วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > ส่องทิศทางธุรกิจอาหารเครือซีพี ผ่านวิสัยทัศน์ “เจ้าสัวธนินท์”

ส่องทิศทางธุรกิจอาหารเครือซีพี ผ่านวิสัยทัศน์ “เจ้าสัวธนินท์”

 

เป็นประจำทุกปีที่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF จะจัดงานเลี้ยงขอบคุณคู่ค้าและพันธมิตร แต่ความพิเศษของงานในปีนี้ ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อค่ำคืนวันที่ 25 ตุลาคม ที่ผ่านมา อยู่ที่การปาฐกถาพิเศษโดย “ธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 60 ปีของ CPF พร้อมกับฉลองการก้าวขึ้นสู่ “เบอร์ 1” ในธุรกิจอาหารสัตว์โลก

นอกจากการกล่าวขอบคุณเกษตรกรและพันธมิตรคู่ค้า เจ้าสัวซีพียังย้อนอดีตของธุรกิจอาหารสัตว์เครือซีพีพร้อมด้วยกุญแจความสำเร็จตลอด 60 ปี ทั้งยังกล่าวถึงแนวโน้มและทิศทางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในโลก

ธนินท์พูดเสมอว่า “โลกเปลี่ยนแปลง เราต้องเตรียมใจและต้องเปลี่ยนแปลงตามโลกให้ทัน” ซึ่งแน่นอนว่า ความเปลี่ยนแปลงของโลกที่อยู่ในความสนใจของธนินท์ ย่อมหมายถึง “มูลค่าธุรกิจ” ที่จะส่งผลต่ออนาคตและทิศทางของธุรกิจในเครือซีพีทั้งหมด โดย ผู้จัดการ 360 ํ สรุปประเด็นสำคัญมาพอสังเขป ดังต่อไปนี้

“ถ้ายังมีมนุษย์อยู่ ธุรกิจซีพีก็อยู่ได้”

“ธุรกิจการเกษตรไปจนถึงธุรกิจอาหารสัตว์ และต่อยอดไปถึงธุรกิจอาหารมนุษย์ ทั้งหมดนี้จะเป็นธุรกิจที่จะอยู่คู่กับมนุษย์ ฉะนั้นถ้าเมื่อไหร่ไม่มีมนุษย์ เมื่อนั้นธุรกิจซีพีถึงจะอยู่ไม่ได้” คำกล่าวของเจ้าสัวซีพี ปรากฏบ่อยครั้ง ไม่ได้เฉพาะบนเวทีครบรอบ 60 ปีของ CPF ครั้งนี้ แต่แทบทุกครั้งที่มีโอกาสพูดถึงอนาคตของเครือซีพี
 
วิสัยทัศน์ในเรื่องนี้ของธนินท์ถูกตอกย้ำให้หนักแน่นยิ่งขึ้น ด้วยประสบการณ์กว่า 200 ปี ของกลุ่มธุรกิจ “ดูปองท์ (DuPont)” บริษัทยักษ์ใหญ่ของอเมริกา ซึ่งหลังจากศตวรรษแรกที่ดูปองท์ร่ำรวยจากการผลิตดินปืน จนมาสู่ศตวรรษที่ 2 ซึ่งหันมารุกด้านเคมีภัณฑ์ พอเข้าสู่ศตวรรษที่ 3 ดูปองต์หันกลับมาเน้นลงทุนด้านการเกษตรไปจนถึงอาหาร 
 
บวกกับแนวโน้มประชากรโลกที่จะเพิ่มขึ้นจาก 7 พันล้านคน เป็น 9 พันล้านคนในไม่ถึง 40 ปีข้างหน้า ธนินท์เชื่อว่า นี่จะส่งผลให้เกิดการบริโภคอาหารที่เพิ่มขึ้น ควบคู่กับการเกิดภาวะขาดแคลนอาหารและวัตถุดิบในอนาคต
 
“ซีพี เข้าไปลงทุนและขายสินค้าในจีน อินเดีย และอาเซียน ซึ่งมีประชากรเกือบ 3 พันล้านคน ขณะเดียวกันเราก็ยังขายสินค้าไปในอเมริกา กลุ่มยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ฯลฯ หมายความว่า เราขายอาหารให้คนเกือบครึ่งโลก” 
 
จากธุรกิจอาหารสัตว์ในไทยเมื่อ 60 ปีที่ซีพีพัฒนาเข้าสู่อุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ครบวงจร ต่อเนื่องถึงการผลิตอาหารสำเร็จรูป ณ วันนี้ ธุรกิจอาหารสัตว์ของเครือซีพีได้ขยายตัวไปในหลายประเทศ โดยมียอดขายเกือบ 30 ล้านตันต่อปี ถือเป็นอันดับ 1 ของโลกในขณะนี้
 
“ด้วยวิสัยทัศน์ของประธานธนินท์ที่จะเป็น “ครัวของโลก” ทำให้เครือซีพีต้องขยายธุรกิจให้ครบวงจร คือ Feed-Farm-Food หมายถึงเริ่มตั้งแต่ธุรกิจอาหารสัตว์ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ แปรรูปเนื้อสัตว์ และอาหารสำเร็จรูป ตลอดจนเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีก เพื่อควบคุมการผลิตและคุณภาพ ตรวจสอบย้อนหลัง เป็นช่องทางการขาย และลดต้นทุนให้แข่งขันในตลาดโลกได้” อดิเรก ศรีประทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่แห่ง CPF กล่าว
 
ปัจจุบันธุรกิจอาหารของ CPF มีการขยายการลงทุนไปใน 25 ประเทศ และบริการอาหารแก่ผู้บริโภคกว่า 100 ประเทศทั่วโลก สร้างยอดขายให้บริษัทราว 3.5 แสนล้านบาท ทั้งนี้ อดิเรกตั้งเป้าว่า ภายใน 5 ปี จะดันยอดขายของ CPF ให้ไปถึง 7 แสนล้านบาท หรือเป็น 2 เท่าของปัจจุบัน
 
อย่างไรก็ดี ธนินท์ยอมรับว่า ปัจจุบันธุรกิจอาหารของเครือซีพียังไม่ครบวงจรนัก เพราะซีพียังไม่มีโรงชำแหละสุกรเป็นของตัวเอง เนื่องจากคุณแม่ไม่อยากให้ฆ่าหมู แต่วันนี้ ถึงเวลาที่ซีพีจำเป็นต้องมีโรงฆ่าหมูเป็นของตัวเอง ขณะที่ธุรกิจอาหารมนุษย์ของเครือซีพี ก็ยังมีจุดอ่อนสำคัญคือ การขาดผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาอาหารมนุษย์ โดยเฉพาะตลาดอาหารเพื่อสุขภาพ และอาหารสำหรับผู้สูงอายุ

“จากยุคอิเล็กทรอนิกส์ สู่ไบโอเทคโนโลยี”

“ต้องขอบคุณท่านประธานจรัญ ที่ส่งผมไปดูงานที่ต่างประเทศ ทำให้ได้เห็นเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้เห็นว่าโลกทำอะไรอยู่ ถ้าผมไม่ได้ไปตรงนั้น (เครือซีพี) ก็อาจจะไม่ได้มาถึงวันนี้” ธนินท์เกริ่นพร้อมกับระบุว่า ความสำเร็จของเครือซีพีอยู่ที่การใช้เทคโนโลยีมาตลอด 
 
ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าที่ซีพีนำมาใช้ทำให้ธุรกิจการเกษตรของเมืองไทยเปลี่ยนเป็นระบบเกษตรอุตสาหกรรม และทำให้ซีพีสามารถขยายเข้าสู่ธุรกิจและอุตสาหกรรมอาหารมาจนวันนี้ 
 
ธนินท์ประกาศว่า ณ วันนี้ ธุรกิจการเกษตรในทั่วโลกกำลังเปลี่ยนจากยุคเทคโนโลยีระบบอิเล็กทรอนิกส์ เข้าสู่ยุค “ไบโอเทคโนโลยี” อย่างจริงจัง โดยมองว่าไบโอเทคโนโลยีจะเป็นอนาคตที่ยิ่งใหญ่ ที่จะช่วยทำให้คำว่า “ขาดอาหาร” หมดไป พร้อมกับช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มมหาศาลและสร้างรายได้ให้ธุรกิจได้อีกมาก
  
เจ้าสัวซีพียกตัวอย่างข้าวโพด โดยระบุว่า เมื่อผ่านไบโอเทคโนโลยีขั้นสูง ต้นข้าวโพดต้นเดียวจะสร้างมูลค่าได้เป็นล้านบาท แทนที่จะเอารถไปไถกลับเพื่อเป็นปุ๋ย 
 
“ตอนนี้ผมกำลังติดตามการวิจัยเรื่องข้าวโพดอย่างใกล้ชิด เพราะต้นข้าวโพดสามารถเอาไปทำได้ตั้งหลายอย่าง เช่น เอาเส้นใยไปทอเป็นพรมที่ย่อยสลายได้ เอาไปทำเสื้อกันกระสุน หรือจะเอาไปหมักเป็นเอทานอลสกัดเป็นน้ำมัน แล้วน้ำมันที่ได้จะเอาไปทานหรือเอาไปสกัดทำเป็นเครื่องสำอางราคาแพงได้ ส่วนเมล็ดข้าวโพดก็สกัดโปรตีน หรือสกัดทำแป้ง แล้วเอาแป้งไปหมักทำน้ำตาลที่ดีที่สุด นี่คือเกษตรยุคใหม่”
 
ทั้งนี้ ซีพียังมีความพยายามที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มจากต้นปาล์ม โดยนอกจากจะใช้ผลิตน้ำมันปาล์ม ตัวเมล็ดยังสามารถสกัดไปทำเครื่องสำอางชั้นดีได้ด้วย นอกจากนี้ ธนินท์ยังสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกพืชเศรษฐกิจอย่างยางพาราและอ้อย ขณะที่ทุเรียนซึ่งเป็นผลไม้ที่คนจีนชอบทาน และมะพร้าวซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญของหลายเมนูอาหารไทย ซีพีกำลังทำการศึกษาอยู่
 
ควบคู่กับประโยคที่ว่า พืชอาหาร หรือ “น้ำมันบนดิน” จะมีมูลค่าเพิ่มมากกว่าและมีความสำคัญกว่า “น้ำมันใต้ดิน” ธนินท์มักย้ำด้วยว่า น้ำมันบนดินจะปลูกแล้วปลูกอีกได้ก็ด้วยเทคโนโลยี

“E-commerce จะเป็นธุรกิจที่ยิ่งใหญ่มาก”

“ต่อไปโลกนี้จะค้าขายในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ธุรกิจ E-commerce มากถึง 70-80% ของมูลค่าการค้าทั้งหมด หมายความว่าธุรกิจนี้จะยิ่งใหญ่มากในอนาคต ซึ่งก็หมายถึงโอกาสในการเติบโตของธุรกิจค้าปลีกยังมีอีกมาก”
 
กลุ่มซีพีเริ่มเข้าสู่ธุรกิจค้าปลีกเมื่อ 25 ปีก่อน ปัจจุบันกลุ่มซีพีมีรูปแบบร้านค้าที่หลากหลาย โดยโครงสร้างการจัดแบ่งร้านค้าปลีกในเครือ CPF แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มร้านอาหาร เช่น เชสเตอร์กริลล์ ธุรกิจห้าดาว ร้านอาหารจานด่วน “ซีพีคิทเช่น” เป็นต้น และกลุ่มค้าปลีกอาหาร ได้แก่ “ซีพีเฟรชมาร์ท” หรือ “ตู้เย็นชุมชน”  “ซีพีฟู้ดมาร์เก็ต” และ “ซีพีฟู้ดเวิลด์” อีกทั้งยังมี ร้านสะดวกซื้อ 7-11 ของกลุ่ม CP All และแม็คโคร ซึ่งถูกวางให้เป็นผู้ขายสินค้าอาหารป้อนภัตตาคาร รองรับทั้งขนาดกลางและขนาดใหญ่
 
“การขายอาหารสดหรืออาหารแช่แข็งแบบส่งถึงบ้าน (delivery) ยังมีน้อย นี่เป็นโอกาสที่รอให้เครือซีพีเข้าไปทำ ไม่ใช่แค่ในเมืองไทย เพราะในตลาดระดับโลกก็ยังขาดแคลน” 
 
ปัจจุบันบริษัทในเครือซีพีที่วางรากฐานและมุ่งหน้าไปสู่การรองรับธุรกิจ E-commerce อย่างเต็มตัวที่สุดก็คือ กลุ่มทรู โดยสินค้าที่ชัดเจนที่สุดคือ “ทรูมันนี่” และเว็บไซต์ Weloveshopping โดยกลุ่มทรูยังมีหน้าที่สำคัญคือเป็นผู้เชื่อมโยงธุรกิจ E-commerce และ Mobile-commerce ให้กับทั้งเครือซีพี
 
นอกจากนี้ ก็มีกลุ่ม CP All ที่กำลังรุกสู่พรมแดนการค้าออนไลน์อย่างจริงจัง โดยได้สร้างช่องทางขายออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ Shopat7.com ซึ่งมีบริการขายสินค้าไปในตลาดต่างประเทศด้วย 
 
“จะเป็นครัวโลก ต้องมีเครือข่ายการขายต่างแดน”

ธนินท์ได้พูดถึงทิศทางการลงทุนของกลุ่มซีพีในต่างประเทศที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ โดยระบุว่า ช่วง 3-5 ปีข้างหน้า เครือซีพีจะมีการลงทุนตั้งโรงงานผลิตอาหารป้อนชาวเอเชียในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุนรวมกันไม่เกิน 3 พันล้านบาท โดยประเทศแรกที่มองไว้คือ เบลเยียม เนื่องจากเป็นศูนย์กลางของกลุ่ม EU และซีพีได้พันธมิตรท้องถิ่นที่จะร่วมทุนแล้ว ขณะที่อังกฤษจะเป็นประเทศที่สอง ซึ่งจะลงทุนเอง 100% ตามด้วยอเมริกา
 
นอกจากนี้ ซีพียังมองลู่ทางซื้อธุรกิจค้าปลีกในประเทศเหล่านั้น เพื่อใช้เป็นช่องทางในการกระจายสินค้า โดยจะเลือกซื้อกิจการหรือซื้อหุ้นของบริษัทค้าปลีกขนาดใหญ่ของประเทศนั้น เพื่อให้สินค้ากระจายเต็มตลาดได้ทันที ซึ่งก่อนนี้ซีพีเพิ่งพลาดดีล “พาร์ค แอนด์ ช็อป” ห้างที่ใหญ่ที่สุดในฮ่องกง และดีล “คาร์ฟูร์” ห้างค้าปลีกใหญ่อันดับ 2 ของโลก 
 
“เราซื้อธุรกิจค้าปลีก ไม่ใช่เพื่อทำธุรกิจนั้นให้เจริญ แต่เราซื้อเพื่อใช้เป็นเครือข่ายจำหน่ายสินค้าเราเข้าสู่ประเทศนั้น เพราะถ้าจะเป็นครัวของโลก แต่ไม่มีเครือข่ายช่องทางขายก็ยากที่จะโต เพราะเราต้องไปขอวางสินค้าตามร้านพวกนี้ซึ่งจะช้ามาก หรือจะสร้างเองก็ช้าเกินไป แต่ถ้าเราเป็นเจ้าของห้างเอง เราก็ระบายสินค้าได้อย่างรวดเร็วและทันที”
 
ธนินท์ระบุว่า  การลงทุนในต่างประเทศในระยะแรกจะเป็นในนามของ “เครือซีพี” ก่อน แต่หากที่ไหนประสบความสำเร็จ ก็จะให้ CPF เข้าไปลงทุนต่อ ทั้งนี้ เพื่อทำให้หุ้น CPF มีมูลค่าเพิ่มขึ้น
 
แม้ธนินท์จะเคยพูดว่า “ตลาดทั่วโลกเป็นตลาดของซีพี” แต่ก็ยอมรับว่า การทำธุรกิจในตลาดต่างประเทศ ณ วันนี้ ไม่ง่าย และไม่อาจค่อยเป็นค่อยไปได้อีกต่อไป โดยธนินท์ทิ้งท้ายว่า “วันนี้ ผมก็อายุมากแล้ว แต่ก่อนอาจจะใช้เวลามองการลงทุน “อะไร” ล่วงหน้าเป็น 20 ปี แต่เดี๋ยวนี้แค่ 3 ปีก็พอ”
 
เป็นวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลโดยธนินท์ ที่สรุปได้สั้น กระชับ และน่าจับตามองอย่างยิ่ง