกุ้ง และเวชภัณฑ์กุ้ง ของ CPF โดยฟาร์มกุ้งนั้นต้องดำเนินการภายใต้แนวทางและการควบคุมตรวจสอบจากพนักงาน CPF คล้ายคลึงกับโมเดลในธุรกิจไก่และหมู
โดยปัจจุบัน นอกจาก CPF จะมีฟาร์มกุ้งประมาณ 130 ฟาร์มตามแนวชายฝั่งทะเลของประเทศ โดย 30 ฟาร์มเป็นฟาร์มของตัวเอง ส่วนที่เหลือเป็นฟาร์มเช่า บริษัทยังมีการลงทุนฟาร์มกุ้งในต่างประเทศ อาทิ ประเทศจีน อินเดีย และเวียดนาม โดยเวียดนามนับเป็นแหล่งฟาร์มกุ้งสำคัญของ CPF ในต่างประเทศ
ทั้งนี้ แม่ทัพใหญ่แห่ง CPF ระบุว่า บริษัทถือเป็นเบอร์ 1 ของโลกในธุรกิจกุ้งครบวงจร โดยเริ่มตั้งแต่การเป็นผู้ผลิตอาหารกุ้ง-ลูกกุ้ง-การเพาะเลี้ยง และการแปรรูปกุ้ง ซึ่งเมื่อรวมขนาดของทั้ง 4 ธุรกิจแล้ว ทำให้บริษัทมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกในแง่ของขนาดธุรกิจ ขณะที่ขนาดของธุรกิจหมูของ CPF ยังถือเป็นเบอร์ 2 รองจากสหรัฐอเมริกา ส่วนธุรกิจไก่น่าจะยังอยู่อันดับที่ 5-6 ของโลก
ไม่เพียงโมเดลความสำเร็จในการแก้ปัญหา EMS แต่โมเดลความสำเร็จในธุรกิจฟาร์มกุ้งในประเทศไทยของ CPF ย่อมจะถูกนำไปใช้ในประเทศต่างๆ เหล่านั้น เฉกเช่นโมเดลของฟาร์มไก่และฟาร์มหมูที่ถูกใช้ในหลายประเทศ
เฉกเช่นที่อดิเรกกล่าวเป็นนัยว่า ทิศทางของ CPF ในปี 2557 ว่า จะยังคงเน้นขยายการฐานลงทุนใน 12 ประเทศที่บริษัทได้ไปลงทุนอยู่แล้ว โดยเฉพาะการเน้นลงทุนเพื่อเติมเต็มช่องว่างในธุรกิจฟาร์มและอาหารสัตว์ในประเทศนั้นๆ ซึ่งถือเป็นการวางรากฐานอันแข็งแกร่งให้กับธุรกิจขั้นต้นและขั้นกลาง ก่อนที่จะรุกเข้าสู่ธุรกิจปลายน้ำ เหมือนในเมืองไทย
ผู้บริหารสูงสุดของ CPF ทิ้งท้ายว่า ในปี 2557 ซึ่งเชื่อว่า ปัญหาโรค EMS ในกุ้งจะเริ่มคลี่คลาย เขาเชื่อว่า CPF จะสามารถกลับมาทำยอดขายได้ตามเป้า โดยเป้าแต่ละปีจะคืออัตราการเติบโตที่ 10-15% ของยอดขายปีก่อนหน้า
เมื่อบวกกับงบการลงทุนราว 5 หมื่นล้านบาท ในช่วงปี 2557-2559 สำหรับการขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศของ CPF เพื่อขับเคลื่อนให้ภาพการเป็น “ครัวโลก” และความเป็นผู้นำในธุรกิจการผลิตอาหารของโลกของ CPF แจ่มชัดยิ่งขึ้นเรื่อยๆ