“From soya milk to single malt”
วลีข้างต้นคงไม่ใช่เพียงถ้อยความที่เลื่อนลอยขาดนัยความหมาย หากในความเป็นจริงนี่คือเป้าหมายสำคัญของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ในการขยายอาณาจักรธุรกิจเครื่องดื่มครบวงจรที่กำลังรุกไล่ตีกินทุกตลาดอย่างไร้ขอบเขตและทุกตลาดทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มอาเซียนที่เตรียมพลิกโฉมครั้งใหญ่ในปี 2558 กำลังซื้อและเม็ดเงินจำนวนมหาศาล ภายใต้ยุทธศาสตร์ ใหม่ “C-ASEAN” ซึ่งกลุ่มไทยเบฟฯ ประกาศจะเป็นศูนย์กลางธุรกิจเครื่องดื่มครบวงจรของอาเซียน
ไม่ใช่แค่นั้น C-ASEAN จะเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนความเป็น “อาเซียน” ทั้งศิลปะ วัฒนธรรม กีฬา และการศึกษาในลักษณะเดียวกับองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ซึ่งแท้จริงก็คือ เครื่องมือและกลยุทธ์การตลาดที่สำคัญ การสร้างแบรนด์ การขยายเครือข่ายสินค้าและการสร้างความสัมพันธ์เพื่อนำไปสู่การขยายความร่วมมือทางธุรกิจ เนื่องจากศิลปะ วัฒนธรรม กีฬา และการศึกษา สามารถทำให้ทุกอย่างเป็นไปได้ง่ายขึ้น โดยเริ่มสร้างกลยุทธ์อย่างจริงจังตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาผ่านกิจกรรมแรก การเป็นผู้สนับสนุนจัดคอนเสิร์ตออร์เคสตรา “มนต์เวียงจันทน์” ที่ประเทศลาวเมื่อเดือนมีนาคม 2556
การแสดงในครั้งนั้นมี “ท่านบัวเงิน ชาพูวง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแถลงข่าวและวัฒนธรรม ของประเทศลาว มาขับร้องเพลงร่วมกับวงของไทย มีนักธุรกิจไทย นักธุรกิจลาว สื่อมวลชนไทย สื่อมวลชนลาว ทูตานุทูต เซเลบริตี้ลาว นักเรียนนักศึกษาด้านการดนตรีจากลาวและประชาชนลาวเข้าร่วมรับฟังอย่างคับคั่ง
ทั้งนี้ ไทยเบฟฯ วางแผนเดินสายจัดคอนเสิร์ตระหว่างประเทศทั่วอาเซียน โดยเตรียมเปิดการแสดงที่ประเทศสิงคโปร์ เวียดนาม และทยอยจัดจนครบทั้ง 10 ประเทศ
วิเชฐ ตันติวานิช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า โครงการ C-ASEAN เป็นส่วนหนึ่งที่ใช้งบลงทุนก้อนใหญ่ตามโมเดลธุรกิจใหม่ “A380 Model” ซึ่งเปรียบอาณาจักรธุรกิจไทยเบฟฯ เหมือนเครื่องบิน A380 ทั้งลำที่ประกอบด้วยการทำงานของส่วนต่างๆ ทุกส่วนมีหน้าที่และสอดประสานกัน เพื่อบินไปข้างหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืน
เริ่มจาก “หัว” ( Growth /Coverage) เป้าหมายธุรกิจของไทยเบฟฯ ซึ่งต้องการเป็นผู้ดำเนินธุรกิจเครื่องดื่มครบวงจร เป็นธุรกิจชั้นนำระดับโลก และมีมูลค่าการลงทุนที่ดียั่งยืน
ส่วน “หาง” ตัวบังคับทิศทางของเครื่องบิน ซึ่งไทยเบฟฯ ประกาศจุดยืนทางธุรกิจ การภูมิใจในความเป็นไทย ความเป็นคนไทยที่สามารถทำได้ทุกอย่าง (Admire/Preserve) ซึ่งสะท้อนผ่านทั้งกีฬา ดนตรี ศิลปะ วัฒนธรรม และการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ
“ปีกซ้าย” (Promote/Support) กลยุทธ์การตลาด การขยายกลุ่มลูกค้าและการสร้างแบรนด์ ผ่านกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่ใช้งบประมาณจำนวนมาก การเป็นสปอนเซอร์ทีมฟุตบอลทั้งในและต่างประเทศ ทีมนักกีฬาวอลเลย์บอล เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าจากฐานแฟนคลับหลายล้านคน รวมถึงวงดนตรีชื่อดัง และที่กำลังจะเปิดยุทธศาสตร์ใหม่ก็คือ C-ASEAN ศูนย์รวมธุรกิจ ศิลปวัฒนธรรม กีฬา และดนตรีของคนอาเซียน 600 ล้านคน
สุดท้าย คือปีกขวา (Treat/share) การช่วยเหลือและแบ่งปันสังคม ซึ่งถือเป็นการสร้างภาพลักษณ์ให้กับองค์กรธุรกิจ เช่น โครงการ “ช้าง” ช่วย “ช้าง” ซึ่งสื่อถึงแบรนด์และการช่วยเหลือ “ช้าง” สัตว์คู่บ้านคู่เมืองของไทยมาอย่างยาวนาน
วิเชฐกล่าวว่า ภายใต้โมเดล A380 ที่มีบริษัทในเครือ คือ อินเตอร์เบฟ โออิชิ เสริมสุข และล่าสุด “เอฟแอนด์เอ็น” ที่มีสินค้าอยู่ในพอร์ตอีกจำนวนมากและอยู่ระหว่างการเจรจาจัดกลุ่มสินค้าให้ลงตัว โดยเน้นโอกาสทางการตลาดและไม่แย่งชิงส่วนแบ่งกันเอง
อย่างน้ำอัดลม ซึ่งบริษัท เสริมสุข จำกัด (มหาชน) เปิดตัวเครื่องดื่มน้ำอัดลม “เอสโคล่า” ขณะที่เอฟแอนด์เอ็นมีเครื่องดื่ม “มายด์โคล่า” ทำตลาดอาเซียนอยู่ รวมถึงระบบการกระจายสินค้าที่แตกต่างกัน การเจรจาสินค้าที่มีจำนวนมากจึงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง
ที่ผ่านมา การบุกตลาดอาเซียนของไทยเบฟฯ นอกจากการส่งผ่านเครือข่ายตัวแทนจำหน่ายในท้องถิ่น เช่น ประเทศลาวผ่านกลุ่มพงสะหวัน ซึ่งถือเป็นกลุ่มที่มีเครือข่ายทั่วประเทศลาว ส่งต่อสินค้าเครื่องดื่มหลายแบรนด์ในเครือ ไม่ว่าจะเป็นแรงเยอร์ โซดาช้าง และชาเขียวโออิชิ
ความร่วมมือที่เห็นชัดเจนหลังจากการซื้อกิจการ “เฟรเซอร์แอนด์นีฟ” หรือ “เอฟแอนด์เอ็น” ก็คือ การลงนามสัญญาแต่งตั้งผู้จัดจำหน่ายสินค้าระหว่าง “โออิชิ กรุ๊ป” กับ “เอฟแอนด์เอ็น เบเวอเรจเจส” ในเครือบริษัท เฟรเซอร์ แอนด์ นีฟ โฮลดิ้งส์ เบอร์ฮาด ประเทศมาเลเซีย ถือเป็นจุดเริ่มต้นแรกในการผนึกกำลังกันของสองยักษ์ใหญ่หลังจากกลุ่มไทยเบฟเวอเรจทุ่มทุนกว่า 3 แสนล้านบาทฮุบหุ้นเอฟแอนด์เอ็น โดยแบ่งปฏิบัติการให้ “เอฟแอนด์เอ็น” เร่งบุกตลาดอาเซียนและเอเชีย
ส่วน บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เบฟเวอเรจ โฮลดิ้งส์ ลิมิเต็ด หรือ “อินเตอร์เบฟ” ซึ่งเดิมรับผิดชอบขยายตลาดต่างประเทศทั่วโลกกว่า 80 ประเทศ มีสำนักงานใหญ่ที่เกาะฮ่องกง และมีสาขาอยู่ในสิงคโปร์ กัมพูชา มาเลเซีย อังกฤษ สหรัฐอเมริกา และจีน โดยต่อไปอินเตอร์เบฟจะเน้นรุกตลาดนอกเอเชีย อย่างยุโรป สหรัฐอเมริกา และแถบเอเชียเหนือ หรือรัสเซีย
“โออิชิ” จึงเป็นสินค้านำร่องตัวแรกที่จะทดสอบศักยภาพของเอฟแอนด์เอ็น โดยเริ่มปักหมุดแรกในประเทศมาเลเซีย ซึ่งเอฟแอนด์เอ็นมีเครือข่ายการจำหน่ายที่แข็งแกร่ง เพื่อสร้างแบรนด์ก่อนขยายเข้าสู่บรูไน สิงคโปร์ และประเทศอื่นๆในอาเซียน ผ่านเครือข่ายอย่างเป็นระบบ จากเดิมผ่านเอเย่นต์ต่างๆ เช่น ในพม่า ลาว เขมร เพื่อผลักดันโออิชิเป็น “เบอร์ 1” ในตลาดชาเขียวภายในปี 2560 และก้าวขึ้นเป็นผู้นำเครื่องดื่มระดับภูมิภาค
หากดูโครงสร้างรายได้ของไทยเบฟมาจากกลุ่มแอลกอฮอล์ ประมาณ 70% และอีก 30% มาจากธุรกิจนอนแอลกอฮอล์ โดยแยกตามบริษัทในเครือ รายได้หลักมากกว่า 130,000-160,000 ล้านบาท มาจากบริษัท ไทยเบฟฯ หรือกลุ่มแอลกอฮอล์ ตามด้วยโออิชิกรุ๊ป เสริมสุข และเอฟแอนด์เอ็น ซึ่งตามแผนจะผลักดันรายได้จากธุรกิจนอนแอลกอฮอล์เป็น 35% ในปี 2558 โดยมีสินค้าอาหารและเครื่องดื่มจากกลุ่มเอฟแอนด์เอ็น ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่ในอาเซียนเข้ามาเป็นตัวเติมเต็มความครบวงจร
ไล่ตั้งแต่เครื่องดื่มประเภทนม นมถั่วเหลือง ครีมเทียม เครื่องดื่มให้พลังงาน น้ำแร่ ชาพร้อมดื่มประเภทชาดำ และเครื่องดื่มน้ำอัดลม
ในปี 2555 กลุ่มไทยเบฟฯ มีรายได้ประมาณ 160,000 ล้านบาท ยังไม่นับรวมยอดขายจากการควบรวมกิจการเอฟแอนด์เอ็น ซึ่งจะไปรวมบัญชีรายได้ในปี 2557 และทำให้รายได้รวมของกลุ่มไทยเบฟเวอเรจเพิ่มขึ้นอีกกว่า 1.1 แสนล้านบาท
ประเด็นสำคัญ ณ ปัจจุบัน รายได้ทั้งหมดของเครือมาจากตลาดต่างประเทศเพียง 10% และยังเป็นสินค้าส่วนใหญ่ในกลุ่มแอลกอฮอล์ การขยายรายได้ในกลุ่มนอนแอลกอฮอล์และการขยายสินค้าจากกลุ่มเอฟแอนด์เอ็นในต่างประเทศจะหมายถึงรายได้ก้อนใหม่อีกจำนวนมหาศาล
ขณะเดียวกัน นอกจากยุทธศาสตร์ “C-ASEAN” ไทยเบฟฯ ยังพยายามปลุกปั้นพิพิธภัณฑ์เหล้าไทย หรือ “House of Mekhong” ให้เป็น Visitor Center ดึงกลุ่มคนต่างๆ และนักธุรกิจเข้ามาเห็นศักยภาพการผลิตเหล้าของไทยที่ได้มาตรฐานระดับโลก โดยมีแนวคิดลงทุนต่อเนื่อง เพื่อขยายเป็นแลนด์มาร์คประเทศไทย เหมือน “วิสกี้” ที่ประเทศสกอตแลนด์ จะมีสถานที่ที่เรียกว่า “Whisky Experience” จัดอยู่ในโปรแกรมท่องเที่ยว เพื่อให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเรียนรู้ประวัติศาสตร์ความเป็นมาและเยี่ยมชมกระบวนการผลิตวิสกี้อย่างครบวงจร
สำหรับ House of Mekhong ตั้งอยู่ที่โรงงานสุราบางยี่ขัน 2 อ. บางคูวัด จ. ปทุมธานี ซึ่งเป็นโรงงานผลิตสุราแม่โขงในปัจจุบัน แบ่งพื้นที่เป็น 6 โซน ได้แก่ โซน A เปิดคำถามสุราไทย ด้วยคำถามชวนสงสัยให้หาคำตอบสั้นๆ จากฉลากแม่โขง โซน B ภูมิปัญญาตำรับไทย นำเสนอความเป็นมาของสุราฉบับไทยๆ พร้อมจัดแสดงภาพยนตร์ไทยยุคต่างๆ ที่มีสุราแม่โขงปรากฏอยู่ผ่านจอโทรทัศน์ 16 จอ 8 เรื่อง ซึ่งควบคุมด้วยระบบเซ็นเซอร์ในการเปิดและปิดเสียง
โซน C ตำนานบางยี่ขัน จัดแสดงอุปกรณ์เครื่องจักรโบราณ ภาพถ่ายเก่าแก่ที่หายากซึ่งบันทึกประวัติศาสตร์ความเป็นมาของโรงงาน จุดเริ่มของอาณาจักรธุรกิจเหล้าของ “เจริญ สิริวัฒนภักดี” และกระบวนการผลิตสุราแม่โขงผ่าน Mapping Technique บนโมเดลในรูปแบบ 3 มิติ
โซน D โฆษณาสุราไทย วิวัฒนาการของสุราแม่โขงผ่านงานโฆษณา โซน E สูตรลับศาสตร์แห่งตำนาน ประวัติและบทสัมภาษณ์สุดยอด “ผู้ปรุงสุราแม่โขง” ตั้งแต่ยุค ประเสริฐ เทพหัสดิน ณ อยุธยา จุล กาญจนลักษณ์ จนกระทั่งถึงเดชพงศ์ กาญจนลักษณ์ ทายาทคนเดียวของจุล กาญจนลักษณ์ และถือเป็นผู้กุมสูตรลับ “แม่โขง” เพียงคนเดียว
โซน F เริ่มตำนานบทใหม่แม่โขงไทยสู่สากล ค็อกเทลสูตรพิเศษของสุราแม่โขง ซึ่งจะปิดท้ายที่แม่โขงบาร์ที่มีการชงเหล้าและให้ผู้เยี่ยมชม “ชิม” ค็อกเทลตัวบุกตลาด “Thai Sabai” ที่ถือเป็น Signature Drink ของแม่โขง
ทั้ง House of Mekhong และ C-ASEAN จึงเป็นกลยุทธ์ใหม่ในการเชื่อมต่อทางธุรกิจ ซึ่งตามแผน C-ASEAN จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการประมาณต้นปี 2557 โดยมีศูนย์บัญชาการที่อาคารไซเบอร์เวิลด์ ทาวเวอร์ ริมถนนรัชดาภิเษก ย่านธุรกิจทำเลทองที่เติบโตอย่างรวดเร็วและเป็นจุดรวมธุรกิจยักษ์ใหญ่
ถือเป็นจุดเทคออฟครั้งใหม่ที่จะพิสูจน์ว่าเที่ยวบิน “ไทยเบฟ” จะบุกไปไกลตามเป้าหมายได้จริงหรือไม่