วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > N-Park ตำนานที่ยังไม่มีบทสรุป

N-Park ตำนานที่ยังไม่มีบทสรุป

 
หากกล่าวถึงบริษัทผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่มีเรื่องราวเป็นที่โจษขานและหวือหวามากที่สุดในประเทศไทย เชื่อว่าชื่อของ N-PARK หรือ แนเชอรัล พาร์ค คงถูกจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในบริษัทที่ต้องกล่าวถึงไปโดยปริยาย
 
เหตุที่เป็นดังนี้ก็เนื่องเพราะหลังจากจัดตั้งบริษัทเมื่อเดือนมิถุนายน 2531 และเข้าจดทะเบียนเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2536 โดยในยุคเริ่มแรกนั้น บริษัทแนเชอรัล พาร์ค จำกัด (มหาชน) เป็นเพียงบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มีสไตล์การทำธุรกิจธรรมดาไม่หวือหวา เช่นเดียวกับท่วงทำนองและความเป็นไปของทศพงศ์ จารุทวี ผู้ถือหุ้นใหญ่ในขณะนั้น ที่ออกจะเป็นคนค่อนข้างเก็บตัวและพร้อมจะยืนอยู่หลังฉากมากกว่า
 
ความเป็นไปของบริษัทแนเชอรัล พาร์ค และทศพงษ์ เริ่มมีเรื่องราวและสีสันมากขึ้นเมื่อไปซื้อโครงการ สนามกอล์ฟปัญญารีสอร์ทและปัญญาฮิลล์ ของปัญญา ควรตระกูล สนามกอล์ฟวิลสันของ ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน และสันติ ภิรมย์ภักดี ในปี 2538 เป็นเงินเกือบ 8,000 ล้านบาท พร้อมๆ กับเปิดตัวโครงการคอนโดมิเนียม และบ้านเดี่ยวจัดสรรหลายโครงการ 
 
ชื่อของทศพงศ์ เข้าสู่การรับรู้ของผู้คนในวงที่กว้างขึ้น โดยเฉพาะในฐานะที่เป็นเจ้าของสนามกอล์ฟที่ไม่เล่นกอล์ฟ แต่เขาซื้อด้วยจิตวิญญาณของนักธุรกิจ ที่หวังว่าจะได้พัฒนาที่ดินรอบๆ สนามกอล์ฟ แต่ความหวังของเขาไม่ทันเริ่มต้นเศรษฐกิจก็พังทลาย ชื่อของเขาดังขึ้นมาวูบเดียวแล้วหายไป ส่วนบริษัทแนเชอรัล พาร์ค ก็เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการตามคำสั่งศาลด้วยหนี้สินกว่า 10,000 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2543
 
N-PARK ใช้เวลา 3 ปีในการระดมทุนจากพันธมิตร ผู้ถือหุ้นใหม่ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ก่อนจะได้รับคำสั่งจากศาลล้มละลายกลางยกเลิกการฟื้นฟูกิจการและกลับมาโลดแล่นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอีกครั้ง
 
โดยในครั้งนั้น แนเชอรัล พาร์ค เติมเรื่องราวสีสันให้ฉูดฉาดมากขึ้นด้วยการวาง เสริมสิน สมะลาภา คนหนุ่มรุ่นใหม่ ที่มีประวัติการศึกษาจากสถาบัน MIT ที่มีชื่อเสียง มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการเงิน การลงทุน สามารถคุยกับกลุ่มทุนต่างประเทศได้ มาไว้ในตำแหน่งCEO ของบริษัท ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นภาคใหม่ของแนเชอรัล พาร์ค ในเวลาต่อมา
 
เสริมสินเข้ามามีส่วนร่วมในแนเชอรัล พาร์ค ด้วยบุคลิกที่ดูเหมือนมีความรู้ ซึ่งทำให้เขาเป็นคนรุ่นใหม่ในวงการอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกจับตามอง และเสนอชื่อให้เป็นกรรมการคนหนึ่งของสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย บทบาทตรงจุดนั้นสร้างโอกาสให้เขาได้ทำงาน ร่วมกับเจ้าของโครงการดังๆ ของเมืองไทยมากมาย และทำให้เขาได้รู้จักทศพงศ์ จารุทวี หรือคนที่เขาเรียกติดปากว่า “พี่เบ้ง” ในเวลาต่อมา
 
เมื่อช่วงวิกฤตเศษฐกิจเกิดขึ้นโอกาสของเสริมสินก็มาถึง เขาตั้งใจจะเข้าไปซื้อหนี้เสียมาทำต่อ ตามคำสอนของ Sam Zale และตามหลักทฤษฎีของ Warren Buffett แต่ “พี่เบ้ง” กลับแนะนำว่า
 
“ระดมทุนคนเดียวไปไม่รอดหรอก มันต้องเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วย เพระทุนต้องใช้ตลอด ทำไมไม่หาทางเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ เลยล่ะ เอาไหม แนเชอรัล พาร์ค ตอนนี้มีแต่เปลือก มีกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมอยู่หน่อย แล้วคุณเข้ามาสวมตรงนี้เลย”
 
นี่คือจุดเริ่มต้นในการเข้ามาบริษัทแนเชอรัล พาร์ค ตามคำบอกเล่าของเสริมสิน โดยวิธีการนี้ แน่นอนทำให้ธุรกิจสามารถระดมทุนได้เร็ว เพิ่มทุนได้เร็ว พันธมิตรแต่ละกลุ่มก็เลยเกิดขึ้น โดยเขาได้เข้าไปรับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ
 
แต่ดูเหมือนว่าภาพลักษณ์ที่งดงามและข้อเท็จจริงที่ปรากฏจะไม่ได้ดำเนินไปในทิศทางที่สอดคล้องกันมากนัก เพราะตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา N-PARK ยังต้องสาละวนกับเรื่องราวที่ชวนให้ปวดหัวอีกมากมายและคำกล่าวของทศพงศ์ที่ระบุไว้ก่อนหน้านี้ว่า “N-Park มีแต่เปลือก” จะกลายเป็นมรดกที่สืบเนื่องต่อมาอีกนาน
 
ในช่วงปี 2547 รายได้หลักของแนเชอรัล พาร์ค ในอนาคตถูกกำหนดไว้ 2 ส่วน คือจากการขาย และรายได้จากการเช่า ซึ่งปัจจุบันมีที่มาสำคัญจากสองบริษัท คือ บริษัทแสนสิริ จำกัด (มหาชน) และบริษัทแปซิฟิค แอสเซ็ทส์ จำกัด (มหาชน)
 
ทั้ง 2 บริษัทมีเรื่องราวความเป็นมาที่น่าสนใจอย่างมากทีเดียว
 
อรวรรณ บัณฑิตกุล อดีตนักเขียน ผู้จัดการ เคยบันทึกไว้อย่างน่าสนใจว่า ถ้าจัดอันดับให้รุ่นของบัญชาเป็น รุ่นที่ 1 ของตระกูลล่ำซำ โชติ จูตระกูล เป็นคนรุ่นที่ 1 ของจูตระกูล อภิชาติและเศรษฐาก็คือคนรุ่นที่ 2 ของ 2 ตระกูลนี้ และจะต้องเป็นผู้แบกรับภาระอันหนักอึ้งของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้กับตระกูลและคนรุ่นหลังต่อไป
 
โดยบริษัทแสนสิริ เดิมทีมาจากการรวมตัวกันทำธุรกิจของตระกูลพี่ตระกูลน้องสองตระกูล คือ จูตระกูล และล่ำซำ โดยมีอภิชาติ ลูกชายคนที่ 2 ของชนาทิพย์ น้องสาวบัญชา ล่ำซำ ที่แต่งงานกับโชติ จูตระกูล และเศรษฐา ลูกโทนของชดช้อย จูตระกูล ซึ่งแต่งงานกับอำนวย ทวีสิน เป็นตัวแทนคนรุ่นที่ 2 ทำหน้าที่ในการบริหารบริษัทของตระกูล
 
น้องสาวคนหนึ่งของโชติ ซึ่งมีศักดิ์เป็นอาของอภิชาติ แต่งงานกับ ดร.ประภาส จักกะพาก มีลูกชายคนหนึ่งชื่อปิ่น ดังนั้น อภิชาติ จูตระกูล ประธานอำนวยการบริษัทแสนสิริ คือลูกผู้พี่ของปิ่น จักกะพาก นี่คือที่มาอันเชื่อมโยงไปถึง “ข่าวลือ” ที่ว่า การซื้อหุ้นของแนเชอรัล พาร์ค ได้มาจากเงินของปิ่น จักกะพาก
 
ในขณะเดียวกัน ทศพงศ์ จารุทวี อดีตกรรมการของบริษัทแนเชอรัล พาร์ค จำกัด ก็คือน้องเขยของเศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการบริษัท แสนสิริ เพราะน้องสาวของหมอพักตร์พิไล ทวีสิน คืออดีตภรรยาที่เลิกรากันมานานของทศพงศ์
 
แต่แล้วในปี 2550 ความสัมพันธ์ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของแนเชอรัล พาร์ค ในแสนสิริ ก็สิ้นสุดลงเมื่อ N-PARK ขายหุ้นที่ถือครองอยู่กว่า 20% ให้กับกลุ่มผู้ลงทุนจากฮ่องกง และทำให้ N-Park ไม่ได้อยู่ในฐานะของการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับแรกของแสนสิริอีกต่อไป
 
เรื่องราวของ N-PARK มาสู่ความสนใจของสาธารณะอย่างมากอีกครั้งในช่วงต้นปี 2556 เมื่อปรากฏชื่อของประชา มาลีนนท์ เป็นหนึ่งในผู้ที่เข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนล่าสุดของ บมจ.แนเชอรัล พาร์ค (N-PARK) ภายใต้เหตุผลว่า ที่เข้าไปลงทุนใน N-PARK ในสัดส่วน 24.50% ของทุนจดทะเบียน หรือจำนวน 2.95 หมื่นล้านหุ้น ด้วยเงินจำนวนประมาณ 900ล้านบาท เนื่องจากมองเห็นศักยภาพการทำธุรกิจ ประกอบกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นธุรกิจครอบครัวที่ได้ดำเนินธุรกิจมาอยู่แล้ว รวมทั้งต้องการขยายการลงทุน
 
“ที่ผมเข้าไปซื้อ N-PARK เพราะมีคนมาเสนอขาย และเห็นศักยภาพที่มีอยู่ ยังมีอีกหลายโครงการเตรียมที่จะเปิด และยังมีที่ดินอยู่อีก หลังระดมทุนน่าจะเริ่มโครงการ อย่างน้อย 2 โครงการ หลังกระบวนการซื้อหุ้นเพิ่มทุนแล้วเสร็จ จะส่งคนเข้าไปเป็นกรรมการก่อน คงยังไม่เข้าไปเปลี่ยนแปลงการบริหาร ผู้บริหารเดิมยังมีฝีมืออยู่” ประชา กล่าว
 
โดย N-Park ในยุคปัจจุบันมี นคร ลักษณกาญจน์ มือบริหารในวัย 53 ปี เป็น กรรมการผู้จัดการ ภายใต้ภารกิจที่จะทำให้ N-Park “เทิร์นอะราวด์” ภายในระยะเวลา 2 ปี
 
นครเข้ามานั่งบริหาร “แนเชอรัล พาร์ค” เมื่อปี 2554 หลัง เสริมสิน สมะลาภา ลาออก ตามคำชักชวนของศักดิ์ทิพย์ ไกรฤกษ์ ประธานกรรมการบริษัท ซึ่งแม้จะได้พูดคุยกันหลายๆ เรื่องแต่โอกาสและจังหวะอาจยังไม่เอื้อให้เขามากนัก ทั้งที่เชื่อว่า N-Park มีโอกาสจะฟื้นตัวก็ตาม
 
เพราะสิ่งแรกที่ต้องรีบแก้ไขยังเป็นปัญหาเกี่ยวกับคดีความ เพื่อสะสางปัญหากับทางเจ้าหนี้แต่ละรายให้จบ ขณะที่ธุรกิจยังขาดเงินทุน ซึ่งต้องจัดการกับทรัพย์สินที่ดีก็ควรเก็บไว้ ส่วนทรัพย์สินที่เสียก็ต้องตัดใจขายทิ้งให้หมด เพื่อให้มีเงินทุนมาดำเนินธุรกิจต่อไป
 
“N-Parkเปรียบเหมือนคนที่ตายแล้ว ได้รับการปั๊มหัวใจให้ฟื้นขึ้นมาใหม่ และพร้อมจะเดินหน้าต่อไป ถ้าไม่ติดเรื่องคดีความธุรกิจคงไปไกลแล้ว” นครกล่าวถึงบริษัทที่เขาบริหารไว้อย่างน่าสนใจ
 
แต่ดูเหมือนหนทางข้างหน้าจะไม่ได้ราบเรียบเช่นที่ นครหวังและตั้งใจ เพราะหลังจากที่ประชา มาลีนนท์ ดำรงสถานะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน N-Park ได้ไม่นานก็ถูกคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตัดสินจำคุกในคดีทุจริตจัดซื้อรถและเรือดับเพลิงพร้อมอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัย ก่อนจะหลบหนีออกไปต่างประเทศ
 
กรณีดังกล่าวส่งผลต่อภาพลักษณ์ของ N-PARK อีกครั้ง  แม้ว่านครจะระบุว่า การต้องคำพิพากษาไม่ได้เกี่ยวข้องกับผลการดำเนินงานหรือการทำธุรกิจของบริษัทก็ตาม
 
ขณะที่ความเคลื่อนไหวล่าสุดด้วยการซื้อกิจการโรงแรมในหัวเมืองใหญ่ที่ขอนแก่น และการขยายการลงทุนเพื่อปูทางสู่การรุกธุรกิจที่ดินในอรัญประเทศ ซึ่งอยู่ติดกับตลาดโรงเกลือ ถูกจับตาว่าอาจเป็นการขยายไปสู่ธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนต์ ก็กำลังเป็นอีกสีสันหนึ่งของ N-PARK
 
ซึ่งดูเหมือนว่าความเป็นมาและเป็นไปของ N-PARK จะต้องได้รับการบันทึกประหนึ่งมหากาพย์ที่ยากจะคาดการณ์บทสรุปและเป็นกรณีศึกษาไปอีกนาน